xs
xsm
sm
md
lg

ศูนย์วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ปตท.สผ.ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม ยกระดับศักยภาพการแข่งขันของไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


อาคารทดสอบต้นแบบ ศูนย์วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ปตท.สผ.
ในยุคของอุตสาหกรรม 4.0 ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ความสามารถในการสร้างสรรค์เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรม นับเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยผลักดันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ แต่การจะนำพางานวิจัยจากจุดเริ่มต้นไปสู่ปลายทางของการสร้างมูลค่าในเชิงพาณิชย์ได้นั้น ต้องอาศัยทั้งทรัพยากร ความรู้ ความเข้าใจในความต้องการของภาคอุตสาหกรรม รวมไปถึงสถานที่และอุปกรณ์ที่ทันสมัย ที่พร้อมรองรับและอำนวยความสะดวกในการพัฒนาและต่อยอดงานวิจัย ให้สามารถตอบโจทย์การใช้งานได้อย่างแท้จริง

เพื่อสร้างศักยภาพดังกล่าว บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. จึงได้จัดตั้งศูนย์วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ปตท.สผ. หรือ PTIC (PTTEP Technology and Innovation Center) ขึ้นบนพื้นที่กว่า 44 ไร่ ในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of Innovation - EECi) ณ วังจันทร์วัลเลย์ จ. ระยอง เพื่อเป็นสถานที่สำหรับการพัฒนางานวิจัยและเทคโนโลยีสู่การนำไปใช้งานจริงในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศไทย

PTIC จะมีบทบาทสำคัญในการผลักดันงานวิจัยและเทคโนโลยีที่ ปตท.สผ.ได้คิดค้นและพัฒนาร่วมกับพันธมิตร ทั้งเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสำรวจ พัฒนา และผลิตปิโตรเลียม เทคโนโลยีในการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และนำไปใช้ประโยชน์ (Carbon Capture and Utilization - CCU) เช่น การนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปพัฒนาเป็นท่อนาโนคาร์บอน (Carbon Nanotubes) สำหรับใช้เป็นส่วนประกอบของแบตเตอรี่ เซ็นเซอร์ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ รวมไปถึงโครงการวิจัยพัฒนาของเสียให้กลายเป็นวัสดุที่มีค่า เช่น การนำเศษดินและหินเหลือทิ้งจากกระบวนการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม มาพัฒนาเป็นวัสดุสำหรับปูพื้นถนนและทางเดิน (Drill Cutting Utilization for Road Pavement and Drill Cuttings Pavement) ซึ่งปัจจุบันได้มีการนำไปใช้งานจริงแล้วในพื้นที่ของ ปตท.สผ. เหล่านี้นอกจากจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ยังช่วยลดของเสียเหลือทิ้งโดยเปลี่ยนให้เป็นวัสดุที่สร้างมูลค่า และมีประโยชน์ในการใช้งานอีกด้วย

แบบจำลองท่อนาโนคาร์บอนแบบผนังหลายชั้น (Multi-Walled Carbon Nanotube)

การนำเศษดินและหินเหลือทิ้งจากกระบวนการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมมาพัฒนาเป็นวัสดุสำหรับปูพื้นถนนและทางเดิน
ปตท.สผ.ไม่เพียงแต่สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม แต่ยังมุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีที่จะเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการดำเนินงานของธุรกิจอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ ที่มี บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด (เออาร์วี) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาและสร้างผลงานที่สามารถนำมาใช้งานได้จริง ทั้งหุ่นยนต์สำหรับการตรวจสอบและซ่อมแซมอุปกรณ์และสิ่งติดตั้งใต้ทะเล โดรนและแอปพลิเคชันสำหรับตรวจสอบอุปกรณ์ในที่สูง และโดรนเกษตรอัจฉริยะ ตลอดจนเทคโนโลยีด้านการแพทย์ นอกจากนี้ PTIC ยังรองรับการพัฒนาเทคโนโลยีแห่งอนาคต เช่น เทคโนโลยีอุปกรณ์และเมืองอัจฉริยะ เทคโนโลยีพลังงานทางเลือก โดยอาคารและพื้นที่ของ PTIC จะเป็นสนามทดลองเทคโนโลยีนวัตกรรมพลังงานสะอาด (Green Innovation Playground) ซึ่งจะมีการนำพลังงานจากหลังคาโซลาร์เซลล์ (Solar Roof) มาหมุนเวียนใช้ การดำเนินโครงการการผลิตแบตเตอรี่จากพลังงานแสงอาทิตย์ การพัฒนาหอกรองอากาศที่เดินเครื่องด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Air Purifier Tower) และถนนอัจฉริยะ (Solar Road) ซึ่งจะสามารถสร้างพลังงานไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งบนผิวถนน เป็นต้น

หุ่นยนต์สุนัขสำหรับสำรวจและตรวจสอบ

หุ่นยนต์ปฏิบัติการบนแท่นขุดเจาะปิโตรเลียมนอกชายฝั่ง
นอกจากการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมแล้ว PTIC ยังมีอีกหนึ่งบทบาทสำคัญในการพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีของประเทศ โดยเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความรู้ของนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญ และสร้างเครือข่ายการวิจัยในระดับสากล ที่จะช่วยต่อยอดและผลักดันการพัฒนาเทคโนโลยีให้มีความต่อเนื่อง

ภายใน PTIC จะประกอบไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกและอุปกรณ์ที่ทันสมัย เพื่อให้นักวิจัยสามารถประเมินประสิทธิภาพ ปรับปรุงแก้ไขผลงาน ขยายผลจากระดับห้องปฏิบัติการ ไปสู่การสร้างและทดสอบต้นแบบ ก่อนนำไปใช้งานจริง เช่น อาคารทดสอบต้นแบบ (Pilot Area Building) สนามทดสอบอากาศยานไร้คนขับ (UAV Test Field) ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (Exploration and Production Research Facility) ศูนย์ฝึกอบรม ตลอดจนพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการ ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีอุปกรณ์และเมืองอัจฉริยะ (Smart Facility/City Technology Research Facility) ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีทางการแพทย์ (Medical Technology Research Facility) ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีพลังงานทางเลือก (Future Energy Technology Research Center) และศูนย์ความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม ที่พร้อมสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาร่วมกับหน่วยงานในระบบนิเวศนวัตกรรม EECi เช่น เออาร์วี ปตท. สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) รวมทั้งองค์กรภาครัฐ เอกชน เอสเอ็มอี และสตาร์ทอัพ และส่งเสริมให้พันธมิตรสามารถใช้ประโยชน์จาก PTIC เพื่อร่วมผลักดันนวัตกรรมแห่งอนาคตไปด้วยกัน

สนามทดสอบอากาศยานไร้คนขับ
ปัจจุบัน PTIC อยู่ระหว่างการก่อสร้างและพัฒนาในระยะที่ 2 จากทั้งหมด 3 ระยะ โดยเป็นการสร้างสนามทดสอบ และโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับการขยายผลงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีจากระดับห้องปฏิบัติการ ไปสู่การสร้างและทดสอบต้นแบบ ให้สามารถนำไปใช้ในสภาพแวดล้อมจริงได้ต่อไป

PTIC เป็นทั้งสนามทดสอบงานวิจัยที่สร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรม และเป็นสถานที่ที่พัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีซึ่งคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมทั้งในปัจจุบันและอนาคต เพื่อยกระดับศักยภาพทางการแข่งขันและความแข็งแกร่งให้ประเทศไทยที่จะก้าวไปด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ในยุคอุตสาหกรรม 4.0


กำลังโหลดความคิดเห็น