เชฟรอนจับมือ ปตท.สผ.ลงนามข้อตกลงความร่วมมือในช่วงเปลี่ยนผ่านของแหล่งก๊าซฯ กลุ่มเอราวัณแล้ว โดยเซ็นข้อตกลง 3 ฉบับในการเข้าพื้นที่ระยะที่ 2 ข้อตกลงการโอนถ่ายการดำเนินงาน และข้อตกลงการเข้าพื้นที่ของผู้รับสัมปทานเพื่อดำเนินกิจกรรมการรื้อถอนกับ ปตท.สผ.หลังการเจรจายืดเยื้อมานาน
นายชาทิตย์ ห้วยหงษ์ทอง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด (เชฟรอนประเทศไทย) และ นายนิรันดร โรจนสมสิทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานวิศวกรรมศาสตร์และการพัฒนา บริษัท ปตท.สผ.เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (PTTEP ED) ร่วมลงนามในข้อตกลงการเข้าพื้นที่ระยะที่ 2 ข้อตกลงการโอนถ่ายการดำเนินงาน และข้อตกลงการเข้าพื้นที่ของผู้รับสัมปทานเพื่อดำเนินกิจกรรมการรื้อถอน อันจะช่วยส่งเสริมความร่วมมือของทั้งสองฝ่ายในกระบวนการทำงานเพื่อส่งมอบการปฏิบัติงานของแหล่งเอราวัณให้กับ PTTEP ED อย่างปลอดภัยในเดือนเมษายน พ.ศ. 2565 โดยมีนายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PTTEP ED นายอลัน พิตต์ส ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายพัฒนาแหล่งผลิต เชฟรอนประเทศไทย นางวาสนา ศิริวัลลภ ผู้จัดการฝ่ายกฎหมาย เชฟรอนประเทศไทย และนางสาวคณิตา ศาศวัตายุ รักษาการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานวิศวกรรมศาสตร์และการพัฒนา PTTEP ED ร่วมในพิธี
บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด (เชฟรอนประเทศไทย) และ บริษัท ปตท.สผ.เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (PTTEP ED) จัดพิธีลงนามข้อตกลงการเข้าพื้นที่ระยะที่ 2 (Site Access Agreement 2 หรือ SAA2) ข้อตกลงการโอนถ่ายการดำเนินงาน (Operations Transfer Agreement : OTA) และข้อตกลงการเข้าพื้นที่ของผู้รับสัมปทานเพื่อดำเนินกิจกรรมการรื้อถอน (Asset Retirement Access Agreement หรือ ARAA) ซึ่งจะช่วยส่งเสริมความร่วมมือ และการดำเนินงานของทั้งสองบริษัทฯ ที่เกี่ยวข้องกับแหล่งปิโตรเลียมเอราวัณ ที่เชฟรอนประเทศไทยจะส่งมอบให้ PTTEP ED ซึ่งเป็นผู้ดำเนินงานรายใหม่ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2565
ข้อตกลงทั้ง 3 ฉบับถือเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญในความร่วมมือของเชฟรอนประเทศไทยและ PTTEP ED ที่จะช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของทั้งสองฝ่าย รวมถึงการเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณของ PTTEP ED ก่อนสิ้นสุดสัญญาสัมปทานเพื่อเตรียมการ ประสานความร่วมมือระหว่างทั้งสองบริษัทในกระบวนการทำงานเพื่อส่งมอบการปฏิบัติงานของแหล่งเอราวัณ อันจะช่วยส่งเสริมการเตรียมการของ PTTEP ED เพื่อเป็นผู้ดำเนินงานของแหล่งเอราวัณในเดือนเมษายน ปี 2565 ตลอดจนสนับสนุนให้เชฟรอนประเทศไทยสามารถกลับเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณภายหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานเพื่อดำเนินงานรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียมให้แล้วเสร็จด้วยความปลอดภัยตามข้อตกลงของสัญญาสัมปทานอีกด้วย
นายชาทิตย์ ห้วยหงษ์ทอง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า มีความมุ่งมั่นในการดำเนินงานเพื่อส่งมอบแหล่งเอราวัณอย่างปลอดภัยในเดือนเมษายน พ.ศ. 2565 โดยที่ผ่านมาบุคลากรของเราได้ทำงานร่วมกับ PTTEP ED และกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เพื่อเตรียมการส่งมอบการดำเนินงานของแหล่งเอราวัณจนเกิดความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง สามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกับ PTTEP ED หลายประการ รวมถึงการเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณเพื่อทำงานสำรวจ การตรวจสอบสิ่งติดตั้งและอุปกรณ์ และการเข้าถึงข้อมูลที่สำคัญ ที่จะสนับสนุนการดำเนินงานเปลี่ยนผ่านแหล่งเอราวัณ ซึ่งการลงนามข้อตกลงทั้ง 3 ฉบับในครั้งนี้นับเป็นสิ่งสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของเชฟรอนประเทศไทยและความร่วมมือของทั้ง 3 หน่วยงานตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา
“ถึงแม้ว่าการส่งผ่านแหล่งเอราวัณเป็นกระบวนการที่มีความท้าทายด้วยรายละเอียดต่างๆ ที่ซับซ้อน และในหลายๆ ครั้งเราได้ดำเนินงานนอกเหนือจากภาระผูกพันที่ระบุไว้ในสัญญาสัมปทานเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายการส่งมอบแหล่งเอราวัณให้สำเร็จลุล่วงด้วยความปลอดภัย ทั้งนี้ เชฟรอนประเทศไทยยังคงมุ่งมั่นดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายระยะยาวในการจัดหาพลังงานที่สะอาดอย่างปลอดภัยและเชื่อถือได้ให้แก่ประเทศไทย ควบคู่ไปกับการมองหาโอกาสในการลงทุนใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการพลังงานของประเทศต่อไปในอนาคต”
อย่างไรก็ตาม เชฟรอนประเทศไทยจะไม่มีภาระผูกพันภายใต้เงื่อนไขของสัญญาสัมปทานในการให้ PTTEP ED เข้าพื้นที่ของแหล่งเอราวัณล่วงหน้า อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ได้ให้ความร่วมมือกับ PTTEP ED ในการเข้าพื้นที่ของแหล่งเอราวัณเพื่อดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวกับการสำรวจพื้นที่เพื่อเตรียมการและกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 ภายใต้ข้อตกลงการเข้าพื้นที่ฉบับที่ 1 (Site Access Agreement 1 หรือ SAA1) ซึ่งความร่วมมือของทั้งสองฝ่ายส่งผลให้กิจกรรมต่างๆ ภายใต้ข้อตกลงนี้เป็นไปด้วยความปลอดภัย และคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนมกราคม พ.ศ. 2565
นอกจากนั้น เชฟรอนประเทศไทยยังประสานความร่วมมือกับ PTTEP ED ในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมการเป็นผู้ดำเนินงานแหล่งเอราวัณอย่างต่อเนื่อง เช่น การตรวจสอบสิ่งติดตั้งและอุปกรณ์ การถ่ายโอนข้อมูลและอนุญาตให้ใช้ข้อมูลร่วมกัน รวมถึงการวางแผนต่างๆ เช่น แผนรับมือเหตุฉุกเฉิน แผนกำลังคน แผนทำความคุ้นเคยกับพื้นที่ เป็นต้น ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญต่อการส่งมอบการดำเนินงานของแหล่งเอราวัณอย่างปลอดภัย ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2565