ผู้จัดการรายวัน 360 - เจโทร กรุงเทพฯ เปิดเผย “ผลการสำรวจร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทย ประจำปี 2564” รอบล่าสุด พบว่าร้านอาหารญี่ปุ่นในไทยปี 64 มีจำนวน 4,370 ร้าน เพิ่มขึ้น 6.7% และเป็นครั้งแรกของการสำรวจที่ร้านในต่างจังหวัดเพิ่มขึ้นและแซงหน้าจำนวนร้านในกรุงเทพฯ ขณะที่ผลกระทบของโควิด-19 ทำให้จำนวนร้านปิดกิจการชั่วคราวจาก 70 ร้านในปีที่แล้ว เพิ่มขึ้นเป็น 231 ร้านในปีนี้
เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2564 องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร กรุงเทพฯ) แถลง “ผลการสำรวจร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทย ประจำปี 2564” โดยนายทาเคทานิ อัทสึชิ ประธานเจโทร กรุงเทพฯ กล่าวว่า ในปี 2564 มีร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทยจำนวน 4,370 ร้าน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 6.7% (ปี 2563 มี 4,094 ร้าน) จำนวนร้านอาหารญี่ปุ่นในต่างจังหวัดมี 2,297 ร้าน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วถึง 15.5% (ปี 2563 มี 1,989 ร้าน)
ในขณะที่จำนวนร้านในกรุงเทพฯ ได้ลดลง 1.5% (ปี 2563 มี 2,105 ร้าน) ทำให้จำนวนร้านในต่างจังหวัดแซงหน้าจำนวนร้านในกรุงเทพฯ เป็นครั้งแรกของการสำรวจ โดยสัดส่วนของจำนวนร้านอาหารญี่ปุ่นในต่างจังหวัดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแซงหน้ากรุงเทพฯ โดยในปี 2562 มีสัดส่วนอยู่ที่ 45.2% และในปี พ.ศ. 2564 มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 52.6 สำหรับประเภทร้านที่เพิ่มขึ้นมากเป็นพิเศษคือร้าน Sushi โดยร้าน Sushi ที่เพิ่มสาขาในรูปแบบแฟรนไชส์ได้ผลักดันจำนวนร้านให้เพิ่มมากขึ้นต่อเนื่องจากปีที่แล้ว (2563) ปีนี้มีจำนวนร้านเปิดใหม่ 889 ร้าน มีร้าน Sushi และภัตตาคารอาหารญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นมาก จำนวนร้านเปิดใหม่ของทั้งสองประเภทนี้มีมากถึง 61% ของจำนวนร้านเปิดใหม่ทั้งหมด
ขณะเดียวกันยังคงพบผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 จำนวนร้านปิดกิจการชั่วคราวจาก 70 ร้านในปีที่แล้ว เพิ่มขึ้นเป็น 231 ร้านในปีนี้ ถึงแม้ว่าตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมามีการผ่อนคลายให้เริ่มกลับมานั่งรับประทานอาหารภายในร้านอาหารได้ ทำให้จำนวนลูกค้าและรายได้ของร้านอาหารมีแนวโน้มฟื้นตัวตามมาตรการผ่อนคลายควบคุมร้านอาหารตามลำดับ แต่การฟื้นตัวยังไม่ถึง 100% เมื่อเทียบกับก่อนโควิด-19 ระบาด
ในปี 2564 เมื่อจำแนกร้านที่เปิดดำเนินการอยู่ด้วยราคาอาหารเฉลี่ยต่อหัวแล้วพบว่าระดับราคาอาหารเฉลี่ยต่อหัวที่มีจำนวนร้านมากที่สุดคือ 101-250 บาท ตามด้วยระดับราคา 251-500 บาท เหมือนกันทั้งในกรุงเทพฯ และต่ำงจังหวัด ระดับราคาที่รองลงมาคือ 501-1,000 บาทสำหรับกรุงเทพฯ และต่ำกว่า 100 บาทสำหรับต่างจังหวัด สำหรับร้านเปิดใหม่พบว่ามีร้านเปิดใหม่จำนวนมากในต่างจังหวัดอยู่ระดับราคาอาหารเฉลี่ยต่อหัวต่ำ (101-250 บาท) และต่ำกว่ำ 100 บาท
นอกจากนั้นในผลสำรวจยังพบด้วยว่า ผลกระทบที่ร้านอาหารได้รับจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และแนวโน้มในช่วงเวลาต่อไป ยอดขายลดลงไปมากในเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม 2564 จำนวนลูกค้าและยอดขายมีแนวโน้มฟื้นตัวตั้งแต่เดือนกันยายนแต่ยังคงได้รับผลกระทบ ช่วงที่ห้ามนั่งรับประทานอาหารในร้านยอดขายของร้านอาหารลดลงอย่างมาก ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนเป็นต้นไป สามารถนั่งรับประทานอาหารในร้านได้ทำให้จำนวนลูกค้าและยอดขายมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น
จากการสอบถามความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องกับร้านอาหารญี่ปุ่น ส่วนใหญ่ให้ความคิดเห็นว่า สถานการณ์ของยอดขายร้านอาหารญี่ปุ่นในช่วงที่ทำการสำรวจ (15 พฤศจิกายน ถึง 16 ธันวาคม) ฟื้นตัวขึ้นถึงประมาณ 70-80% ของก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 และสังเกตได้ว่าสถานการณ์การฟื้นตัวแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับเมนูอาหาร สถานที่ตั้ง ร้าน และกลุ่มลูกค้าของร้าน ผู้ที่เกี่ยวข้องกับร้านอาหารญี่ปุ่นให้ความเห็นว่าร้านอาหารญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่ต้องรับมือ เช่น การขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมร้านอาหาร การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้บริโภคอันเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นต้น
ทั้งนี้ ยอดขายของบริษัท บริหารเชนร้านอาหารญี่ปุ่นรายใหญ่ในไตรมาสที่ 1 ถึง 3 ของปี พ.ศ. 2564 ลดลง 28-56% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี พ.ศ. 2562 (รายงานงบการเงินของเชนร้านอาหารญี่ปุ่นรายใหญ่) มูลค่าตลาดของอุตสาหกรรมร้านอาหารปี พ.ศ. 2564 จะหดตัวลง 13.5-17.3% จากปีก่อน คิดเป็น 3.5-3.35 แสนล้านบาท (รายงาน ECON ANALYSIS ฉบับที่ 3237 วันที่ 5 กรกฎาคม 2564 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย)
จากการสัมภาษณ์ได้รับความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องกับธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นว่าร้านอาหารญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เช่น การขาดแคลนแรงงงานในอุตสาหกรรมร้านอาหาร การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้บริโภคสืบเนื่องมาจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นต้น
ทั้งนี้ จำนวนร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยจำนวนร้านของปี 2564 เพิ่มขึ้นถึง 6 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2550 (745 ร้าน) ซึ่งเป็นปีที่เริ่มสำรวจ
ในประเด็นของพฤติกรรมการสั่งอาหารดีลิเวอรี การใช้บริการ Food Delivery (รวมร้านอาหารญี่ปุ่น) มีมากขึ้นต่อเนื่องจากปีที่แล้ว คาดว่าหลังจากสามารถนั่งรับประทานอาหารและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านได้แล้ว ร้านอาหารแต่ละร้านจะใช้ Food Delivery ในรูปแบบที่แตกต่างกันตามเมนูหลัก และกลยุทธ์ของร้าน แต่ผู้ที่เกี่ยวข้องหลายคนเห็นว่าในช่วงเวลาต่อไปก็ยังคงมีการใช้ Food Delivery อยู่เพื่อเพิ่มช่องทางการขาย และเพื่อรองรับความเสี่ยงของการแพร่ระบาดระลอกต่อไปที่อาจเกิดขึ้นได้
ประมาณการมูลค่าตลาดของ Food Delivery ในปี พ.ศ. 2564 เติบโตขึ้น 46.4% จากปีก่อนหน้า (รายงาน ECON ANALYSIS ฉบับที่ 3289 วันที่ 8 ธันวาคม 2564 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย)
“จำนวนร้านอาหารญี่ปุ่นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามปัจจัยต่างๆ เช่น วัฒนธรรมอาหารญี่ปุ่นที่แพร่หลายมากขึ้น, การขยายฐานลูกค้าโดยการเพิ่มความหลากหลายด้านราคา, การเพิ่มขึ้นของศูนย์การค้านอกพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นต้น แต่ในปี พ.ศ. 2564 มีการปิดให้บริการชั่วคราวเพิ่มขึ้นจำนวนมากเป็นปัจจัยเชิงลบ”
นายทาเคทานิ อัทสึชิ ประธานเจโทร กรุงเทพฯ กล่าวว่า “ผมรู้สึกดีใจอย่างมากที่จำนวนร้านอาหารญี่ปุ่น ซึ่งเป็นสถานที่ที่ชาวไทยทุกท่านสามารถลิ้มรสอาหารญี่ปุ่นได้เพิ่มขึ้น การบริโภคอาหารญี่ปุ่นของคนไทยมีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งรับประทานเป็นอาหารสำหรับมื้อพิเศษและอาหารในชีวิตประจำวัน ผู้เกี่ยวข้องกับธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นหลายท่านให้ความเห็นว่า ในอนาคตจะมีร้านอาหารที่มีการปรับให้เข้ากับรสนิยมและวัฒนธรรมการกินของคนไทยมากขึ้น และในขณะเดียวกันร้านอาหารที่เสิร์ฟอาหารเน้นความเป็นต้นตำรับอาหารญี่ปุ่นแบบแท้ๆ ก็จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นด้วย”
ร้านอาหารญี่ปุ่นถือว่ามีความสำคัญสำหรับการเผยแพร่วัฒนธรรมอาหารของญี่ปุ่นสู่ทั่วโลก และช่วยผลักดันการส่งออกสินค้าเกษตร ป่าไม้ ประมง และอาหารของประเทศญี่ปุ่น ทางเจโทรกำลังจัดงานเจรจาจับคู่ธุรกิจออนไลน์ “JETRO Online Business Matching & Exhibition of Japanese Food Products 2021” โดยจะมีการเจรจาธุรกิจรอบที่ 3 ระหว่างวันที่ 31 มกราคม ถึง 25 กุมภาพันธ์ 2565 งานเจรจาจับคู่ธุรกิจออนไลน์นี้มีผู้ประกอบการร้านอาหารและผู้ประกอบการนำเข้าขายส่งซึ่งมีการค้าขายกับร้านอาหารเข้าร่วมในฐานะผู้ซื้อ (Buyer) ด้วย
นายทาเคทานิยังกล่าวถึงเป้าหมายของงานเจรจาธุรกิจว่า “งานเจรจารอบที่ 1 ที่ได้จัดในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาได้ผลลัพธ์ที่ดี โดยมียอดประมาณการมูลค่าซื้อขายกันถึง 1,100 ล้านเยน (ประมาณ 333 ล้านบาท) (เทียบเท่ากับ 2.7% ของยอดการส่งออกสินค้าเกษตร ป่าไม้ ประมงและอาหารจากญี่ปุ่นเข้ามาที่ไทยปี 2563 (40,100 ล้านเยน หรือประมาณ 11,460 ล้านบาท) อนึ่ง ยอดการส่งออกและยอดประมาณการมูลค่าซื้อขายกันใช้วิธีคำนวณแตกต่างกัน)
สำหรับการเจรจาธุรกิจรอบที่ 3 นี้ก็เช่นเดียวกัน เราต้องการที่จะแนะนำวัตถุดิบอาหารจากประเทศญี่ปุ่นให้กับผู้ประกอบการร้านอาหารรวมถึงร้านอาหารญี่ปุ่น และให้งานเจรจาธุรกิจนี้เป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันการส่งออกสินค้าเกษตร ป่าไม้ ประมง และอาหารของประเทศญี่ปุ่น”
นอกจากนี้ เจโทรกำลังจัดงาน “Japan Fruits Festival - Seasonal Gift from Japan“ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคชาวไทยได้สัมผัสกับเสน่ห์และได้ลิ้มรสความอร่อยของผลไม้นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น ที่หน้าร้านค้าขายปลีก ร้านขายผลไม้ Online และประชาสัมพันธ์ผ่านอินฟลูเอนเซอร์ โดยทางเจโทรจะจัดกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความคึกคักให้กับตลาดอาหารของประเทศไทย โดยการแนะนำสินค้าเกษตร ป่าไม้ ประมง และอาหารของประเทศญี่ปุ่นต่อไป
ทั้งนี้ การสำรวจดังกล่าวเป็นการสำรวจจำนวนร้านอยู่ในช่วง 8 กันยายน ถึง 7 พฤศจิกายน 2564 ส่วนจากการสัมภาษณ์ (13 บริษัท/องค์กร) ระหว่างวันที่ 15 พฤศจิกายน ถึง 16 ธันวาคม 2564 ซึ่งวิธีการสำรวจมีทั้ง Website และ Facebook ของผู้ประกอบการและข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องในสื่อต่างๆ และสอบถามข้อมูลทางโทรศัพท์