xs
xsm
sm
md
lg

“มากุโระ” แตกแบรนด์-เร่งผุดสาขา กองทุนเทศซื้อหุ้น 300 ล้านเสริมแกร่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการรายวัน 360 - มากุโระ กรุ๊ป (Maguro Group) ผนึกกำลังทุนจากนักลงทุนสถาบันชั้นนำในภูมิภาคเอเชียกว่า 300 ล้านบาท สู่การขยาย 2 แบรนด์ใหม่ “SSAMTHING TOGETHER” ร้านอาหารเกาหลีระดับพรีเมียม และ “TAIKO” ร้านซูชิและอาหารญี่ปุ่นแบบจานด่วน ตั้งเป้ายอดขายปี 2565 จำนวน 750 ล้านบาท รวมถึงการมุ่งหน้าเข้าตลาดทรัพย์ฯ​ ในอีก 2 ปีข้างหน้า

นายเอกฤกษ์ แสงเสรีดำรง กรรมการบริหาร ร้านอาหารญี่ปุ่นมากุโระ และกลุ่มธุรกิจในเครือมากุโระ กรุ๊ป เปิดเผยว่า การดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจในเครือมากุโระ กรุ๊ป ในปี 2564 ที่ผ่านมานับว่าน่าพอใจ ถึงแม้จะอยู่ในช่วงวิกฤตของสถานการณ์โควิด แต่ร้านอาหารญี่ปุ่นในเครือทั้ง 10 สาขาก็ยังแข็งแกร่ง เนื่องจากมีการปรับตัวที่ดีทั้งแผนการตลาด
 
รวมทั้งในปี 2564 นี้ยังขยายกิจการตามแผน หลังได้รับเงินลงทุนจากนักลงทุนระดับสถาบันชั้นนำในภูมิภาคเอเชียประมาณ 300 ล้านบาทเพื่อต่อยอดการขยายธุรกิจ โดยได้เปิดตัว 2 แบรนด์น้องใหม่ “SSAMTHING TOGETHER” ร้านอาหารเกาหลีพรีเมียม และ “TAIKO” ร้านซูชิและอาหารญี่ปุ่นแบบจานด่วนเอาใจคนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นกลุ่มตลาดขนาดใหญ่ จากตลาดรวมซูชิกว่า 4,000 ล้านบาท และเปิดตัวแบรนด์ SSAMTHING TOGETHER ในกันยายน 2564 ศูนย์การค้าเมกาบางนา และ “TAIKO” ที่สยามพารากอน จะเป็นอีกฟันเฟืองสำคัญขับเคลื่อน “มากุโระ กรุ๊ป” สู่ผู้นำธุรกิจอาหารในภูมิภาคเอเชีย ตั้งเป้ายอดขายรวมของบริษัทอยู่ที่ 750 ล้านบาทในปี 2565 และมุ่งหน้าเข้าตลาดทรัพย์ฯ​ ในอีก 2 ปีข้างหน้า และภายใน 5 ปีจากนี้จะมีรายได้รวม 1,000 ล้านบาท โดยปีนี้คาดว่าจะมีรายได้รวมประมาณ 500 ล้านบาท แบ่งสัดส่วนจากดีลิเวอรี 10% ตั้งเป้าไว้ที่ 20% ในอนาคต และจากนั่งรับประทานในร้าน 80-90%


“เรามองหาโอกาสขยายธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ ที่สนใจ เช่น สตรีทฟ้ด และได้รับการติดต่อจากหลายๆ กลุ่มนักลงทุนที่สนใจจะมาร่วมทุนในการขยายธุรกิจของเรา จากรากฐานการทำธุรกิจของเราที่มี DNA ที่แข็งแรง มีแบรนด์ที่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง และมีแฟนคลับอยู่เป็นจำนวนมากทั่วกรุงเทพฯ” นายเอกฤกษ์กล่าว

โมเดลธุรกิจของ “มากุโระ กรุ๊ป” คือการขยายธุรกิจอย่างยั่งยืนและมั่นคงต่อยอดและขยายฐานธุรกิจให้กว้างขึ้น การได้รับเงินทุนจากนักลงทุนสถาบันต่างชาติจะช่วยในการต่อยอดทางธุรกิจ ผ่านการสร้างแบรนด์ใหม่ๆ รวมถึงการเปิดโอกาสการขยายธุรกิจผ่านช่องทางการร่วมลงทุน และควบรวมกิจการ (M&A) กับบริษัทอื่นๆ ทั้งในและนอกอุตสาหกรรมร้านอาหารเช่นกัน โดยมีเป้าหมายให้เจ้าของบริษัทที่ต้องการผู้ลงทุนได้มีโอกาสเติบโตไปได้อย่างยั่งยืน โดยมี “มากุโระ กรุ๊ป” เป็นผู้ร่วมทุน และแชร์ประสบการณ์และความรู้ในธุรกิจอาหารร่วมกัน การต่อยอดทางธุรกิจภายใต้ 2 แบรนด์ใหม่นี้จะทำให้สามารถขยายสาขาได้มากกว่า 10 สาขารวมทุกแบรนด์ในแต่ละปี และจะทำให้มีอย่างน้อย 50 สาขาทั่วประเทศ ภายในปี 2566

ปีหน้ามีแผนขยายแบรนด์มากุโระ 2-3 สาขา, แบรนด์ซัมธิงทูเกทเธอร์ 3 สาขา และแบรนด์ไทโกะ อีก 10-20 จุด

มากุโระ กรุ๊ป ยังใช้กลยุทธ์ “Data Driven Marketing” ทำการวิเคราะห์ในเชิงของกลยุทธ์เพื่อค้นหาปัญหาและความต้องการของลูกค้า เพื่อนำไปพัฒนาเมนูใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของลูกค้าหลากหลายกลุ่ม เช่น เมนู Quick and Easy ที่เน้นความเร็ว ขนาดพอประมาณ ราคาจับต้องได้ มีให้บริการที่สาขาสยาม และสาขาเอสพลานาด ซึ่งเป็นกลุ่มคนทำงานและนักศึกษาที่มีเวลาพักกลางวันไม่นาน รวมทั้งปรับสิทธิพิเศษระบบบัตรสมาชิกใหม่หลังจากทำมา 1 ปีมีสมาชิก 20,000 ราย ตั้งเป้าปีหน้า 50,000 ราย ซึ่งสมาชิกมีการใช้จ่ายประมาณ 2,000 บาทต่อบิล


นายเอกฤกษ์กล่าวว่า ปัจจัยในความสำเร็จตลอด 6 ปีที่ผ่านมาของ “มากุโระ กรุ๊ป” คือการดำเนินธุรกิจภายใต้วัฒนธรรมหลักของแบรนด์ นั่นคือ ‘Way of Giving More’ หรือ ‘วัฒนธรรมแห่งการให้มากกว่าที่ขอ’ ที่ตั้งใจถ่ายทอดความใส่ใจของอาหารทุกจานจากวัตถุดิบคุณภาพ ผ่านการปรุงที่เคารพในวัตถุดิบ และเข้าใจศิลปะของอาหารญี่ปุ่นที่สุดตามมาตรฐานของ “มากุโระ” จนเป็นที่ประทับใจของลูกค้ามาตลอด โดยผู้บริหารมีความต้องการที่จะถ่ายทอดวัฒนธรรมขององค์กรนี้ส่งต่อไปกับทุกๆ แบรนด์ ทุกกลุ่มลูกค้าที่หลากหลายมากขึ้น กลยุทธ์อาจจะมีปรับเปลี่ยนไปเพื่อให้เหมาะกับแบรนด์นั้นๆ แต่หัวใจหลักของผลิตภัณฑ์ คือความใส่ใจในการรังสรรค์อาหาร วัตถุดิบที่เลือกมา และการบริการของเราจะต้องเป็นไปตาม DNA ของ มากุโระ กรุ๊ป ทั้งหมด

นอกเหนือจากแผนการขยายตัวกิจการแล้ว มากุโระ กรุ๊ปยังคำนึงถึงเรื่องการเจาะลึกข้อมูลของลูกค้า (Consumer Insight) เป็นอย่างมาก โดยมีการใช้กลยุทธ์ “Data Driven Marketing” ทำการวิเคราะห์ในเชิงกลยุทธ์เพื่อค้นหาปัญหา (Pain Point) และความต้องการของลูกค้า เพื่อนำไปพัฒนาเมนูใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของลูกค้าหลากหลายกลุ่ม อาทิ เมนู Quick and Easy ที่เน้นความเร็ว ขนาดพอประมาณ ราคาจับต้องได้ มีให้บริการที่สาขาสยาม และสาขาเอสพลานาด ซึ่งเป็นกลุ่มคนทำงานและนักศึกษาที่มีเวลาพักกลางวันไม่นาน โดยเมนูจานด่วนที่มีคุณภาพเหล่านี้ช่วยให้ขายได้เร็วขึ้น เกิดการหมุนเวียนวัตถุดิบที่เร็ว เข้าถึงคนกลุ่มใหญ่ได้มาก รวมถึงเป็นความตั้งใจที่อยากให้ลูกค้าได้รับประทานของดีในราคาที่เหมาะสม

นายเอกฤกษ์กล่าวถึงภาพรวมตลาดร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทยยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะวัฒนธรรมการรับประทานของคนไทยและญี่ปุ่นมีความคล้ายกัน จึงทำให้มีร้านญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นทุกปี ปัจจุบันมีร้านอาหารญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 21% จากปี 2561 แบ่งเป็นประเภทบุพเฟต์ปิ้งย่าง ชาบู สุกี้ ราเมน และล่าสุดซูชิแบบโอมากาเสะก็เริ่มแพร่หลายมากขึ้น และจากข้อมูลประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ “เจโทร กรุงเทพฯ” เปิดเผยถึงผลการสำรวจตลาดอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทยปี 2563 ว่า มีร้านอาหารญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นเป็นร้านอาหารประเภทซูชิเพิ่มขึ้นสูงสุดกว่า 504 ร้าน ซึ่งมากกว่าปี 2562 ถึง 50%

“แม้ว่าปัจจุบันตลาดธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นมีการแข่งขันที่สูงอย่างมาก แต่มากุโระยังสามารถสร้างจุดเด่นให้แตกต่างด้วยคุณภาพของอาหารในคอนเซ็ปต์ “ใหญ่ สด คุ้ม” และเป็นร้าน Premium Mass ที่ทำอาหารให้มีคุณภาพแบบ Fine Dining ในราคาที่จับต้องได้ รวมถึงมีความชัดเจนในความเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารญี่ปุ่นแท้ๆ และมุ่งมั่นสร้างวัฒนธรรม “การให้มากกว่าที่ขอ” (Give More) ให้อยู่ในทุกๆ ด้านของการบริการของเราอย่างต่อเนื่อง นั่นคือ มอบอาหารที่มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่รู้สึกอิ่มเอมใจทุกครั้งที่เดินออกจากร้านมากุโระของเรา” นายเอกฤกษ์กล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น