xs
xsm
sm
md
lg

จับตาแผนซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 10 ปี เดิมพันรับมือลดโลกร้อน-ดูแลผู้บริโภค

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นับถอยหลังใกล้สิ้นสุดปี พ.ศ. 2564 ท่ามกลางความไม่แน่นอนของการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนที่ไม่รู้ชะตากรรมว่าจะเข้ามาหลอนชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยมากน้อยแค่ไหนจึงต้องติดตามใกล้ชิด ....แต่สำหรับภาคพลังงานได้รับรู้กันล่วงหน้าไม่ต้องรอลุ้นกันแล้วคือ “ค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft)” งวดแรกต้อนรับปีใหม่ (ม.ค.-เม.ย. 65) ได้ปรับเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปีจากเดิม Ft อยู่ที่-15.32 สตางค์ต่อหน่วยมาอยู่ที่ 1.39 สตางค์ต่อหน่วย หรือปรับขึ้น 16.71 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมค่าไฟฐานเท่ากับอยู่ที่ 3.78 บาทต่อหน่วย โดยปัจจัยหลักมาจากต้นทุนก๊าซธรรมชาติที่เป็นเชื้อเพลิงหลักการผลิตไฟสูงขึ้นตามทิศทางราคาน้ำมันตลาดโลก และค่าเงินบาทที่อ่อนค่า

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ตอกย้ำว่า ค่า Ft ดังกล่าวได้มีการดูแลและเกลี่ยให้ทั้งปีเพื่อลดภาระประชาชน หากราคาน้ำมันปี 2565 ไม่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญค่า Ft ก็จะขึ้นทุกงวดตลอดปี 65 กันเลยทีเดียว ...ซึ่งแน่นอนว่าต้นทุนค่าไฟสะท้อนจากเชื้อเพลิงเป็นสำคัญ และในอนาคตอันใกล้การผลิตไฟฟ้าของไทยในระยะยาวต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อรองรับกติกาโลกที่กำลังเข้มงวดกับการลดโลกร้อนมากขึ้น …ซึ่งอาจทำให้หลายคนกังวลว่าอนาคตค่าไฟจะแพงขึ้นหรือไม่ อย่างไร?

ก่อนอื่นมาดูมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อ 4 ส.ค. 64 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานได้เห็นชอบกรอบแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan) โดยมีเป้าหมายสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถมุ่งสู่พลังงานสะอาดตามทิศทางกระแสโลก และหนึ่งในเป้าหมายการขับเคลื่อนคือการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าใหม่โดยมีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนไม่น้อยกว่า 50% ซึ่งล่าสุดสำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้ออกมาเปิดให้เห็นแผนเบื้องต้นถึงแนวทางการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในช่วง 10 ปีแรก (ปี 2564-2573) ตามการจัดทำร่างแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP 2022) ใหม่

แผนดังกล่าวได้ปรับสัดส่วนเชื้อเพลิงจากฟอสซิลลงจากโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่แผนพีดีพีเดิม (PDP2018 rev.1) กำหนดไว้อยู่ที่ 5,550 เมกะวัตต์เป็น 4,850 เมกะวัตต์หรือลดลง 700 เมกะวัตต์ คงโรงไฟฟ้าถ่านหิน 600 เมกะวัตต์ และเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็น 10,193 เมกะวัตต์ หรือเพิ่มจากแผนเดิม 1,000 เมกะวัตต์ หรือมีสัดส่วนเพิ่มเป็น 26-27% จากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 23%

สำหรับรายละเอียดพลังงานหมุนเวียนที่ปรับปรุงมีดังนี้ การรับซื้อไฟฟ้าพลังงานน้ำต่างประเทศ จากแผนเดิมอยู่ที่ 1,400 เมกะวัตต์ จะเป็น 2,766 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้น 1,366 เมกะวัตต์, พลังงานแสงอาทิตย์เดิม 5,149 เมกะวัตต์ เป็น 4,455 เมกะวัตต์ ลดลง 739 เมกะวัตต์, พลังงานลมเดิม 270 เมกะวัตต์ เป็น 1,500 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้น 1,230 เมกะวัตต์, ชีวมวลเดิมอยู่ที่ 1,120 เมกะวัตต์เป็น 485 เมกะวัตต์ ลดลง 635 เมกะวัตต์, ก๊าซชีวภาพแผนเดิม 783 เมกะวัตต์เป็น 335 เมกะวัตต์ ลดลง 448 เมกะวัตต์, ขยะเดิม 400 เมกะวัตต์ เป็น 600 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้น 200 เมกะวัตต์ โดยเป็นการปรับเพิ่มในส่วนของขยะอุตสาหกรรมจากเดิม 44 เมกะวัตต์ เป็น 200 เมกะวัตต์

แผนดังกล่าวเป็นการตอบโจทย์ในระดับโลกเพราะการประชุมผู้นำรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) เมื่อ 1 พ.ย. 64 ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ นายกฯ ไทยได้แสดงจุดยืนความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี ค.ศ. 2065 แต่เหนืออื่นใดแล้วแรงกดดันมากสูงสุดกลับอยู่ที่นโยบายองค์กรหรือ “Corporate Policy” เพราะเวลานี้บริษัทธุรกิจระดับบิ๊กล้วนประกาศเป้าหมายลดปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutrality) ที่ค่อนข้างเร็วขึ้นจำนวนมาก และแน่นอนว่าตลอดห่วงโซ่การผลิตต้องปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง

ดังนั้น “พลังงานหมุนเวียน” ทั้งการซื้อขายโดยตรงและการซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มเพื่อเทรดคาร์บอนเครดิตล้วนเป็นแนวทางที่จะเข้ามาตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการ เพราะขณะนี้ประเทศที่พัฒนาแล้วล้วนกำหนดกติการูปแบบที่ไม่ใช่ภาษี (NTB) เข้ามากีดกัน เรียกว่าเป็นสงครามคาร์บอนกันเลยทีเดียว ทั้งคาร์บอนฟุตพรินต์ (หรือฉลากคาร์บอนที่ระบุถึงปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากผลิตภัณฑ์แต่ละหน่วยที่สหรัฐฯ ดูจะเล็งเป้าบังคับกับสินค้านำเข้ามากขึ้น รวมไปถึงมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน หรือ CBAM ของสหภาพยุโรป ที่ล่าสุดอียูเริ่มนำร่องใน 5 อุตสาหกรรมหลักปี 2566 จากนั้นจะครอบคลุมทุกสินค้าในปี 2569 สาระสำคัญคือผู้นำเข้าจะต้องซื้อใบแสดงสิทธิในการปล่อยคาร์บอน (CBAM certificates) เพื่อจ่ายค่าธรรมเนียม หรือ “ค่าปรับ” ในการปล่อยก๊าซฯ ของสินค้าที่นำเข้า

เหล่านี้จึงทำให้ภาคการส่งออกต้องเร่งปรับตัวประเภทใครเริ่มก่อนย่อมได้เปรียบ….. “การส่งออก” ที่มีสัดส่วนต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในสัดส่วนที่สูงสุดจึงไม่อาจปฏิเสธกติกานี้ได้.......การเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในระบบการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเพื่อตอบโจทย์ภาคการผลิตจึงยากที่จะปฏิเสธ.... แต่หากมองในแง่ประชาชนทั่วไปอาจมีคำถามว่านอกเหนือจากได้สิ่งแวดล้อมที่ดี มีงานทำเพราะการส่งออกยังไปได้ดี แต่ค่าใช้จ่ายโดยเฉพาะค่าไฟฟ้าโดยรวมจะแพงขึ้นไหม เพราะมีการระบุถึงข้อมูลว่าต้นทุน “พลังงานหมุนเวียน” ทำให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้น ทั้งผ่านการสนับสนุนอดีตที่ผ่านมาในรูปแบบส่วนเพิ่มการรับซื้อค่าไฟฟ้า (ADDER) และการให้เงินสนับสนุนตามต้นทุนที่แท้จริง (Feed in Tariff หรือ FiT) ในขณะนี้

โดยพบว่าการอุดหนุนดังกล่าวปี 2563 ต้นทุนพลังงานหมุนเวียนรวมในค่าไฟเฉลี่ยอยู่ที่ 30.18 สตางค์ต่อหน่วย คิดเป็นเงินประมาณ 52,166 ล้านบาท ปี 2564 คิดเป็นต้นทุนค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 32.11 สตางค์ต่อหน่วย คิดเป็นเงินประมาณ 56,554 ล้านบาท ซึ่งรวมเพียง 2 ปีคิดเป็นวงเงินที่ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องจ่ายมากถึง 108,720 ล้านบาท หากพิจารณาเฉพาะงวดแรกเดือน ม.ค.-เม.ย. ปี 2565 จะพบว่าประชาชนต้องแบกรับภาระค่าไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่อยู่ในค่าไฟฟ้าในส่วน Ft ประมาณ 29.44 สตางค์ต่อหน่วย คิดเป็นวงเงินรวม 17,419 ล้านบาท …

แน่นอนว่า หากมองเฉพาะค่าไฟที่สูงขึ้นจากพลังงานหมุนเวียนก็จริงตามนั้น...ผู้ที่อยู่ในวงการอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนก็ยอมรับ แต่การจะมองเพียงมุมเดียวดูจะไม่ให้ความเป็นธรรมนัก .....เพราะโครงสร้างค่าไฟประกอบด้วยค่าเชื้อเพลิง การซื้อไฟจากเอกชน (IPP,SPP) ค่าใช้จ่ายนโยบายรัฐ ที่ต้องครอบคลุมทั้งมิติราคา ความมั่นคง และสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ...
..เมื่อย้อนกลับไปอดีต ADDER พลังงานแสงอาทิตย์อุดหนุนถึง 8 บาทต่อหน่วย แต่พอปรับมา FiT ก็เริ่มลดลง และล่าสุดมีการประมูลราคากันมากขึ้น ในส่วนของพลังงานทดแทนราคาก็ถือว่ามีการแข่งขันกันบ้างแล้ว และปัจจุบันเทคโนโลยีมีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ประกอบกับการมาของแบตเตอรี่ (ESS) ที่จะมาสร้างความมั่นคงก็เริ่มชัดเจนขึ้น....แต่สิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องทบทวนกันใหม่หมด ...

โดยเฉพาะเมื่อดูรายละเอียดของแผนรับซื้อไฟฟ้า 10 ปีก็มีคำถามคาใจว่า ทำไมกระทรวงพลังงานไปปรับเพิ่มการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานลมเข้ามาอีกถึง 1,230 เมกะวัตต์.....ทั้งที่เทคโนโลยีแม้ว่าจะดีขึ้นแต่หากทำแบบเดี่ยวๆ เข้ามาก็ยังคงมีค่าไฟที่แพงอยู่ และโครงการที่จะเกิดขั้นต่ำเพื่อให้คุ้มต้นทุนก็ต้องระดับ 90 เมกะวัตต์ขึ้นไป ..... งานนี้ก็มีเสียงแว่วว่ามีผู้ขอมานะจ๊ะ .....แต่ฝั่งพลังงานเองก็ยืนยันว่าศักยภาพพลังงานลมในไทยตลอดแผนมีเท่าเดิมคือ 3,000 เมกะวัตต์แต่นำมาไว้ในช่วงแรกที่เร็วขึ้น


ดังนั้น หากดูเทคโนโลยีในต่างประเทศได้ใช้เทคโนโลยีผสมผสานกันระหว่างลมกับพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์ฯ) เรียกว่าเป็นพลังงานแบบไฮบริดจะได้ค่าไฟฟ้าที่ระดับ 2 บาทกว่าๆ ต่อหน่วยอันนี้น่าจะเป็นผลดีต่อประชาชนมากกว่า และเมื่อนำระบบกักเก็บ (ESS) มาเสริมก็จะเพิ่มมั่นคงได้อีกด้วยเพราะลมนั้นมีตลอดหากแต่ไม่แน่นอน ส่วนแสงอาทิตย์มีเฉพาะกลางวัน

ส่วนโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากที่เคยกำหนดไว้ 1,933 เมกะวัตต์ก็ถูกหั่นลดลงเหลือราว 700 เมกะวัตต์ ซึ่งเดิมกำหนดเป็นทั้งชีวมวลและชีวภาพ แต่การเข้ามาค่อนข้างต่ำโดยเฉพาะชีวมวลจึงต้องปรับลดลงเพื่อไปเกลี่ยให้กับพลังงานหมุนเวียนตัวอื่นๆ เพิ่ม ...แต่ศักยภาพระดับดังกล่าวยอมรับว่าไม่ถึงแต่จะมีการปรับเพิ่มขึ้นในช่วงระยะหลังของแผน โดยหากมองในแง่พื้นที่ปลูกพืชพลังงานป้อนเป็นเชื้อเพลิงให้กับโรงไฟฟ้าชุมชนนั้นมีการยืนยันว่าเพียงพอ.....ก็ต้องไปว่ากันในแง่ของความเป็นจริง งานนี้ “ชุมชน” คงจะผิดหวังไม่น้อย...เพราะถูกให้ความหวังมาหลายปี

หันกลับมาดูโรงไฟฟ้าจากขยะที่เป็นการปรับเพิ่มในส่วนของขยะอุตสาหกรรมเป็น 200 เมกะวัตต์ ...แว่วว่างานนี้คุณขอมาอีกแล้วนะจ๊ะ ..... เป็นถึงกระทรวงใหญ่ที่มีปริมาณขยะในมือแว่วว่าขอมา 500 เมกะวัตต์ พลังงานเลยต้องจัดให้ไปซะ 200 เมกะวัตตต์ ข้อเท็จจริงอันนี้ก็ต้องไปสืบกันเอาเองข่าวลืออะเนา......แต่ถ้าถามผู้ที่คลุกคลีกับขยะก็ฟันธงเลยว่าลำพังขยะอุตสาหกรรม 44 เมกะวัตต์นี่ก็ยังไปไม่ได้ถึงไหนเลยจะเอาขยะจากไหนมาละนี่ ....คำถามนี้ก็คงต้องย้อนไปยังหน่วยงานที่ขอมา

การปรับปรุงการซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนดังกล่าวนับเป็นความท้าทายของเจ้าหน้าที่ก.พลังงานที่กลายเป็นผู้ปฏิบัติหลักเพื่อให้เดินไปตามแผนลดโลกร้อน จึงต้องวางความสมดุลทั้งภาคการผลิตที่ต้อง Go Green ด้วยการจัดสมดุลของเชื้อเพลิงฟอสซิลและพลังงานหมุนเวียน กติกาต่างๆ เช่น ประสิทธิภาพสายส่ง อย่างเหมาะสม ต้องถ่วงดุลประโยชน์ระหว่างผู้ผลิตไฟฟ้าหรือมือที่มองไม่เห็นกับประชาชนที่ต้องไม่ให้เกิดการโยนภาระค่าไฟให้แบกรับ... เพราะลำพังโควิด-19 ก็ทำให้ประชาชนแบกหนี้มากพอแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น