ธุรกิจไฟฟ้าเป็นธุรกิจหนึ่งที่ได้รับผลกระทบไม่มากนักจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ในช่วงที่ผ่าน จะเห็นได้จากผลการดำเนินงานบริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าที่เติบโตสูงขึ้นในช่วง 2 ปีนี้ ทำให้มีหลายบริษัทแตกไลน์ธุรกิจหันมาลงทุนธุรกิจไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น มองว่าธุรกิจไฟฟ้าสร้างผลตอบแทนที่มั่นคงและเป็นการกระจายความเสี่ยงที่ดี
ขณะที่กระแสโลกเรียกร้องให้มีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งธุรกิจพลังงานโดยเฉพาะไฟฟ้าเป็นธุรกิจที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอัตราสูง จึงถูกแรงกดดันให้บริษัทผลิตไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลต้องมีแนวทางในการปรับลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างชัดเจน ขณะเดียวกันผู้นำประเทศไทยได้ประกาศในที่ประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 (COP26) ณ เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ ว่าประเทศไทยจะเข้าสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์หรือ Net Zeroในปี 2065
การประกาศเจตนารมณ์ดังกล่าวทำให้หน่วยงานรัฐต่างเร่งหามาตรการมาบังคับให้ภาคเอกชนตระหนักถึงความสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อาทิกรมสรรพสามิตก็ศึกษาการจัดเก็บภาษีคาร์บอน(Carbon Tax)กับผู้ที่ปล่อยมลพิษ รวมถึงแนวทางการปรับโครงสร้างภาษีรถยนต์ในอนาคต รวมไปถึงการปรับแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP 2018 )และแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP 2018 Rev 1( โดยมีสาระสำคัญ เช่น การเร่งรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์ฟาร์ม), โซลาร์บนทุ่นลอยน้ำ, โซลาร์รูฟท็อป, โซลาร์ภาคประชาชน และพลังงานลมให้เร็วขึ้นภายในระยะเวลา 10 ปี (2564-2573) จากแผนเดิมให้รับซื้อในปลายแผน และการขยายกรอบปริมาณรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาวเพิ่มขึ้นจาก 9,000 เมกะวัตต์ เป็น 10,500 เมกะวัตต์ เป็นต้น
บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน)(EGCO) หรือเอ็กโก กรุ๊ป และบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (RATCH) ซึ่งเป็นบริษัทมหาชนที่ดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ที่เป็นบริษัทลูกของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ต่างเดินหน้าพัฒนาขยายธุรกิจไม่หยุดยั้งแม้ว่าจะอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยมุ่งเน้นพลังงานหมุนเวียน พร้อมประกาศเป้าหมายการปรับลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอนาคตอย่างชัดเจน รวมถึงแผนในการการลงทุนในปี 2565
เริ่มจากบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือเอ็กโก กรุ๊ป วางแผนขับเคลื่อนธุรกิจสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เพื่อให้สอดรับกับทิศทางพลังงานโลกและแผนพลังงานชาติ โดยตั้งเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี พ.ศ. 2593 และเป้าหมายระยะกลาง จะลดการปล่อยปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้ (Carbon Emission Intensity) 10% ภายในปี 2573
นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทิศทางการลงทุนบริษัทยังโฟกัสการลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลคือก๊าซธรรมชาติ และโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น รวมทั้งมองโอกาสขยายการลงทุนไปสู่ธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวเนื่องหรือธุรกิจใหม่ได้แก่ ธุรกิจเชื้อเพลิงและระบบสาธารณูปโภค และธุรกิจ Smart Energy Solution สอดรับการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมพลังงานเพื่อสร้างความยั่งยืนองค์กรในอนาคต
ในปี2 565 บริษัทได้ตั้งเป้าหมายท้าทายจะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่กว่า 1,000 เมกะวัตต์ เนื่องจากปัจจุบันมีหลายโครงการที่อยู่ระหว่างการเจรจาควบรวมหรือเข้าซื้อกิจการ (M&A) โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน รวมทั้งหาโอกาสการลงทุนโรงไฟฟ้าใหม่เพิ่มเติมใน 8 ประเทศที่เอ็กโก กรุ๊ปมีฐานการผลิตอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นประเทศไทย สปป.ลาว ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน และสหรัฐอเมริกา
ต้นปี 2564 บริษัทได้แสวงหาโอกาสการลงทุนไปไกลถึงสหรัฐอเมริกา จนประสบความสำเร็จในการเข้าไปถือหุ้น 28% ในโรงไฟฟ้าลินเดน โคเจนที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในสหรัฐอเมริกา นับเป็นจุดเริ่มต้นทำให้บริษัทมีโอกาสเข้าไปลงทุนพลังงานหมุนเวียนในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดพลังงานหมุนเวียนที่ใหญ่ที่สุดในโลก จากการศึกษาพบว่าศักยภาพการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนในสหรัฐอเมริกาสูงมาก ประเมินว่าใน 15 ปีข้างหน้า (ปี 2578) สหรัฐอเมริกาจะมีกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นถึง 1,000,000 เมกะวัตต์ หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 70,000 เมกะวัตต์
นับเป็นโอกาสดีที่บริษัทจะเข้าไปลงทุนพลังงานหมุนเวียนในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น นอกเหนือจากการเข้าไปถือหุ้น 17.46% ในบริษัทเอเพ็กซ์ คลีน เอ็นเนอร์ยี โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนขนาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาและก่อสร้างในมือมากกว่า 30,000 เมกะวัตต์
โดยเอ็กโก กรุ๊ป สามารถเข้าทำM&A โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่พร้อมเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ของเอเพ็กซ์ที่เปิดขายออกมา หรือเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนขนาดใหญ่อีกหลายโครงการในอนาคต โดยจะนำความรู้และเทคโนโลยีจากเอเพ็กซ์ไปต่อยอดการลงทุนธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในประเทศอื่นๆ ด้วย
การเข้าไปลงทุนในเอเพ็กซ์ครั้งนี้นับเป็นการลงทุนรูปแบบใหม่ของบริษัทจากเดิมที่บริษัทจะเข้าไปซื้อหรือควบรวมกิจการ (M&A) โครงการแล้วดำเนินการเดินเครื่องผลิตขายไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว แต่ปัจจุบันตลาดพลังงานหมุนเวียนมีการแข่งขันสูง ทำให้กำไรจากการโอเปอเรตโรงไฟฟ้าได้ลดลง ดังนั้นการลงทุนโรงไฟฟ้าอาจไม่ใช่เพียงแค่ขายไฟฟ้าเท่านั้น แต่อาจเป็นการพัฒนาโครงการเมื่อพร้อมเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ (COD) ก็อาจขายโครงการออกไปเพื่อทำกำไร หรือไม่ก็อาจจะเดินเครื่องเองเพื่อขายไฟฟ้าเข้าระบบเหมือนที่ทำอยู่ก็ได้นะ
นายเทพรัตน์ยังกล่าวถึงงบลงทุนในปี 2565 บริษัทตั้งไว้ที่ 30,000 ล้านบาท ใกล้เคียงปีนี้ ซึ่งอยู่ในกรอบงบลงทุน 5 ปี (2564-2568) ที่กำหนดระดับ 1.5 แสนล้านบาท
นอกจากนี้ เพื่อให้บริษัทเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน เอ็กโก กรุ๊ปได้กำหนดทิศทางในการดำเนินธุรกิจเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน "Cleaner, Smarter and Stronger to Drive Sustainable Growth" โดยCleaner จะลงทุนในธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ , Smarter สร้างความมั่นคงในระบบไฟฟ้าและการลงทุนในธุรกิจที่มีการเติบโตสูง ประเภท New S-Curve เพื่อให้ทันต่อเทคโนโลยที่เปลี่ยนแปลง และ Stronger สร้างผลตอบแทนสูงสุดให้แก่ผู้ถือหุ้นด้วยการหาพันธมิตรทางธุรกิจ
ปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 5,959 เมกะวัตต์ แบ่งตามประเภทเชื้อเพลิง ดังนี้ ใช้เชื้อเพลิงก๊าซฯ 54% เชื้อเพลิงถ่านหิน 23% และพลังงานหมุนเวียน 23% โดยวางเป้าหมายในปี 2593 สัดส่วนกำลังผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงถ่านหินจะไม่มีอยู่ในพอร์ต เพราะโรงไฟฟ้าถ่านหินปลดระวางไปโดยไม่มีโครงการใหม่เข้ามาทดแทน ขณะที่โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจะมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้น รวมถึงยังเชื่อมั่นว่าการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล (ก๊าซธรรมชาติ) ก็ยังมีความจำเป็นอยู่เพื่อสร้างเสถียรภาพความมั่นคงด้านไฟฟ้า แต่อย่างไรก็ตาม ก็ต้องมีการใช้เทคโนโลยีในการจัดเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ หรือที่เรียกว่า Carbon Capture, Utilization and Storage (CCUS) ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เพื่อช่วยให้การเดินเครื่องโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิลไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศ บรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก
ราช กรุ๊ป เมินลงทุนโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มอีก
ด้านนางสาวชูศรี เกียรติขจรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (RATCH) กล่าวว่า บริษัทวางเป้าหมายการลงทุน 5 ปี (2564-2568) จะมีสัดส่วนการลงทุนในธุรกิจผลิตไฟฟ้า 80% และอีก 20% เป็นธุรกิจสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยในปี 2568 บริษัทวางเป้าหมายกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 10,000 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงหลักราว 7,500 เมกะวัตต์ และพลังงานทดแทน 2,500 เมกะวัตต์หรือคิดเป็น 25% ของกำลังผลิตไฟฟ้าและจะเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนขึ้นเป็น 40% ในปี 2573
ขณะที่เป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงหลักในปี 2568 แบ่งเป็นการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ 5,500 เมกะวัตต์ และถ่านหิน 2,000 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ ราช กรุ๊ปยืนยันจะไม่มีการลงทุนโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเพิ่มเติมอีกหลังจากปิดดีลเข้าลงทุนโรงไฟฟ้าไพตัน ที่อินโดนีเซียแล้ว ส่งผลให้สัดส่วนผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินของราช กรุ๊ปเดิมอยู่ที่ 888 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้นเป็น 1,900 เมกะวัตต์ ดังนั้นการเติบโตของบริษัทในอนาคตจะหันไปลงทุนพลังงานทดแทนและโรงไฟฟ้าพลังน้ำเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสอดรับกระแสโลกที่ร่วมกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
เมื่อเร็วๆ นี้ ราช กรุ๊ปเพิ่งได้เข้าซื้อหุ้นสามัญ Fareast Renewable Development Pte. Ltd. (FRD) เพิ่มอีก 40% คิดเป็นวงเงิน 54.31 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเทียบเท่าประมาณ 1,789 ล้านบาท จาก Hydro Sumatra International Pte. Ltd. (HSI) ซึ่งเป็นบริษัทที่เข้ามาถือหุ้นแทน Fareast Green Energy Pte. Ltd. เนื่องจากการปรับโครงสร้างภายในกลุ่มบริษัทของผู้ถือหุ้นเดิม ซึ่งเป็นพันธมิตรที่ร่วมดำเนินงานโรงไฟฟ้าพลังน้ำอาซาฮาน 1 ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำแบบน้ำไหลผ่านตลอดปี มีกำลังการผลิต 180 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่บนแม่น้ำอาซาฮาน ในจังหวัดสุมาตราเหนือ ประเทศอินโดนีเซีย
หลังจากการโอนหุ้นดังกล่าวแล้วเสร็จ โครงสร้างผู้ถือหุ้น FRD ทางราช กรุ๊ปจะเข้ามาถือหุ้นใหญ่ 90% ส่งผลให้สัดส่วนการถือหุ้นทางอ้อมของบริษัทในโรงไฟฟ้าพลังน้ำอาซาฮาน 1 เพิ่มขึ้นเป็น 47.89% จากเดิม 26.61% ทำให้รับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าอาซาฮาน 1 เพิ่มขึ้นตามสัดส่วนการถือหุ้น จากช่วง 9 เดือนแรกปี 2564 ราช กรุ๊ปรับรู้รายได้ส่วนแบ่งกำไรจาก FRD เป็นเงิน 185.38 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เป้าหมายในปี 2568 บริษัทรักษากำลังการผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 10,000 เมกะวัตต์ ทดแทนโรงไฟฟ้าที่จะปลอดระวาง จากปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 8,292 เมกะวัตต์ ดังนั้นราช กรุ๊ปต้องมีกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 700 เมกะวัตต์ โดยในปี 2565 บริษัทตั้งงบลงทุนอยู่ที่ 15,000 ล้านบาทเพื่อใช้ลงทุนโครงการต่อเนื่อง รวมถึงการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่อีก 700 เมกะวัตต์ ซึ่งบริษัทยังมีดีล M&A ที่อยู่ระหว่างการเจรจาหลายโครงการ
นางสาวชูศรีกล่าวถึงแหล่งเงินทุนจะมาจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน การกู้ยืม แผนจะออกหุ้นกู้เพื่อรีไฟแนนซ์หุ้นกู้เดิม โดยบริษัทยังมีกรอบในการออกหุ้นกู้ได้อีก 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ รวมทั้งแผนเพิ่มทุนราว 30,000 ล้านบาทให้เสร็จสิ้นภายในปี 2565 เพื่อรองรับแผนปรับโครงสร้างเงินทุนของบริษัท
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมองหาโอกาสการลงทุนในธุรกิจอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสายสีชมพู, โครงการระบบเก็บเงินและการจัดการโครงการมอเตอร์เวย์บางปะอิน-นครราชสีมา (M6) และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) รวมไปถึงการเข้าซื้อหุ้น บมจ.บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ รวมไปถึงธุรกิจบริการสุขภาพ (Healthcare) โดยซื้อหุ้นบริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด (มหาชน) และโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล เวียงจันทน์ ล่าสุดได้รับร่วมกับบริษัทแม่ กฟผ. และเอ็กโก กรุ๊ป จัดตั้งบริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจสตาร์ทอัพด้านนวัตกรรมไฟฟ้าและพลังงาน ซึ่งการลงทุนดังกล่าวช่วยให้บริษัทบรรลุเป้าหมายการมีมูลค่ากิจการ 200,000 ล้านบาทในปี 2568 เป็นองค์กรที่เติบโตอย่างยั่งยืน รับผิดชอบสังคมและสิ่งแวดล้อม