xs
xsm
sm
md
lg

“ส.อ.ท.” แนะภาคการผลิตยกการ์ดสูงรับปี 65 ศก.ผันผวน-กติกาโลกเปลี่ยน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ส.อ.ท.” ประเมินส่งออกไทยปี 2565 ยังโตได้ 5-6% แต่ต้องติดตาม “โอไมครอน” ใกล้ชิด หวังทุกส่วนของไทยตั้งการ์ดสูงป้องกันฝันร้าย ศก. ขณะเดียวกันภาคการผลิตต้องเร่งปรับตัวรับแรงกระแทกในอนาคต ทั้งยุทธศาสตร์จีนว่าด้วย “Made in China 2025” นวัตกรรมที่จะเข้ามา Disrupt เร็วขึ้น รวมถึงกติกากีดกันการค้าโลกว่าด้วยการลดก๊าซเรือนกระจก

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) 
เปิดเผยว่า ปี 2565 เศรษฐกิจไทยยังคงต้องพึ่งพิงการส่งออกเป็นหลักโดยคาดว่าจะมีโอกาสเติบโตระดับ 5-6% จากปี 2564 ที่คาดว่าตลอดทั้งปีจะเติบโตเกินระดับ 15% จากปี 2563 ทั้งนี้เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวและบริการที่ต้องพึ่งพิงนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ยังเดินทางเข้ามาในอัตราต่ำเพราะจีนยังคงไม่เปิดประเทศ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยภาพรวมยังต้องติดตามสถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจโลกใกล้ชิดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนที่เป็นปัจจัยเสี่ยงเพิ่มเข้ามาซึ่งจะยิ่งกดดันต่อทั้งภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวมากขึ้น ดังนั้นทุกภาคส่วนของไทยต้องเข้มงวดในการดูแลและป้องกันการเข้ามาของโอไมครอนการ์ดต้องไม่ตก เพราะหากแพร่เข้ามาได้จะซ้ำเติมเศรษฐกิจที่กำลังจะฟื้นตัวทันที

“หลังการเปิดประเทศ 1 พ.ย. 64 แม้จะเริ่มทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาแต่ก็ยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนได้เล็กน้อย เพราะการท่องเที่ยวเราอาศัยนักท่องเที่ยวจีนค่อนข้างมากแต่จีนยังไม่เปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวออกมาและคาดว่าปีหน้าก็คงจะยังไม่มี แต่ส่งออกยังไปได้ดีอยู่ แต่กระนั้นเศรษฐกิจภายในของไทยเองยังอ่อนแอสะท้อนจากหนี้ครัวเรือนมีมูลค่า 14.27 ล้านล้านบาท คิดเป็น 89.3% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) หากมีโอไมครอนแพร่ระบาดก็จะเป็นฝันร้านของ ศก.ไทยทันที แต่ทั้งนี้ในแง่ ศก.ไทยรัฐยังควรสำรองเงิน 1 ล้านล้านบาทเพื่อเตรียมอัดฉีดไว้ต่อเนื่องโดยเน้นดูแลเศรษฐกิจฐานราก” นายเกรียงไกรกล่าว

ทั้งนี้ แม้ว่าปี 2565 ภาคส่งออกจะยังเติบโตแต่ในระยะยาวมีความเสี่ยงสูง ทุกภาคส่วนต้องเตรียมพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงของกติกาโลกที่ไม่เหมือนเดิม โดยเฉพาะนโยบายของจีนที่มุ่งเดินหน้ายุทธศาสตร์ ‘Made in China 2025’ มีเป้าหมายให้จีนเปลี่ยนรูปแบบจากการผลิตที่เน้นปริมาณสู่การผลิตที่เน้นคุณภาพ โดยมุ่งเน้นสินค้าเทคโนโลยีและนวัตกรรมสูง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่แบรนด์สินค้าของจีนในสายตาผู้บริโภคจากทั่วโลก และมุ่งที่จะผลิตเอง ใช้เอง มากขึ้น ซึ่งฐานการผลิตในไทยที่ส่วนหนึ่งอยู่ในห่วงโซ่การผลิตของจีนจำเป็นต้องเร่งปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น

นอกจากนี้ นวัตกรรมของโลกโตแบบก้าวกระโดด และทุกส่วนกำลังมุ่งไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 แต่ขณะที่การผลิตของไทยนั้นส่วนใหญ่เรายังอยู่ในระบบเก่าที่เพียง 2.0 ไทยจะถูก Disruption จากเทคโนโลยีโดยเฉพาะอุตสาหกรรมส่งออกหลักที่สำคัญ ทั้งยานยนต์ที่โลกกำลังจะก้าวไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) อุตสาหกรรม Hard Disk Drive (HDD) กำลังจะเปลี่ยนไปสู่ Solid State Drive (SSD) ฯลฯ ซึ่งจะบั่นทอนการส่งออกของไทยในอนาคตได้

ขณะเดียวกัน กติกาลดโลกร้อนภายใต้การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2564 หรือ COP26 ที่ประเทศต่างๆ เริ่มเข้มงวดในการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อลดภาวะโลกร้อน ซึ่งมีแนวโน้มที่ประเทศต่างๆ จะออกกติกาในลักษณะกีดกันสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น อาทิ มาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (CBAM) เหล่านี้ล้วนกระทบต่อการส่งออกไทยในอนาคตที่ทุกฝ่ายต้องเร่งรับมือเพราะส่งออกคิดเป็นสัดส่วนหลักของ GDP ไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น