xs
xsm
sm
md
lg

โควิด-19 ฉุดพิมพ์ปฏิทินรับปีใหม่เหงาต่อ ส่งออก-ชอปออนไลน์ดันบรรจุภัณฑ์โตสวนกระแส

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ยอดสั่งพิมพ์ปฏิทิน ไดอารีต้อนรับปีใหม่ 2565 ยังเงียบเหงา เหตุธุรกิจ ห้าง ร้านยังไม่ฟื้นตัวโดยเฉพาะเอสเอ็มอีซึ่งกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ต่อเนื่อง 2 ปี มีเพียงองค์กรเอกชน รัฐวิสาหกิจ ที่ยังคงจัดทำแต่ลดจำนวนลง ยิ่ง “ส.ค.ส.” จบแล้ว คนหันอวยพรออนไลน์แทนหมด แต่บรรจุภัณฑ์โตสวนกระแส ปีนี้คาดโต 5-10% จากปีก่อนเหตุส่งออกพุ่ง คนไทยหันสั่งซื้อของออนไลน์พุ่ง แต่ต้องเร่งปรับตัวรับกติกาลดโลกร้อน

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และในฐานะประธานกิตติมศักดิ์ กลุ่มอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ ส.อ.ท.
เปิดเผยว่า แนวโน้มอุตสาหกรรมการพิมพ์ที่ปกติก่อนสิ้นปีจะมีคำสั่งซื้อ (ออเดอร์) จัดทำปฏิทิน สมุดจดบันทึก (ไดอารี) เพื่อส่งมอบเป็นของขวัญส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ 2565 ยังคงมีทิศทางทรงตัวใกล้เคียงกับปี 2563 เนื่องจากเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ต่อเนื่องมาแล้ว 2 ปี ทำให้ผู้ประกอบการ ห้าง ร้านลดงบประมาณรายจ่ายลง โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ขณะที่องค์กร บริษัท ห้างร้านขนาดใหญ่เอกชน และรัฐวิสาหกิจ ส่วนมากยังคงจัดทำปกติแต่ลดจำนวนลง

“ทิศทางการสั่งทำปฏิทิน ไดอารีปีนี้ก็ยังคงชะลอตัวใกล้เคียงกับปีก่อน และหากเทียบกับปี 2562 ที่เศรษฐกิจไทยยังไม่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากโควิด-19 ก็ถือว่าปรับตัวลดลงราว 10-15% เนื่องจากธุรกิจโดยเฉพาะเอสเอ็มอี ที่เป็นห้างร้าน กระทบค่อนข้างมากแทบจะไม่มีการสั่งพิมพ์ทำปฏิทินเลย ส่วนองค์กรขนาดใหญ่โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจ สถาบันการเงิน ยังสั่งทำเป็นปกติแต่จะลดจำนวนลง ขณะที่การพิมพ์บัตรอวยพรส่งความสุข หรือ ส.ค.ส. ตอนนี้แทบไม่มีแล้วเนื่องจากยุคสมัยเปลี่ยนไปผู้คนหันมาอวยพรผ่านสมาร์ทโฟน ทั้งข้อความ แอปพลิเคชัน ไลน์ เฟซบุ๊ก ฯลฯ แทน” นายเกรียงไกรกล่าว

สำหรับอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ยอมรับว่าแม้ต้องเผชิญความเสี่ยงโควิด-19 ระบาดแต่กลับเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยปี 2564 คาดว่าจะเติบโตระดับ 5-10% จากปี 2563 ทั้งนี้เนื่องจากขยายตัวตามทิศทางการส่งออกของไทยที่ปีนี้คาดว่าจะเติบโต 12-14% ประกอบกับช่วงโควิด-19 คนไทยมีการสั่งซื้อสินค้าผ่านออนไลน์ โดยเฉพาะฟูดดีลิเวอรี (Food Delivery) ที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยสิ่งของที่จัดส่งต้องการบรรจุภัณฑ์ที่เอื้ออำนวยความสะดวกต่อทั้งผู้ส่งและผู้รับ จึงทำให้ตลาดบรรจุภัณฑ์ในส่วนนี้เติบโตอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม ในอนาคตอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์จำเป็นต้องเร่งปรับตัวรองรับกับกติกาของโลก ที่ล่าสุดเวทีประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 (COP26) ณ เมืองกลาสโกว์ ผู้นำแต่ละประเทศส่วนใหญ่ได้กำหนดเป้าหมายการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศชัดเจนมากขึ้น เพื่อเข้าสู่ความสมดุลทางคาร์บอน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ส่งผลให้ธุรกิจที่ส่งออกต้องปรับตัวในการหันไปใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น

“บรรจุภัณฑ์เองก็ต้องปรับตัว ตั้งแต่การใช้พลังงานสะอาดที่เป็นพลังงานหมุนเวียน และใช้วัตถุดิบที่เป็นพลาสติกชีวภาพให้มากขึ้นแทนพลาสติกที่ผลิตจากน้ำมันเชื้อเพลิง เพราะเจ้าของผลิตภัณฑ์ก็เริ่มลดการใช้ตัวอย่างขวดน้ำต่างๆ ในยี่ห้อดังๆ หลายประเทศไม่ติดสลากพลาสติกแต่จะผลิตขวดที่มีอักษรนูนออกมาแทน เพราะโลกจะคุมเข้มเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเฉพาะการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (CBAM) ที่สหภาพยุโรป (อียู) จะนำร่องบังคับใช้ 5 รายการ คือ ปุ๋ย เหล็ก อะลูมิเนียม ไฟฟ้า ซีเมนต์ อีก 2 ปีข้างหน้าก่อนยกระดับใช้เต็มรูปแบบ 1 ม.ค. 69 ระหว่างนี้ผู้ส่งออกไทยต้องปรับตัวรองรับ” นายเกรียงไกรกล่าว

สำหรับไทยกำหนดเป้าหมายมุ่งบรรลุการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net-zero GHG emission) ภายในปี ค.ศ. 2065 ทุกภาคส่วนจำเป็นต้องดำเนินการเพื่อให้สอดรับกับเป้าหมายประเทศและกติกาโลกที่ไม่ใช่เพียงอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ แต่ยังเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมทั้งระบบที่เชื่อมโยงกับการส่งออก
กำลังโหลดความคิดเห็น