xs
xsm
sm
md
lg

ส.อ.ท.เกาะติด 3 ปัจจัยดันต้นทุนพุ่ง วัตถุดิบแพง-แรงงานขาด-บาทอ่อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ส.อ.ท.เกาะติดปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจไทยรับโค้งสุดท้ายปลายปีใกล้ชิด หวั่นบั่นทอนการผลิตและแรงซื้อประชาชนหลังต้นทุนการผลิตพุ่งต่อเนื่องทำให้ราคาสินค้าทยอยขยับขึ้น เหตุวัตถุดิบแพง จากระดับราคาพลังงานและค่าขนส่งที่สูง แถมม็อบรถบรรทุกหยุดวิ่งอาจซ้ำเติม แรงงานต่างด้าวขาดหนัก 8 แสนคนหลังเปิดประเทศที่อาจทำให้ธุรกิจสะดุด และค่าเงินบาทที่อ่อนค่ากระทบนำเข้าเครื่องจักร วัตถุดิบ พลังงานสูงขึ้นอีก

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
เปิดเผยว่า ส.อ.ท.กำลังติดตาม 3 ปัจจัยเสี่ยงต่อภาคการผลิตและเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิดเนื่องจากจะกระทบต่อต้นทุนการผลิตในภาพรวมที่ต้องปรับตัวสูงขึ้นและสะท้อนไปยังราคาสินค้าที่อาจบั่นทอนแรงซื้อประชาชนที่ลดลงได้ ประกอบด้วย 1. ต้นทุนวัตถุดิบทั้งสินค้าโภคภัณฑ์ การเกษตรที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นส่งผลให้ราคาสินค้ากลางน้ำและปลายน้ำทยอยปรับราคา 2. แรงงานต่างด้าวขาดแคลนจากผลกระทบของโควิด-19 และ 3. อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทที่ยังมีแนวโน้มอ่อนค่าและผันผวนที่กระทบต่อการนำเข้าเครื่องจักร วัตถุดิบและพลังงาน

ปัจจุบันจากระดับราคาพลังงานทั้งน้ำมัน ถ่านหิน ฯลฯ ตลาดโลกที่เพิ่มสูงทำให้วัตถุดิบที่ใช้พลังงานปริมาณมากปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น เหล็ก อะลูมิเนียม ปิโตรเคมี ฯลฯ เช่นเดียวกับภาคขนส่งที่เกี่ยวข้องกับภาคการผลิตและเกษตรได้รับผลกระทบจากระดับราคาน้ำมันที่สูงเช่นกัน และล่าสุดต้องติดตามกรณีที่สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทยได้ดีเดย์หยุดวิ่งรถขนส่งสินค้าทั่วประเทศแล้ว 20% และวันที่ 16 พฤศจิกายนนี้จัดกิจกรรม truck power 2 ปิดล้อมเมือง เพื่อยกระดับกดดันรัฐบาลให้กำหนดราคาดีเซลเหลือลิตรละ 25 บาทเป็นเวลา 1 ปีว่าจะกระทบมากน้อยเพียงใด

สำหรับปัญหาแรงงานต่างด้าวที่ไทยขาดแคลนเนื่องจากผลกระทบโควิด-19 ที่ผ่านมาทำให้แรงงานส่วนหนึ่งได้เดินทางกลับประเทศตนเองแล้วบางส่วนยังไม่ได้กลับมาขณะที่ภาคการส่งออกที่ใช้แรงงานเข้มข้น เช่น อาหาร ขยายตัวต่อเนื่องจากยอดส่งออกที่เติบโต ทำให้แรงงานส่วนนี้ต้องการเพิ่มขึ้น และเมื่อไทยเปิดประเทศทำให้แรงงานในภาคการผลิตและท่องเที่ยว บริการต้องการเพิ่มเข้ามาอีก ซึ่งประเมินว่าแรงงานต่างด้าวที่ขาดแคลนรวมจะอยู่ราว 8 แสนคน (ภาคผลิต 3-5 แสนคน และบริการท่องเที่ยวอีก 3 แสนคน) ดังนั้นหากแรงงานเข้ามาไม่ทันความต้องการก็จะกระทบต่อการดำเนินธุรกิจได้ กระทรวงแรงงานจำเป็นต้องเร่งรัดการนำเข้าแบบถูกกฎหมายให้ทันต่อสถานการณ์ที่ไม่เพียงตอบสนองความต้องการของภาคธุรกิจแต่ยังสกัดกั้นไม่ให้เกิดการนำเข้าแรงงานเถื่อนอีกด้วย

ส่วนภาวะอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทของไทยล่าสุดอยู่ในกรอบ 32.70-32.90 บาทต่อเหรียญสหรัฐ โดยมีแนวโน้มอ่อนค่าลงจากทิศทางเงินเหรียญสหรัฐที่แข็งค่าสุดในรอบปี ซึ่งค่าเงินบาทยังมีทิศทางผันผวนจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เผชิญภาวะเงินเฟ้อและต้องติดตามโควิด-19 ช่วงฤดูหนาวที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจโลกปลายปีนี้ อย่างไรก็ตาม บาทอ่อนค่านั้นมีทั้งผลดีและผลเสีย กล่าวคือ ผลดีต่อภาคการส่งออกที่จะเป็นแต้มต่อให้ไทยมากขึ้น แต่ต้องไม่ลืมว่าภาคส่งออกของไทยนั้นส่วนใหญ่ล้วนเป็นบริษัทข้ามชาติ ขณะที่ผลเสียคือการนำเข้าเครื่องจักร วัตถุดิบ และรวมถึงพลังงานจะสูงขึ้นอีกเพราะไทยยังต้องพึ่งพาการนำเข้าเป็นหลักโดยเฉพาะพลังงาน

"ราคาพลังงานตลาดโลกที่สูง วัตถุดิบที่แพงหากต้องเจอการนำเข้าก็ยิ่งเป็นสองเด้งจากบาทที่อ่อนค่า ภาพรวมบาทอ่อนจึงมีทั้งผลดีและเสียต่อเศรษฐกิจไทยจึงต้องให้สมดุลดีสุด อย่างไรก็ตาม หลังรัฐเปิดประเทศ 1 พ.ย. รับท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยทำให้บรรยากาศคึกคักขึ้นแต่ต่างชาติอาจยังมาได้จำกัดแม้แต่ปีหน้าเพราะจีนที่เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติหลักของไทยยังไม่มา และสิ่งสำคัญต้องควบคุมโควิด-19 ให้ดีๆ" นายเกรียงไกรกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น