ส.อ.ท.หวังเปิดประเทศ 1 พ.ย.รับต่างชาติท่องเที่ยวช่วยเป็นแรงหนุนขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเพิ่มโค้งสุดท้ายปี 2564 และหากไทยผ่านพ้นโดยไม่มีการกลับมาระบาดของโควิดระลอก 5 ศก.ไทยปี 2565 จะขยายตัวแรง แนะรัฐดูแลมาตรการคุมเข้มทุกส่วนไม่การ์ดตกป้องโควิด-19 แนะปิดจุดเสี่ยง “แรงงาน” เถื่อนทะลักเข้าตามชายแดน หนุนทำพื้นที่แซนด์บ็อกซ์แก้เบ็ดเสร็จ
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงการเปิดประเทศ 1 พ.ย.เพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครบโดสเที่ยวไทยโดยไม่กักตัวว่า มาตรการนี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโค้งสุดท้ายของปี 2564 และจะมีผลต่อเนื่องไปยังปี 2565 เนื่องจากการท่องเที่ยวที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 อย่างหนักจนทำให้เศรษฐกิจไทยเหลือเพียงภาคการส่งออกที่ขับเคลื่อนเป็นหลักเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ตัวแปรสำคัญที่จะทำให้ไทยผ่านพ้นจุดต่ำสุดของวิกฤตเศรษฐกิจไปได้มากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับมาตรการควบคุมและป้องกันไวรัสโควิด-19 ที่ต้องไม่กลับมาสู่การแพร่ระบาดรอบ 5 อีกครั้ง
“เศรษฐกิจไทยปีนี้ไม่ติดลบแน่นอนและจะเติบโตได้ในระดับ 0-1% แต่ต้องระวังคือการ์ดต้องไม่ตกเพราะขณะนี้เริ่มมีสายพันธุ์ใหม่ เช่น เดลตาพลัส แม้ว่าไทยจะฉีดวัคซีนมากขึ้นแต่อย่าลืมดูประเทศอื่นๆ ก็เริ่มกลับมาระบาดใหม่อีกครั้ง เช่น สิงคโปร์ที่ฉีดครบ 2 เข็มกว่า 80% ก็ยังระบาดหนักอีกรอบ โดยการท่องเที่ยวระยะแรกต่างชาติคงยังเข้ามาได้ไม่เต็มที่แต่จะค่อยๆ มากขึ้นในปี 2565 ดังนั้น หากไทยผ่านไปได้ไม่มีการกลับมาระบาดใหม่ของโควิด-19 จนต้องล็อกดาวน์ ปี 2565 เศรษฐกิจไทยจะไปต่อและเติบโตได้อย่างต่ำ 4-5% และอาจสูงกว่านั้น โดยจะมีกลไกจากท่องเที่ยวมาเสริมภาคส่งออกมากขึ้น” นายเกรียงไกรกล่าว
สำหรับมาตรการป้องกันโควิด-19 ทุกภาคส่วนต้องยังคงดำเนินการด้วยความเข้มข้นและต้องไม่การ์ดตกควบคู่กับรัฐต้องเร่งระดมการฉีดวัคซีนให้ครบ 2 เข็มโดยเร็ว สิ่งหนึ่งที่ต้องติดตามให้มากขึ้นคือการป้องกันการลักลอบเข้ามาของแรงงานผิดกฎหมายตามแนวชายแดนไทย เนื่องจากการเปิดประเทศจะทำให้ความต้องการแรงงานต่างด้าวในภาคธุรกิจและบริการจะมีสูงขึ้น โดยคาดว่าขณะนี้มีการขาดแคลนแรงงานระดับล่างหรือเข้มข้นประมาณ 3-5 แสนคน จึงทำให้ขบวนการค้าแรงงานเถื่อนเห็นช่องว่างในการนำเข้ามา ซึ่งปัญหานี้จะมาพร้อมกับการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่รุนแรงเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในพื้นที่จ.สมุทรสาคร
ทั้งนี้ ส.อ.ท.ได้เคยนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาแรงงานผิดกฎหมายไปยังกระทรวงแรงงานแล้ว โดยเห็นว่าควรจัดพื้นที่สำหรับการนำเข้าแรงงานตามแนวชายแดน หรือแซนบ็อกซ์ (Sandbox) เช่น แซนบ็อกซ์แม่สอด จ.ตาก โดยมีระบบจับคู่ (Matching) ระหว่างนายจ้างกับแรงงานว่าต้องการคุณสมบัติแบบใด เมื่อจัดหามาได้ก็มาพักไว้ที่แคมป์หรือศูนย์บริเวณชายแดนโดยมีระบบฉีดวัคซีนให้เรียบร้อยเพื่อผ่านระบบคัดกรองและมีการจัดส่งรถไปยังโรงงานให้ถึงที่โดยไม่แวะพักใดๆ ซึ่งไม่เพียงแต่จะป้องกันโควิด-19 แต่ยังทำให้ไทยมีข้อมูลแรงงานที่เป็นแรงงานถูกกฎหมายเพิ่มอีกด้วย
“ช่วงโควิด-19 ทำให้แรงงานต่างด้าวกลับภูมิลำเนา และเมื่อเปิดประเทศความต้องการจะทยอยเพิ่มขึ้น แน่นอนว่าไทยจำเป็นต้องใช้เพราะคนไทยไม่ทำงานระดับล่างที่เป็นแรงงานเข้มข้น ยิ่งโควิด-19 แรงงานไทยเมื่อตกงานกลับภูมิลำเนาไปทำเกษตรจำนวนไม่น้อยที่ไม่ย้อนกลับมาสู่แรงงานภาคอุตสาหกรรมและบริการ และอีกส่วนยังไปทำอาชีพอิสระมากขึ้น เช่น ขับรถส่งอาหาร Grab Food ฯลฯ ซึ่งแรงงานต่างด้าวมีการยอมรับอย่างเปิดเผยว่ามีการจ่ายค่าหัวนำเข้ามาสูงถึง 1.8-2 หมื่นบาทต่อหัว และเชื่อว่าจะทะลุไปเกิน 2 หมื่นบาทต่อหัวหลังเปิดประเทศ รัฐจึงต้องเข้มงวดกับขบวนการค้าแรงงานเหล่านี้เพราะเราจะได้ไม่คุ้มเสียเช่นที่เกิดขึ้นกับสมุทรสาคร” นายเกรียงไกรกล่าว