xs
xsm
sm
md
lg

เปิดจอ อสมท รีโมตในมือ “รศ.เกษมศานต์ โชติชาครพันธุ์”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หลังจากที่คณะกรรมการ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ในการประชุมครั้งที่ 13/2564 วันที่ 27 ตุลาคม 2564 ได้มีมติเลือกตั้ง รองศาสตราจารย์ เกษมศานต์ โชติชาครพันธุ์ ผู้อำนวยการใหญ่ เข้ารับตำแหน่งกรรมการแทน นายเขมทัตต์ พลเดช และเพื่อให้เป็นไปตามข้อบังคับของบริษัท จึงให้เรียกว่ากรรมการผู้อำนวยการใหญ่ตั้งแต่วันที่ 27 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป

คงเป็นที่สนใจของคนในวงการสื่อสารมวลชนไม่มากก็น้อยว่าทำไม “รศ.เกษมศานต์ โชติชาครพันธุ์” ถึงสนใจเข้ามาบริหารใน บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ซึ่งถือเป็นองค์กรที่มีความเก่าแก่กว่า 70 ปีและเป็นองค์กรที่ถูกท้าทายเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงมาอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงของสื่อทั้งโลกใหม่กับสื่อโลกเก่าในยุคดิจิทัลดิสรัปชัน

เขาคิดอย่างไร เตรียมตัวอย่างไร และอะไรที่ทำให้มั่นใจว่าจะเข้ามาบริหารองค์กรแห่งนี้ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ได้

“อสมท เป็นองค์กรที่ดี และมีแอสเสตในตัวที่มีคุณค่าอย่างมากโดยเฉพาะสำนักข่าวไทย แต่ในช่วงที่ผ่านมาองค์กรเราอาจจะดูชะลอไปบ้าง แต่เราไม่ต้องรีแบรนด์ สิ่งสำคัญตอนนี้ที่ต้องทำคือ อสมท ต้องการรีเฟรชชิ่งก่อนเพื่อทำให้กลับมาดูสดชื่นกระปรี้กระเปร่า เพื่อเข้าสู่โลกยุคใหม่ที่เราต้องสปีด (Speed) มากขึ้นกว่าเดิม ส่วนปีหน้านอกจากสปีดแล้ว เราต้อง สปรินต์ (Sprint) ให้เต็มที่ด้วย” รศ.เกษมศานต์ โชติชาครพันธุ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กล่าว


ขณะที่ผู้ริหารใหม่ท่านนี้ย้ำด้วยว่า ในปีหน้า (2565) อสมท จะยังคงไม่มีโครงการสมัครใจลาออกอีกแล้ว จากปัจจุบันที่มีประมาณ 900 กว่าคน จากเดิมที่มีประมาณ 1,400 กว่าคน

การเข้ามาของรองศาสตราจารย์ เกษมศานต์ในช่วงเกือบ 2 เดือนที่ผ่านมา มาถึงวันนี้เขาได้เก็บข้อมูล ศึกษา พบปะ เพื่อหามุมมองและข้อมูลต่างๆ วิเคราะห์จุดแข็ง-จุดอ่อนของ อสมท ประเมินว่า อะไรที่ต้องเร่งทำก่อน อะไรที่ต้องเร่งแก้ไข

โดยได้ประกาศวิสัยทัศน์ให้ อสมท เป็น “The Year of Trusted News & Smart Entertainment” ตอกย้ำความเป็นผู้นำเสนอเนื้อหาที่น่าเชื่อถือ เที่ยงตรง รวดเร็ว และตรวจสอบได้ โดย อสมท จะขยับไปสู่ Communication Solution Provider ผ่าน Content / Product & Service ที่มี Solution พร้อมตอบโจทย์ให้คำปรึกษาแก่ลูกค้า โดยผนึกความร่วมมือกับ Strategic Partner เพื่อเติบโตไปด้วยกัน มีกลยุทธ์สำคัญที่เสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจควบคู่ไปกับการสร้างธุรกิจใหม่ในอนาคต คือ Reinforce - Refresh - Refine

เขาอธิบายว่า “Reinforce เสริมจากสิ่งเดิมที่มีอยู่ให้ดียิ่งขึ้น ด้วย Strategic Partner ยกระดับพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อร่วมสร้างเป้าหมายไปด้วยกัน เสริม Content ที่ Wise & Clean มุ่งนำเสนอเนื้อหาที่สร้างสรรค์ เป็นประโยชน์ต่อสังคม ถูกต้องตรวจสอบได้ Refresh มุ่งสู่ The Trusted Platform และ Smart Entertainment และ Refine ต่อยอด Assets เดิมเพื่อสร้างรายได้ มีเป้าหมายก้าวเข้าไปสู่ “หุ้นยั่งยืน” ภายในปี 2568 ที่มีกำไรต่อเนื่อง ตามแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนตามหลักสากล (ESG - Environmental (สิ่งแวดล้อม) Social (สังคม) และ Governance (ธรรมาภิบาล)) เพื่อสร้างโอกาสให้บริษัทเป็นที่สนใจจากผู้ลงทุนที่มีแนวคิดด้านการลงทุนอย่างยั่งยืน”

เขากล่าวด้วยว่า ปี 2564 นี้เป็นปีแห่งการเซอร์ไววัล (SURVIVAL) ถือเป็นปีที่เรา ต้องรอดต้องผ่านไปให้ได้ก่อนจากสถานการณ์ต่างๆ ส่วนปีหน้า(2565) คือปีสเตเบิล (Stable) คือเป็นปีแห่งความมั่นคงขององค์กร เพื่อก้าวเข้าสู่ปี 2566-2567 ที่จะเป็นปีแห่งความยั่งยืน (Sustainability) คือเติบโตแบบยั่งยืนไปพร้อมกัน

อย่างไรก็ตาม จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของ อสมท ที่มีทิศทางที่ดีขึ้นจึงมั่นใจว่าจะบรรลุเป้าหมายในปี 2567 ได้
แต่โลกที่ไร้พรมแดนในขณะนี้การจะเดินหน้าไปสู่ความสำเร็จได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีพันธมิตร ซึ่ง อสมท จะเปิดกว้างทุกรูปแบบ และขณะนี้ก็มีการเจรจาอยู่อย่างน้อย 2-3 ราย แต่ยังไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นธุรกิจอะไร ค่ายไหน


*** รุกหนักคอนเทนต์ ต่อยอดลุย OTT

คอนเทนต์ข่าวและอื่นๆ เป็นอีกเรื่องที่ต้องมีการพัฒนาต่อเนื่องและต่อยอดในการสร้างรายได้ โดยแนวทางหลักคือ การเพิ่มพื้นที่ข่าว, การปรับวิธีการจัดการ การเพิ่มรูปแบบข่าว การเพิ่มพันธมิตร ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เพื่อการแปรรูปคอนเทนต์หรือสินค้าที่เรามองไปต่อยอดให้กับองค์กร สังคมชุมชน และเสริมรายได้ให้แก่องค์กร

ผังรายการใหม่ของช่อง 9 MCOT HD เดือนมกราคม 2565 ยังตอกย้ำความเป็น Trusted Content พัฒนารายการข่าว,  รายการบันเทิง และ Refreshing Brand ส่งรายการใหม่ลงเต็มผังในช่วง Prime Time จัดเต็มรายการข่าว 80 ชั่วโมง/สัปดาห์ เน้น Inform และ Verify นำสาระที่มีประโยชน์อ้างอิงและเชื่อถือได้มานำเสนอ เสริมความสนุกด้วย Smart Entertainment ที่ได้ทั้งความบันเทิงและสาระความรู้ไปพร้อมๆ กัน กับ Content ชั้นนำจากพันธมิตรบันเทิงระดับแถวหน้าของประเทศ เช่น We TV, MONO ฯลฯ

“อสมท ต้องการต่อยอดคอนเทนต์ที่มีอยู่ไปในช่องทางออนไลน์ และแพลตฟอร์ม OTT ซึ่งเป็นตลาดที่คึกคักมาก เพราะผู้ผลิต รวมถึงสถานีโทรทัศน์หลายรายปรับกลยุทธ์มาให้ความสำคัญต่อ OTT มากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงในสถานการณ์ทีวีดิจิทัลอยู่ในช่วงขาลงจากพฤติกรรมผู้ชมที่เปลี่ยนแปลงไป และจากสถานการณ์โควิด-19 คาดว่าตลาด OTT ในประเทศไทยมีมูลค่าสูงถึง 10,000 ล้านบาท”

ที่ผ่านมา อสมท ก็เคยส่งซีรีส์วาย Boy Love ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมากชิมลางลง OTT ทั้งในประเทศ เช่น AISPLAY, WE TV ฯลฯ และต่างประเทศ เช่น GagaOOLala, U-Next รวมถึงการเป็นตัวแทนจำหน่ายลิขสิทธิ์ Content ในตลาดต่างประเทศ เริ่มเจาะกลุ่มตลาดในภูมิภาคอาเซียน เพื่อนำไปออกอากาศผ่านเครือข่าย Free TV และ Platform OTT ปัจจุบันเริ่มมีรายได้จากการขยาย Content ไปใน Platform ดังกล่าว คาดว่าจะเป็นอีกช่องทางที่สร้างรายได้ในระยะยาวให้องค์กร


*** ประมูลคลื่นวิทยุ-ปรับสัดส่วนรายได้ธุรกิจ
รศ.เกษมศานต์กล่าวว่า สำหรับธุรกิจวิทยุนั้น อสมท เตรียมร่วมประมูลคลื่นวิทยุ ตามที่สำนักงาน กสทช.ประกาศว่าจะมีขึ้นในช่วงต้นปี 2565 ในระหว่างนี้มุ่งสร้าง Community ผู้ฟังผ่าน New Platform Online: The Trusted มุ่งเน้น Content ที่ชัดเจน ตรงประเด็น มีสาระขยายรูปแบบการให้บริการเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นหลังการประมูลคลื่นวิทยุ คาดว่าในปีหน้ารายได้จากธุรกิจวิทยุจะมีแนวโน้มดีขึ้น ประกอบกับจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด -19 ทำให้เริ่มมีการปรับรูปแบบการจัดกิจกรรมจาก On ground ไปสู่ Online ทำให้สามารถสร้างสรรค์กิจกรรมในรูปแบบใหม่ๆได้หลากหลายและควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่ายได้ดี

ปัจจุบัน อสมท มีคลื่นวิทยุบริหารจัดการรวม 60 สถานี แบ่งเป็น ในต่างจังหวัด 53 สถานี และในกรุงเทพฯ อีก 6 สถานี อีก 1 สถานีคือคลื่น 105.5 รอการคืนคลื่นให้เจ้าของคลื่น

ส่วนธุรกิจการให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัล ล่าสุดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ได้รับอนุญาตจากสำนักงาน กสทช.ให้ทดลอง ส่งสัญญาณออกอากาศฯ ภายใต้ชื่อ “ช่อง T Sports 7 ช่องหมายเลข 7” โดยออกอากาศผ่านโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัลของ อสมท แบบความคมชัดปกติ (Standard Definition) จะเริ่มสะท้อนรายได้เข้ามาในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา

ปัจจุบัน อสมท มีผู้ใช้บริการโครงข่ายฯ จำนวน 4 ช่องรายการ ซึ่งเป็นช่องรายการโทรทัศน์ดิจิทัลแบบความคมชัดสูง (High Definition) 2 ช่องรายการ ได้แก่ ไทยรัฐทีวี ช่องหมายเลข 32 และ MCOT HD ช่องหมายเลข 30 และช่องรายการโทรทัศน์ดิจิทัลแบบความคมชัดปกติ (Standard Definition) 2 ช่องรายการ คือ สถานีโทรทัศน์รัฐสภา ช่องหมายเลข 10 และ ช่อง T Sports 7 ช่องหมายเลข 7

“ธุรกิจนี้ถือเป็นอีกธุรกิจสำคัญที่เป็นแหล่งรายได้ให้กับ อสมท เนื่องจากเป็นรายได้ที่ไม่ได้แปรผันไปตามการบริโภคของประเทศเหมือนธุรกิจสื่อโทรทัศน์ และวิทยุ” บอสใหม่ อสมท ระบุ

ธุรกิจเดิม สร้างรายได้จากธุรกิจใหม่
“อสมท เร่งปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจไปสู่ธุรกิจใหม่ (New Business Model) ลงสนามในธุรกิจ TV Home Shopping ในชื่อ Shop Mania ด้วยการใช้ช่อง 9 MCOT HD เป็นช่องทางหลักในการจำหน่ายสินค้า เพราะเป็น Real Time Platform โดยมีสินค้าหลักคือสินค้ากลุ่มสุขภาพความงาม และเครื่องใช้ในบ้าน

ในอนาคตมีแผนที่จะเพิ่มความหลากหลายของประเภทสินค้า รวมถึงเตรียมผลิตสินค้ากลุ่มสุขภาพและความงามภายใต้แบรนด์ของตัวเอง เพื่อออกจำหน่ายทาง Shop Mania และขยายช่องทางโปรโมตด้วยการผสานทุกแพลตฟอร์มของ อสมท เพื่อให้ครอบคลุมและเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภค


*** เร่งเครื่องดันแผนพัฒนาที่ดินแปลงงาม
สำหรับการต่อยอด Assets เช่น ทรัพย์สินและอสังหาริมทรัพย์ (ที่ดิน) ที่มีทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ ย่านรัชดา-พระราม 9 ประมาณ 50 ไร่, หนองแขม ประมาณ 40 ไร่, บางไผ่ ประมาณ 40 ไร่ และในภูมิภาค จะดำเนินการด้วยความรอบคอบภายใต้กฎหมาย ข้อบังคับต่างๆ และคำนึงถึงผลประโยชน์ที่ผู้ถือหุ้นจะได้รับเป็นสำคัญ คาดว่าในไตรมาส 2 ปี 2565 จะเริ่มเห็นความชัดเจนของการพัฒนาที่ดินย่านรัชดา- พระราม 9 ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ในหลายรูปแบบ ทั้งการพัฒนาเอง การร่วมทุน
รวมถึงธุรกิจองค์ความรู้เพื่อสังคมที่สามารถต่อยอดจาก MCOT ACADEMY และชัวร์ก่อนแชร์ ฯลฯ โดยคาดหวังว่าจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากธุรกิจใหม่ได้เป็นอย่างดี

ขณะที่หากมองในมุมของผลประกอบการของ อสมท นั้น หัวเรือใหญ่ อสมท กล่าวว่า “จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของ อสมท ที่มีทิศทางที่ดีขึ้นและทำกำไรอย่างต่อเนื่อง น่าจะส่งสัญญาณที่ดีต่อจากนี้ไป”

โดย อสมท รายงานงบการเงินล่าสุดของไตรมาส 3 สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2564 ผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ในช่วงไตรมา3ปี2564มีกำไรต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน เป็นกำไรสำหรับ งวด 3 เดือน (ก.ค.-ก.ย. 2564) จำนวน 21 ล้านบาท และกำไรสำหรับงวด 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย. 2564) มีกำไรสุทธิ 100 ล้านบาท เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากช่วงเดียวกันของปี 2563 (ขาดทุนสุทธิ 372 ล้านบาท) เป็นผลจากความสามารถในการหารายได้ที่เพิ่มขึ้นจากธุรกิจโทรทัศน์ และธุรกิจดิจิทัลและธุรกิจใหม่ที่มีการปรับปรุงการบริหารต้นทุน มุ่งเน้นการบริหารค่าใช้จ่ายด้านคอนเทนต์ โดยร่วมมือกับพันธมิตรชั้นนำ ทำให้โครงสร้างค่าใช้จ่ายเปลี่ยนแปลงและเห็นผลในปี 2564 จากค่าใช้จ่ายที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

ขณะที่ผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2564 สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2564 บมจ.อสมท มีกำไรต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน โดยมีรายได้รวมทั้งสิ้น 389 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 22 จากช่วงเดียวกันของปี 2563 โดยมีกำไรสำหรับงวด จำนวน 43 ล้านบาท เปลี่ยนแปลงดีขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 คิดเป็นร้อยละ 123

หากมองย้อนกลับไปดูที่ผลประกอบการของ อสมท พบว่าปีนี้ถือเป็นปีที่เริ่มต้นดีขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด เพราะแม้ว่ารายได้จะลดลงตามสภาพของเศรษฐกิจและผลกระทบหนักจากโควิด-19 ทว่าสามารถทำกำไรได้ดีกว่าที่ผ่านมาที่มีรายได้สูงแต่ยังขาดทุนอยู่ทุกปี




กำลังโหลดความคิดเห็น