xs
xsm
sm
md
lg

TRUE – DTAC ควบรวมลดต้นทุน ดันราคาหุ้นพุ่งเกิน 30% - รายได้ทะลุ 2 แสนล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เกมส์ควบรวม “ทรู คอร์ปอเรชั่น-โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น” ราคาหุ้นยังพอมี Upside ภาพรวมช่วยลดต้นทุนลงทุนและงบลงทุนที่ซับซ้อน อีกทั้งผนึกกำลังร่วมกัน Turnaround สู่การมีรายได้รวมกัน 2.17 แสนล้านบาท ทำให้กลายเป็นยักษ์ใหญ่ตัวใหม่ของวงการแซงหน้า “ แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส ”ที่ครองตำแหน่งนี้มายาวนาน “ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ” มองการควบรวมช่วยพัฒนาเทคโนโลยีพาไทยแข่งขันในเวทีโลก ส่วนแบ่งการตลาด 2 รายรวมเป็น 52% ดันบริษัทใหม่กลายเป็นเบอร์หนึ่ง

ยังไม่ทันจะรวมตัวเพื่ออยู่รอด ตอนนี้ดูเหมือนหลายแรงกดดันเริ่มถาโถมเข้าใส่ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (TRUE) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (DTAC) กันต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเด็นข้อเสียเปรียบของผู้บริโภคที่จะเกิดขึ้นจากการควบรวมของ 2 บริษัทยักษ์โอเปอเรเตอร์มือถืออันดับ 2 และ 3 ของประเทศ จนทำให้กลายเป็นยักษ์ใหญ่ตัวใหม่ของวงการแซงหน้าพี่ใหญ่อย่าง บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (ADVANC)ที่ครองตำแหน่งนี้มายาวนาน

สิ่งที่ทำได้ต่อจากนี้ คือต้องนั่งดูความสำเร็จในการรวบรวมหุ้นของ บริษัท ซิทริน โกลบอล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทใหม่ที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อดำเนินการเรื่องดังกล่าวโดยเฉพาะ ซึ่ง “ซิทริน โกลบอล” จะประกาศทำคำเสนอซื้อ(เทนเดอร์ ออฟเฟอร์)หุ้นTRUE ที่ราคา 5.09 บาท/หุ้น และ หุ้น DTAC ที่ราคา 47.76 บาทต่อหุ้น

โดยผู้ถือหุ้นต้องนำหุ้น TRUEและDTAC มาแลกกับหุ้นของบริษัทใหม่ที่อัตรา 1 หุ้น DATCแลกหุ้นบริษัทใหม่ได้ 24.53775 หุ้น และ 1 หุ้นTRUEแลกหุ้นบริษัทใหม่ได้ 2.40072 หุ้น ถึงจะทำให้ “ซิทริน” กลายเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทใหม่ ดังนั้นตอนนี้จึงไม่สามารถสรุปได้ว่า “ซิทริน” จะถือหุ้นในแต่บริษัทสัดส่วนเท่าใด เพราะต้องรอจนกว่าการตั้งโต๊ะรับซื้อหุ้นจะแล้วเสร็จ

สำหรับ บริษัท ซิทริน โกลบอล จำกัด จดทะเบียนเมื่อ 9 ก.ค. 2564 มีทุนจดทะเบียน 100,000 บาท แบ่งออกเป็น 100 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 1,000 บาท ทั้งนี้ มีผู้ถือหุ้นเป็นคนไทย 2 คน ได้แก่ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด สัดส่วน 50% และ นายศุภชัย เจียรวนนท์ สัดส่วน 1% และมีบริษัท เทเลนอร์ เอเชีย พีทีเอ แอลทีดี (Telenor Asia Pte LTD.) สัดส่วน 49% มีที่ตั้งสำนักงานที่ 313 อาคารซี.พี.ทาวเวอร์ ถ.สีลม แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร

โดยมีกรรมการบริษัท 4 คน ได้แก่ นายนพปฎล เดชอุดม ประธานคณะผู้บริหาร ด้านความยั่งยืนองค์กร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ,นายเมธี วินิชบุตร รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) นายลาส์ เอริค เทลแมนน์ เคยได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) และนายยอร์เกน คริสเตียน อาเรนซ์ รอสทรับ

ด้วยเหตุผลในการควบรวมกิจการคือ เครือซีพี และกลุ่มเทเลนอร์ จะพิจารณาสร้างความร่วมมืออย่างเท่าเทียมกัน หรือ Equal Partnership เพื่อสนับสนุนให้ TRUE ทรูและ DTAC ปรับโครงสร้างธุรกิจไปสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี หรือ Technology Company ที่สามารถอยู่รอด และแข่งขันในโลกธุรกิจอีก 20 ปีข้างหน้าได้ต่อไป

ควบรวมสู่การสร้างรายได้2.17 แสนล้านบาท

สิ่งที่น่าสนใจคือ การควบรวมดังกล่าว จะนำไปสู่การมีรายได้รวมกัน 2.17 แสนล้านบาท กำไรก่อนหักค่าใช้จ่าย 8.3 หมื่นล้านบาท พร้อมกับมุมมองที่ทั้งสองฝ่ายเห็นตรงกัน เป็นการปรับโครงสร้างสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ที่จะก้าวเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) ของเทคโนโลยีในระดับภูมิภาค โดยโทรคมนาคม หรือ Telecom จะยังคงเป็นธุรกิจหนึ่งของโครงสร้าง และจะต้องพัฒนาธุรกิจเพิ่มเติมในส่วนที่มุ่งเน้นด้านเทคโนโลยี รวมไปถึงปัญญาประดิษฐ์ ระบบคลาวด์เทคโนโลยี ไอโอที อุปกรณ์อัจฉริยะ เมืองอัจฉริยะ ดิจิทัลมีเดียโซลูชันของไทย

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI แสดงความเห็นว่าการลดจำนวนผู้ประกอบการ ซึ่งการควบรวมจะช่วยพัฒนาเทคโนโลยีพาไทยแข่งขันในเวทีโลก เตรียมพร้อมส่วนแบ่งการตลาดอาจจะเป็นจริงในแง่มุมตลาดโทรคมนาคม แต่ถ้าเป็นตลาดโทรศัพท์มือถือ ส่วนแบ่งการตลาด 2 รายรวมเป็น 52% บริษัทแห่งใหม่ (ซิทริน) จะกลายเป็นเบอร์หนึ่งของตลาด

ช่วยลดภาระต้นทุน

อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวยัง มีบางส่วนมองในแง่ดีต่อการควบรวมกิจการระหว่าง TRUE และ DTAC ว่าจะทำให้ การแข่งขันในอุตสาหกรรมดีขึ้น โดยเฉพาะขนาดบริษัทใหม่จะใกล้เคียง ADVANC ทั้งคลื่นความถี่ในมือ โครงข่าย และจำนวนลูกค้า ขณะที่เป้าหมายของบริษัทใหม่จะเน้นไปที่การขยายไปยังธุรกิจใหม่ที่จะเปลี่ยนการแข่งขันไปสู่การนำเสนอความแตกต่างในการบริการ ขณะเดียวกันภาระการลงทุนจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงช่วยลดต้นทุนและงบลงทุนที่ซ้ำซ้อน

ส่วนประเด็นที่ตลาดโอเปอร์เรเตอร์จะเหลือคู่แข่งขันแค่ 2 ราย และอาจทำให้มีการแข่งขันทางธุรกิจน้อยลง จนเกิดผลกระทบต่อผู้บริโภค หลายฝ่ายยอมรับว่า สถานการณ์ดังกล่าวย่อมต้องเกิดขึ้นจริง แต่ในแง่ของตลาดทุน การควบรวม 2 กิจการขนาดใหญ่นี้ จะนำพามาซึ่งมาร์เกตแคปขนาดใหญ่ซึ่งของบริษัทใหม่ (ซิทริน) ที่สูงถึง 2.06 แสนล้านบาท โดยมาจาก TRUE ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 1.58 แสนล้านบาท และ DTAC ที่ระดับ 1.06 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ หากประเมินมูลค่ากิจการหลังควบรวมหากอิงการประเมินโดยใช้วิธี EV/EBITDA คาดว่ามูลค่ากิจการบริษัทใหม่ภายใต้สมมติฐาน EBITDA ตกปีละ 9.4 หมื่นล้านบาท มูลค่าบริษัทใหม่น่าจะอยู่ราว 3.0-3.48 แสนล้านบาท คิดเป็นมูลค่าหุ้น TRUE ได้ในช่วง 5.2-6.0 บาท ส่วน DTAC อยู่ที่ 53.4-61.8 บาท แม้จะถูกกดดันด้วยประเด็นที่คลางแคลงใจว่ากลุ่ม “เทเลเนอร์” อาจอาศัยช่วงเวลานี้ถอนทุน และออกจากประเทศไทยก็ตาม

นั่นเพราะปัจจุบันการลงทุนขยายโครงข่ายใช้งบที่ค่อนข้างสูง หากร่วมกันลงทุนจะสามารถประหยัดได้ถึงปีละ 1 หมื่นล้านบาท ขณะที่ฐานลุกค้าในนั้นสูงขึ้น นอกจากนี้ TRUE ได้รับประโยชน์เพิ่มเติมจากการควบรวมครั้งนี้ นั่นคือตัวเลขภาระหนี้ของบริษัทที่ลดลง จากที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยปีละประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาท ไม่เพียงเท่านี้ บริษัทใหม่ (ซิทริน) จะมีความแข็งแกร่งในเชิงโครงสร้างทั้งมาร์เก็ตแชร์และคลื่นความถี่สั้น-กลาง ทำให้บริษัทใหม่มีข้อได้เปรียบในการลดต้นทุนได้ง่ายขึ้น

นอกจากนี้ ด้วย DTAC มีผู้ถือหุ้นรายย่อยจำนวน 29,611 ราย ส่วน TRUE มีผู้ถือหุ้นรายย่อยจำนวน 84,929 ราย รวม 2 บริษัทมีผู้ถือหุ้นรายย่อย 114,540 ราย หลายฝ่ายต่างเชื่อว่าผู้ถือหุ้นทั้งหมดจะได้ประโยชน์จากการควบรวมครั้งนี้ แต่ผู้ถือหุ้น DTAC น่าจะได้ประโยชน์มากกว่า เพราะแนวโน้มผลประกอบการ บริษัทฯ น่าจะอยู่ในช่วงขาลง อย่างไรก็ตามการควบรวมดังกล่าว อาจทำให้ราคาหุ้นมีโอกาสปรับตัวลง ซึ่งเป็นผลจากความสามารถในการแข่งขันลดลง

ล่าสุด "ฟิทช์ เรทติ้งส์" ให้เหตุผลว่า แผนการเจรจาควบรวมกิจการระหว่าง TRUE กับ DTAC เกิดจากความจำเป็นที่ผู้ประกอบการโทรคมนาคม ต้องมีขนาดธุรกิจที่ใหญ่ขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการที่มีขนาดธุรกิจที่เล็กกว่า ซึ่งรวมถึง DTAC และ TRUE จะต้องเผชิญความท้าทายจากการลงทุนก่อสร้างโครงข่าย 5G ในขณะที่ยังมิไม่ได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนดังกล่าวในทันที

ในขณะเดียวกันผู้ประกอบการโทรคมนาคมรายใหญ่สุด อย่าง ADVANC มีฐานะการเงินที่แข็งแกร่งในการรองรับการลงทุน 5G และได้รับประโยชน์จากขนาดธุรกิจและฐานลูกค้าที่มีขนาดใหญ่ จนมีส่วนแบ่งทางการตลาดตามรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่สูงถึง 46% ขณะที่ TRUE อยู่ที่ 32% และ DTAC อยู่ที่ 22% (แต่หลังควบรวม “ซิทริน” จะมีมาร์เกตแชร์เพิ่มขึ้นถึง 54%)

นอกจากนี้ ฟิทช์ เชื่อว่า การควบรวมกิจการจะช่วยให้ค่าบริการในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมมีเสถียรภาพมากขึ้น และสนับสนุนการทำกำไร ในระยะยาว การแข่งขันด้านราคาสำหรับการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปี 2564 ยังคงไม่รุนแรงมากนัก

ที่ผ่านมา DTAC เผชิญกับความยากลำบากในการแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดกลับคืนมา ท่ามกลางการแข่งขันที่อยู่ในระดับสูง การถือครองคลื่นความถี่ที่ด้อยว่า และความครอบคลุมของโครงข่ายที่น้อยกว่าคู่แข่ง นอกจากนี้ ยังจะต้องมีการจัดหาคลื่นความถี่เพิ่มเติม โดยเฉพาะคลื่น mid-band 3.5GHz เพื่อรองรับการขยายเครือข่าย 5G ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ขณะที่ TRUE ได้รับแรงกดดันจากกระแสเงินสดที่อ่อนแอ จากการลงทุนที่อยู่ในระดับสูง ในขณะที่ส่วนแบ่งทางการตลาดมีการเพิ่มขึ้นช้าลง โดยคาดว่ากระแสเงินสดสุทธิของ TRUE น่าจะยังคงเป็นลบในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า

ด้าน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หยวนต้า (ประเทศไทย) ประเมินทิศทาง การควบรวมกิจการในครั้งนี้ว่า เลือก TRUE เป็นหุ้นเด่นของกลุ่ม เพราะภาพหลังการรวมกิจการจะทำให้เป็นผู้นำตลาดตัวจริงและเข้าสู่รอบการ Turnaroundเต็มตัว ขณะที่ปัจจุบันราคาหุ้นยังต่ำกว่า Tender Offer พอสมควร ขณะที่ DTAC เข้าใกล้ Tender Offer แล้ว โดยหากรวมสำเร็จราคาเหมาะสมมี Upside อีกราว 20%

พร้อมคงน้ำหนักการลงทุน “มากกว่าตลาด” แม้ราคาหุ้นในกลุ่ม Operators ปรับขึ้นร้อนแรงหลัง DTAC และ TRUE ประกาศศึกษาความเป็นไปได้ในการรวมกิจการแบบ Amalgamation จนใกล้เคียงราคาเหมาะสม แต่หากธุรกรรมประสบความสำเร็จ Multiple ของกลุ่มมีโอกาสถูกปรับเพิ่มขึ้นจาก Synergy ในระยะยาวและการแข่งขันที่ลดลง

ขณะที่ บล.เคทีบีเอส (ประเทศไทย) ประเมินว่า คาดระดับการแข่งขันในอุตสาหกรรมจะลดลง แต่ยังคงน้ำหนักการลงทุนอุตสาหกรรม ICT “Neutral” แต่มีมุมมองเป็นบวกมากขึ้นต่อทิศทางการแข่งขันที่คาดว่าจะผ่อนคลายลงในอนาคต โดยราคา tender มี upside จากราคาปัจจุบันของ TRUE/DTAC อยู่ราว7% และ 6% และมีโอกาสเพิ่มเติมในการลด CAPEX และวางกลยุทธ์เพื่อเพิ่ม ARPU ในอนาคต แต่ยังคงชอบ ADVANC ราคาเหมาะสมที่ 220 บาทต่อหุ้น แม้มีโอกาสที่ส่วนแบ่งตลาดในแง่ของsubscriber จะลงมาอยู่ที่ 2 แต่ด้วยการแข่งขันที่ลดความรุนแรงลงจะทำให้ศักยภาพในการทำกำไรกลับมาเติบโตอีกครั้ง

โดยปัจจุบัน TRUE และ DTAC มีต้นทุนบริการและค่ำใช้จ่ายในการขายและบริหาร (ตัด regulatory fee และค่าเสื่อมฯ) ราว 1 แสนล้านบาทต่อปี ดังนั้นหากเกิด synergy benefit และลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้อย่างน้อยเพียง 10% ในระยะยาว จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับมาร์เกตแคปอีกประมาณ 1 แสนล้านบาท ซึ่งจะทำให้ potential market capรวมใหม่อยู่ที่ 3.2 แสนล้านบาท ถือเป็น implied EV / EBITDA (โดยใช้โครงสร้าง EBITDA เดิมก่อน synergy benefit) ในระดับ 7 เท่าใกล้เคียงกับADVANC นับเป็นระดับ valuation ที่น่าสนใจ

ส่วน บล.เอเซีย พลัส ระบุว่า ADVANC จะได้ประโยชน์ในเรื่องนี้ และมี Upside จาก โครงสร้างอุตสาหกรรมที่ดีขึ้น ขณะที่ราคาหุ้น YTD ปรับตัวขึ้นเพียง 18.7% จึงเชื่อว่าเป็นอีกตัวเลือกที่น่าสนใจ เช่นกัน คงแนะนํา "ซื้อ" ตั้งเป้ากำไรปี 64 ที่ 2.75 หมื่นล้านบาท

TRUE อาจถูกทบทวนจากกลุ่ม CP

แม้น้ำหนักเห็นชอบการควบรวมกิจการของ TRUE และ DTAC ในแวดวงตลาดทุนจะมีอยู่สูง แต่ในด้านข้อเสียของการควบรวมเป็นเรื่องที่ผู้ลงทุนจำเป็นต้องพิจารณาด้วยเช่นกัน โดยมีการประเมินว่าข้อเสียจากดีลการควบรวมกิจการ สำหรับ TRUE คาดว่าจะถูกทบทวนการสนับสนุนจากเครือเจริญโภคภัณฑ์ (กลุ่มซีพี) ลดลง ภายหลังมีกลุ่มทุนอื่นเข้ามาถือหุ้นในธุรกิจโทรคมนาคมของกลุ่มบริษัท ส่วน DTAC คาดว่าจะเสียประโยชน์จากภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้น รวมถึงคดีความประกอบงบการเงินที่จะเพิ่มขึ้นตามจำนวนคดีความประกอบงบการเงินของ TRUE

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาในเรื่องอำนาจเด็ดขาดในเชิงกลยุทธ์ที่จะลดลง ภายหลัง TRUE และ DTAC ประกาศตั้ง บริษัท ซิทริน โกลบอล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนที่ทั้ง 2 บริษัทถือหุ้นในสัดส่วนเท่ากัน 50 : 50 ซึ่งอาจส่งผลให้การตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ หลังจากนี้จะต้องเป็นความเห็นที่ทั้ง 2 บริษัทเห็นพ้องกัน เบื้องต้นคาดว่า บริษัท ซิทรินฯ จะเข้าเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทใหม่ที่อยู่ระหว่างจัดตั้ง

ราคาหุ้นTRUE-DTAC พุ่งอย่างต่ำ 30%

โดยสรุป การควบรวมกิจการของ TRUE และ DTAC ในระยะสั้น คาดว่าปัจจุบันราคาหุ้นปรับขึ้นมาอยู่ในระดับที่เหมาะต่อการซื้อขายทำกำไร ส่วนระยะยาวมองว่าระดับราคาของ TRUE และ DTAC ที่ “ซิทริน”จะทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ จะกลายเป็นฐานราคา (ราคาฟลอร์) ในอนาคต โดยมีโอกาสที่ราคาหุ้นทั้ง 2 บริษัทจะปรับขึ้นจากระดับปัจจุบันอีกอย่างน้อย 30% นั่นเพราะนักลงทุนในตลาดจะให้พรีเมี่ยมจากโครงสร้างผู้เล่นในอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงปัจจัยหนุนจากความพร้อมลงทุนในธุรกิจอื่น ๆ ในอนาคต

พร้อมกันนี้หลายฝ่าย ยังเทน้ำหนักให้ ADVANC มากกว่าบริษัทใหม่ที่จะเกิดจากการควบรวมกิจการ นั่นเพราะการมีจำนวนเลขหมายมากขึ้นของบริษัทใหม่ที่จะมีอยู่ในมือ ไม่สามารถการันตีได้ว่าจะช่วยสร้างรายได้และกำไรได้มากกว่า ADVANC แม้สัดส่วนจำนวนลูกค้าจะน้อยกว่าการควบรวมกิจการของ 2 บริษัทคู่แข่งขันทางธุรกิจ นั่นเพราะ จำนวนลูกค้าที่อยู่ในมือของ ADVANC สามารถสร้างมูลค่าในเชิงรายได้มากกว่า 2 เครือข่าย จากศักยภาพการบริหารธุรกิจซึ่งปัจจุบันมีความหลากหลายมากขึ้น และมีฐานะทางการเงินที่แข็งกว่าอีก 2 บริษัท เห็นได้จากขนาดมาร์เกตแชร์ที่ยังดีกว่า 2 บริษัทคู่แข่งขันรวมตัวกัน

นอกจากนี้ หากพิจารณาจากด้านตัวเลขทางการเงิน และผลการดำเนินงาน พบว่า ADVANC มีความเข็มแข็งมากกว่า อาทิ มาร์เกตแคปที่สูงกว่า มาร์เกตแคปที่ 2 บริษัทควบรวมกันกว่า 2.4 เท่า รวมถึงตัวเลขรายได้ และกำไรสุทธิจากการดำเนินธุรกิจอยู่ในระดับสูงกว่า และได้การยอมรับจากนักลงทุนมากว่า เรียกว่า แม้ TRUE กับ DTAC จะโดดเด่นและได้รับประโยชน์จากการควบรวมกิจการอย่างเต็มตัว แต่การควบรวมในครั้งนี้ก็ยังส่งอานิสงส์มาให้ ADVANC โดยไม่จำเป็นต้องขยับตัว แต่ธุรกิจการแข่งขันที่กำลังจะเปลี่ยนไป จะช่วยเพิ่มโอกาสและการเติบโตให้แก่บริษัทที่มากขึ้นกว่าในที่ผ่านมา

ทั้งนี้ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ราคาหุ้น DTAC ปิดที่ 45.25 บาท ลดลง 0.75 บาทหรือ 1.63% มูลค่าซื้อขาย 661.49 ล้านบาท ระหว่างวันราคาหุ้นปรับขึ้นไปสูงสุดที่ 46 บาท ต่ำสุดที่ 45 บาท ขณะที่หุ้น TRUE ปิดที่ 4.66 บาท ลดลง 0.06 บาทหรือ 1.27 % มูลค่าซื้อขาย 2,209.66 ล้านบาท ระหว่างวันราคาหุ้นปรับขึ้นไปสูงสุดที่ 4.72 บาท ต่ำสุดที่ 4.64 บาท และ ADVANC ปิดที่ 205 บาท ลดลง 5 บาท หรือ 2.38 % มูลค่าซื้อขาย 1,680.50 ล้านบาท ระหว่างวันราคาหุ้นปรับขึ้นไปสูงสุดที่ 210 บาท ต่ำสุดที่ 205 บาท






กำลังโหลดความคิดเห็น