xs
xsm
sm
md
lg

NT ยังแกร่ง รวมจุดแข็งควบรวม TOT+CAT พร้อมสู้ในตลาดสีเลือด ย้ำผูกขาดยาก เพราะมี OTT เป็นพี่ใหญ่ เสนอโซลูชันสมาร์ทซิตี้ต่อยอด 5G

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เป็นที่น่าน้อยใจ ที่นักวิชาการ และผู้ที่อยู่ในวงการโทรคมนาคมหลายคนมองข้ามบริษัท NT ในการเป็นผู้เล่นสำคัญของธุรกิจโทรคมนาคมในประเทศไทย โดยมักจะมองเห็นผู้เล่นบางรายในตลาด เช่น เอไอเอส ทรู และ ดีแทค และมองข้าม NT และผู้เล่นอีกมากมายที่เป็นรูปแบบของ OTT (Over the top) แต่หากดูในรายละเอียดแล้วจะพบว่าบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน)’ หรือ ‘NT’ เป็นบริษัทที่มีความแข็งแกร่ง และไม่มีอะไรที่ด้อยไปกว่าคู่แข่ง

ธุรกิจโทรคมนาคมวันนี้เป็นตลาดสีเลือด (Red Ocean) ที่ชิ้นปลามัน หรือรายได้ส่วนใหญ่ ตกไปอยู่กับผู้เล่นดิจิทัลที่เป็นบริษัทต่างประเทศ ที่เข้ามาทำรายได้ในประเทศไทย หากพิจารณาผู้เล่นที่เป็นท่อส่งสัญญาน NT มีศักยภาพการให้บริการด้านโทรคมนาคมเหมือนกับคู่แข่งในตลาดรายอื่น ๆ อย่างบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง, บริการโทรศัพท์มือถือของทั้ง TOT และ CAT รวมกันยังสู้ทั้ง 3 รายใหญ่ที่ดูเหมือนจะทิ้งห่างด้าน Connectivity แต่หากพูดถึงโอกาสด้านการสร้าง มูลค่าเพิ่ม Value added บนเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ จะเห็นได้ว่า ค่ายมือถือทุกราย เสียเปรียบ OTT และยังไม่แตกต่างกันมากนัก เพราะต่อไปรายได้ไม่ได้อยู่ที่โครงข่าย แต่อยู่ที่นวัตกรรมที่ให้บริการบนเครือข่าย โดยลูกค้าตลาดโมบายของ TOT Mobile มีอยู่ 1.8 แสนราย ส่วน My By CAT อยู่ที่ 2.5 ล้านราย เมื่อนำมาบริหารจัดการร่วมกันในฐานะ NT จะมีฐานลูกค้าอยู่ที่ 2.68 ล้านราย ส่วน อินเทอร์เน็ตบ้าน TOT มีลูกค้าประมาณ 1.5 ล้านราย ส่วน CAT มีเพียง 2 แสนราย แต่โจทย์สำคัญคือการปรับตัว เพื่อส่งมอบนวัตกรรม และบริการใหม่ ๆ นอกเหนือจากการให้บริการเชื่อมต่อเครือข่าย


สำหรับกรณีการควบรวมแล้วจะเกิดการแข่งขันน้อยลงหรือไม่ ตอบได้เลยว่า ตลาดโทรคมนาคมเป็นตลาดสีเลือด ที่กำลังถูกผู้เล่นดิจิทัลจากต่างประเทศมาดิสรัปต์ หากผู้ให้บริหารไม่ปรับตัว ไม่ปรับโครงสร้าง ย่อมแข่งขันกับผู้เล่น OTT ในตลาดไม่ได้ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) (TOT Public Company Limited) เป็นรัฐวิสาหกิจประเภทสื่อสารโทรคมนาคมในสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยทีโอทีนั้นได้แปรรูปมาจาก องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยได้ควบรวมกับ ‘บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)’ หรือ ‘CAT Telecom Public Company Limited’ ก็เป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในรูปบริษัทมหาชน ก็เพื่อให้มีความคล่องตัว ผนึกกำลังเพื่อให้แข่งขันได้ อย่ามองข้าม NT ที่มีทรัพยากรไม่แพ้ใคร เดิมที TOT มีทรัพยากร อาทิเช่นโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสง 1.5 ล้านคอลต่อกิโมเลตร, โครงการเคเบิลใต้น้ำ 2 ระบบ, ท่อร้อยสายใต้ดิน 32,173 ไมโครดักส์ต่อกิโลเมตร, เสาโทรคมนาคม 13,445 ต้น, ศูนย์ข้อมูล 4 แห่ง และมีพนักงาน ทั้งหมด 13,026 คน รวมกับ CAT โครงการเคเบิลใต้น้ำ 6 ระบบ อยู่ระหว่างสร้าง 1 ระบบ, โครงการเคเบิลใยแแก้วนำแสง 0.7 ล้านคอลต่อกิโลเมตร, เสาโทรคมนาคม 18,159 ต้น, ท่อร้อยสาย 5,677 ไมโครดักส์ต่อกิโลเมตร และศูนย์ข้อมูล 9 แห่ง และพนักงาน 5,117 คน ดังนั้น การไม่นับ NT เป็นผู้แข่งขันนั้นถือว่าน่าน้อยใจเป็นอย่างยิ่ง


นอกจากนี้ในมุมของคลื่น การควบรวมของ NT ทำให้มีคลื่นในมือถึง 600 MHz ได้แก่ จาก 6 ย่านความถี่ ได้แก่ 700 MHz, 26 GHz, 850 MHz, 2100 MHz, 2300 MHz และ 900 MHz ซึ่งไม่น้อยหน้าค่ายใด ๆ และ ในส่วนของสาขาให้บริการเมื่อรวมกันทำให้มีถึง 536 แห่งทั่วประเทศ ดังนั้น ไม่ควรมองข้าม NT เป็นผู้เล่นที่สำคัญ แต่คู่แข่งตัวจริงของ NT คงไม่ใช่ เอไอเอส ทรู หรือ ดีแทค แต่จะแข่งขันกับ Disrupter อย่างไร เช่น การโทรผ่าน Line การโทรต่างประเทศผ่าน Skype การส่งข้อความผ่าน WhatsApp หรือแม้กระทั่งการประชุมผ่าน Zoom ดังนั้นการนำเสนอบริการแบบโซลูชัน ถือว่ามีความสำคัญมาก
ด้าน น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ กรรมการและรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ NT กล่าวว่า การนำเสนอบริการโซลูชัน ถือว่าสำคัญมาก โดยล่าสุด NT ก็ได้ลงนาม เอ็มโอยู AJA เป็นเวลา 3 ปี นำโซลูชันของอาลีบาบา ให้บริการเทคโนโลยี 5G ร่วมกับคลื่น 26 GHz ปั้นเมืองสำคัญสู่สมาร์ท ซิตี้ คาดเริ่มที่จังหวัดท่องเที่ยวของไทยก่อน เพื่อให้บริการ Smart Energy, Smart Economy, Smart Living, Smart Environment, Smart Governance, Smart People และ Smart Mobility ซึ่งโซลูชันของอาลีบาบา เป็นโซลูชันหรือแพลตฟอร์มสำหรับใช้งานร่วมกับเทคโนโลยี 5G ที่มีการใช้งานจริงแล้วในประเทศจีนโดยมีมากกว่า 200 โซลูชัน NT ต้องนำมาประยุกต์หรือปรับใช้ให้เหมาะสมกับประเทศไทย นอกจากนี้ NT ยืนยันว่า เรายังคงดำเนินการเรื่อง 5G ตลอดเวลา อย่างโครงการที่บ้านฉาง จ.ระยอง มีการดำเนินการต่อเนื่องเพิ่มเติมจากการติดตั้งกล้อง CCTV จะเริ่มขยับไปสู่โซลูชันด้านการท่องเที่ยวด้วย”

สรุปได้ว่า วันนี้เห็นคนไทยปรับตัวแข่งขันหรือพาร์ทเนอร์กับต่างชาติก็เพื่อให้แข่งขันได้ ซึ่งไม่ง่าย การเเข่งขันของโอเปอเรเตอร์ทั้ง 3 ราย ที่ต้องยืนสู้กับคู่แข่งที่ไม่ต้องจ่ายภาษี ไม่ต้องมีค่าใบอนุญาต แต่ได้รายได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ทำให้หนักใจแทนบริษัทไทย เพราะนอกจากต้องแข่งกับเทคโนโลยี แข่งกับ OTT แล้วยังต้องแข่งขันกับเวทีที่สะดวกกับผู้เล่นต่างชาติที่ให้บริการบนฟ้ามาหารายได้ ในขณะที่บริษัทไทยมีภาระและการลงทุนพะรุงพะรัง งานนี้คงไม่มีการแข่งขันน้อยลง แต่จะมีแต่คำถามที่ว่า จะเหลือผู้เล่นไทยในเวทีนี้ได้กี่คนต่างหาก


กำลังโหลดความคิดเห็น