NT โชว์ผลงาน 5G จับมือพันธมิตรลงโครงการระดับประเทศ อาสาสร้างเมืองสู่สมาร์ท ซิตี ชูจุดเด่นมีโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมครบทุกด้านทั้งใต้ดิน บนดิน และอากาศ สามารถผสานเน็ตเวิร์กและทดแทนกันได้จากความได้เปรียบหลังการควบรวมองค์กร ทำให้ลูกค้าใช้งานได้หลากหลายแบบไม่สะดุด
*** เปิดวิสัยทัศน์ 5G ด้วยคลื่น 26 GHz
“นโยบายของรัฐบาลคือการนำพาประเทศสู่ยุคดิจิทัล โดยเฉพาะเรื่องการนำเทคโนโลยี 5G มาทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งในภาคอุตสาหกรรมและบริการประชาชน บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจด้านโทรคมนาคมของประเทศจึงเป็นหน่วยงานสำคัญในการขับเคลื่อนรัฐบาลและประเทศไทยไปสู่ยุคดิจิทัล” น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ NT กล่าว
หลังการควบรวมบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กับบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เป็น NT ทำให้บริษัทมีทรัพยากรโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมที่มีมูลค่ามากถึง 300,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 1.เสาโทรคมนาคมรวมกันมากกว่า 25,000 ต้นทั่วประเทศ 2.เคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศ (ซับมารีน เคเบิล) 9 ระบบ 14 POP เชื่อมต่อไปยังทุกทวีปทั่วโลก 3.ถือครองคลื่นความถี่หลักเพื่อให้บริการด้านโทรคมนาคมรวม 6 ย่านความถี่ มีปริมาณ 600 MHz 4.ท่อร้อยสายใต้ดินมีระยะทางรวม 4,000 กิโลเมตร 5.สายเคเบิลใยแก้วนำแสง 4 ล้านคอร์กิโลเมตร 6.ดาต้า เซ็นเตอร์ 13 แห่งกระจายอยู่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ และ 7.ระบบโทรศัพท์ระหว่างประเทศที่เข้าถึงได้จากทุกเลขหมายในโลก รวมถึงมีศูนย์บริการทั่วประเทศกว่า 500 แห่ง
แน่นอนว่าเรื่องคลื่นความถี่ 5G ที่ทั้ง 2 บริษัทประมูลมาได้นั้น คือ คลื่นความถี่ 700 MHz และคลื่นความถี่ 26 GHz บริษัทไม่ได้อยู่เฉยในการเดินหน้าแผน 5G แต่อย่างใด โดยคลื่นความถี่ 700 MHz ยังอยู่ในขั้นตอนการเจรจาหาพันธมิตรกับผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ (โอเปอเรเตอร์) ทั้ง 3 รายได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เพื่อหาโซลูชันในการทำงานที่ดีที่สุด และยืนยันว่าบริษัทไม่ได้มีแผนจะทิ้งคลื่น 700 MHzแต่อย่างใด
แต่คลื่นที่สามารถทำ 5G ได้ทันทีคือ คลื่น 26 GHz เพราะเป็นคลื่นความถี่ที่เหมาะสมในการให้บริการเฉพาะพื้นที่ที่ต้องการใช้งาน ดังนั้นทันทีที่บริษัทชำระค่าคลื่น 26 GHz แล้วเสร็จ บริษัทจึงได้ดำเนินการเซ็นสัญญากับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เพื่อสร้างบ้านฉางโมเดล จ.ระยอง ให้เป็นเมืองต้นแบบอัจฉริยะสร้างชุมชนให้ปลอดภัยด้วยระบบ CCTV และโครงการล่าสุด กับการจับมือกับ บริษัท เอเจ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ AJA บริษัทตัวแทนจำหน่ายของ ‘อาลีบาบา คลาวด์’ ในการนำโซลูชัน 5G ของอาลีบาบามาให้บริการในโครงการต่างๆ ของประเทศ
*** อาสาเป็นผู้ให้บริการปั้นเมืองสู่สมาร์ท ซิตี
เนื่องจากประเทศไทยต้องการส่งเสริมให้แต่ละจังหวัดเป็นสมาร์ท ซิตีในแต่ละด้านที่เป็นจุดเด่นของจังหวัดตนเอง ซึ่งในเงื่อนไขที่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) หน่วยงานในสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) มีการกำหนดคุณสมบัติ 7 ด้าน ของการเป็นสมาร์ท ซิตี ได้แก่ 1.สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) 2.การเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) 3.การดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living) 4.พลเมืองอัจฉริยะ (Smart People) 5.พลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) 6.เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) และ 7.การบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance)
ดังนั้น ด้วยเทคโนโลยี 5G บนคลื่น 26 GHz ของ NT รวมถึงโครงข่ายด้านโทรคมนาคมที่มีครบและมากที่สุด ทำให้ NT มีความได้เปรียบในการผสานเทคโนโลยีเพื่อสร้างเมืองอัจฉริยะ NT จึงมองหาพันธมิตรที่มีโซลูชันหรือแพลตฟอร์ม 5G ซึ่งใช้งานจริงแล้วมีประสิทธิภาพจึงเป็นที่มาของการจับมือลงนามความร่วมมือกับ AJA เป็นเวลา 3 ปี ในการนำโซลูชันของอาลีบาบาที่มีกว่า 200 โซลูชันและใช้งานจริงในประเทศจีนมาประยุกต์ให้เข้ากับประเทศไทย
ขณะที่นายพิชัย ปัญจสังข์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AJA กล่าวว่า บริษัทเป็นตัวแทนจำหน่ายของอาลีบาบา คลาวด์ จึงสามารถนำโซลูชันมาใช้งานร่วมกันกับเทคโนโลยี 5G ของ NT ได้ สำหรับขอบเขตความร่วมมือระหว่างกัน คือ NT ตกลงจัดหาคลื่นความถี่ 5G และอำนวยความสะดวกอื่นใดในการเชื่อมต่อคลื่นความถี่ 5G ย่าน 26 GHz กับเครือข่าย NT เพื่อให้อุปกรณ์ต่างๆ สามารถทำงานโดยคลื่น 5G ย่าน 26 GHz อย่างราบรื่น
ส่วนขอบเขตการดำเนินงาน AJA รับผิดชอบในการดำเนินการพัฒนาระบบปฏิบัติการด้าน สมาร์ท ซิตีให้ตอบสนองต่อความต้องการใช้งานในด้านเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้นเพื่อให้เข้าถึงประชาชนและได้รับประโยชน์มากยิ่งขึ้น ให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ การบริการ และอื่นๆ ที่ได้พัฒนาและใช้ได้ผลมาแล้วในหลายประเทศในด้านสมาร์ท ซิตี เพื่อเป็นต้นแบบในการพัฒนาประเทศต่อไป ตกลงเป็นผู้นำเสนอโครงการสมาร์ท ซิตีในทุกด้านให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อให้หน่วยงานนั้นๆ ได้รับประโยชน์สูงสุดจากโครงการในแต่ละหมวด รวมทั้งให้ข้อมูลแก่หน่วยงานราชการตามที่กฎหมายกำหนด และตกลงเป็นผู้นำเทคโนโลยีที่ได้รับจากอาลีบาบา มาพัฒนาให้บรรลุเป้าหมายโครงการ
น.อ.สมศักดิ์ กล่าวว่า นอกจากกลุ่มเป้าหมายคือเมืองที่ต้องการทำสมาร์ท ซิตีแล้ว ความร่วมมือดังกล่าวยังมุ่งเน้นไปยังเมืองท่องเที่ยว ภาคอุตสาหกรรมและมหาวิทยาลัยต่างๆ ด้วย ควบคู่กับการพัฒนาบุคลากรสตาร์ทอัปในพื้นที่ หากพื้นที่บางส่วนมีการปูโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมเดิมของทั้ง กสท โทรคมนาคม และ ทีโอทีเดิมอยู่แล้ว สามารถอัปเกรดและต่อยอดได้ โดยคาดว่าจะเริ่มทำโครงการร่วมกับจังหวัดที่เป็นเมืองท่องเที่ยวก่อนเช่น พัทยา เชียงใหม่ โดย NT ได้เดินหน้าเจรจากับผู้ว่าราชการจังหวัดและองค์การบริหารส่วนจังหวัดหลายแห่งแล้ว
“ที่ผ่านมาเราทำ 5G ตลอด เราไม่ได้หยุดนิ่ง จากบ้านฉางโมเดล เราต่อยอดจากเรื่องความปลอดภัยจากระบบกล้อง CCTV ไปสู่เมืองท่องเที่ยวด้วย ดังนั้น เราจึงเน้นการนำคลื่น 26 GHz มา สร้างบริการ 5G เพราะเป็นเทคโนโลยีที่เหมาะกับการทำ 5G เฉพาะพื้นที่ ซึ่งแต่ละพื้นที่ต่างต้องการการใช้งานที่ไม่เหมือนกัน บางจุดต้องการหุ่นยนต์เสิร์ฟอาหาร บางจุดต้องการการรักษาทางไกล ดังนั้น แพลตฟอร์มเป็นอีกเรื่องที่สำคัญที่ต้องพิสูจน์หรือมีการใช้งานมาแล้วว่าใช้งานได้จริง” น.อ.สมศักดิ์ กล่าวและย้ำว่า เพราะ 5G คือการนำเทคโนโลยีไปพัฒนาพื้นที่ให้อัจฉริยะขึ้น ดังนั้น NT จึงเดินเกมรุกโครงการต่างๆ ร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจ ซึ่งในภาพใหญ่หากพื้นที่อัจฉริยะขึ้น เศรษฐกิจก็ย่อมเติบโตขึ้นตามไปด้วย