xs
xsm
sm
md
lg

รัฐ-เอกชน ถก 5G ห้วง 2 ปีที่ผ่านมา แนะความยั่งยืนต้องร่วมทำงานทุกภาคส่วน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ภาครัฐและเอกชนถกประเด็นสร้าง 5G สู่เทคโนโลยีที่ยั่งยืนขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ ไทยแลนด์ 4.0 หลายฝ่ายเห็นพ้องนำ 5G นำพาองค์กรและประเทศสู่ยุคดิจิทัล 

***รัฐเร่งสปีดสร้างแพลตฟอร์มรับ 5G


นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส)  กล่าวในงานสัมมนา“Redefine Businesses With 5G” จัดโดย Techsauce Media ร่วมกับ อีริคสัน ประเทศไทย ในหัวข้อ "Driving 5G National Capabilities 5G กับการขับเคลื่อนอนาคตประเทศไทย" ว่า ประเทศไทยประสบความสำเร็จในฐานะเป็นประเทศแรก ๆ ของโลกที่มีการจัดสรรงบประมาณและวางเครือข่ายเทคโนโลยี 5G ซึ่งจะเป็นจิกซอว์ชิ้นสำคัญของการวางโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลให้กับประเทศไทย สิ่งที่สำคัญคือต้องยกระดับเทคโนโลยี 5G สู่การเป็น The Best 5G ด้วย โดยต้องทำให้เกิดความเชื่อมั่นในโครงข่าย 5G ของประเทศไทยให้ได้เพื่อนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้เต็มรูปแบบและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง

ขณะที่ในส่วนของภาครัฐโดยกระทรวงดีอีเอสเองก็กำลังมุ่งมั่นในการสร้างเครือข่าย 5G ครอบคลุมทั่วประเทศและใช้งานได้จริงผ่านบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ควบคู่กับการสร้างแพลตฟอร์มในการให้บริการซึ่งกระทรวงดีอีเอสมีแผนในการผลักดันในหลายแพลตฟอร์ม อาทิ ดิจิทัล เพย์เม้นท์  ซึ่งประเทศไทยนับเป็นประเทศอันดับต้นๆในภูมิภาคที่คุ้นเคยและใช้งานการจ่ายเงินออนไลน์จำนวนมาก,ดิจิทัล ไอดี การยืนยันตัวตนในโลกออนไลน์โดยไม่ต้องใช้เอกสาร,แพลตฟอร์ม ด้านโลจิสติกส์ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งและการค้าขายออนไลน์ให้เกิดประสิทธิภาพ,บิ๊ก ดาต้า เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลของภาครัฐนำมาวิเคราะห์ในการให้บริการแก่ประชาชน เป็นต้น ทั้งนี้และทั้งนั้นที่สำคัญคือเรื่องความปลอดภัยไซเบอร์ ซึ่งกระทรวงดีอีเอสได้ดำเนินอยู่

***กสทช.เดินหน้าผลักดันใช้เน็ตเวิร์กร่วมกัน


ขณะที่ พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) กล่าวในหัวข้อ “5G Regulation Trend for Redenfining Industry 4.0 “ ว่า 1-4G คือการให้บริการกับมนุษย์ แต่ 5G คือการสื่อสารระหว่างมนุษย์กับอุปกรณ์ และ อุปกรณ์กับอุปกรณ์ เมื่อเทคโนโลยี 5G เกิดก็ส่งเสริมให้เกิดเทคโนโลยีใหม่ๆมากขึ้น ดังนั้น 5G จึงมีบทบาทสำคัญต่อรัฐบาลในการนำมาเป็นเครื่องมือให้ประเทศไทยก้าวสู่นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ทำให้ประชาชนหลุดพ้นจากกับดักรายได้น้อย จึงเป็นที่มาของการประมูลคลื่น 5G ของกสทช.ซึ่งคลื่นที่นำไปพัฒนา 5G นั้น ประกอบด้วย คลื่น 2600 MHz,700 MHz และ 26GHz

ปัจจุบันผู้ให้บริการได้สร้างโครงข่าย 5G ทั่วประเทศแล้ว คาดว่าภายในสิ้นปี 2564 จะมีผู้ใช้งานประมาณ 5 ล้านรายดังนั้นหากต้องการทำให้การใช้งาน 5G เกิดประสิทธิภาพตามคุณสมบัติของเครือข่ายคือต้องนำ 5G ไปดิจิทัลทรานฟอร์ม องค์กรเก่าไปสู่ดิจิทัล รวมถึงการส่งเสริมให้เกิดธุรกิจใหม่ด้วย ขณะที่ภาครัฐเองโดยกสทช.จะมีการผลักดันให้มีการใช้เครือข่ายร่วมกันเพื่อลดต้นทุนในการสร้างเครือข่ายอันจะนำไปสู่ค่าบริการกับประชาชนที่ถูกลง ร่วมถึงการมีส่วนร่วมในการทำงานกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น การทำงานร่วมกับคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบาย 5G แห่งชาติของรัฐบาล ส่วนรัฐบาลเองก็ต้องมีการส่งเสริมเอกชนเพื่อให้สามารถทำงานสร้างอุตสาหกรรมเดิมและอุตสาหกรรมใหม่ให้เกิดขึ้นผ่านมาตรการด้านภาษีเพื่อให้มีการนำ 5G ไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง

*** ชี้ 5 สิ่ง ทำให้เกิด 5G อย่างมีประสิทธิภาพ


ด้านนายพิรุณ ไพรีพ่ายฤทธิ์ หัวหน้าคณะทำงานและกรรมการยุทธศาสตร์ 5G บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บรรยายในหัวข้อ "Drive 5G Consumer's Experience 5G กับการสร้างประสบการณ์ใหม่ให้ผู้บริโภค" ว่า 2 ปีที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่พัฒนาเทคโนโลยี 5G ก่อนประเทศอื่นในอาเซียน เปิดก่อนประเทศญี่ปุ่น ขณะที่ปัจจุบันทั่วโลกมี 5G แล้ว 50 ประเทศ 84 โอเปอเรเตอร์ มีจำนวนผู้ใช้งาน 540 ล้านคน โดยในจำนวนนี้เป็นประชากรในประเทศจีน 480 ล้านคน

ในส่วนของทรูฯมีการวางโครงข่าย 5G ครบแล้ว 77 จังหวัดทั่วประเทศ 99%ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล และ100%ในพื้นที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) นับว่าเป็นเทคโนโลยีที่สามารถขยายโครงข่ายได้รวดเร็วกว่าเทคโนโลยีที่ผ่านมา ขณะที่ราคาโทรศัพท์มือถือรองรับเทคโนโลยี 5G ราคาระดับหมื่นบาทมีจำนวนมากขึ้น และคาดว่าจะมีราคาลดลงอยู่ในระดับเครื่องละ 5,000 บาท ได้ในไม่ช้า

ด้วยคุณสมบัติความเร็วของ5G เมื่อมีการทดสอบความเร็วในพื้นที่กรุงเทพฯพบว่ามีความเร็วอยู่ที่ 300-400 Mbps เร็วกว่า 4G ที่มีความเร็ว 30-40 Mbps และคุณสมบัติความหน่วงต่ำ ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่จะทำให้ 5G เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพต้องประกอบไปด้วยเทคโนโลยีดังนี้ 1. เอไอ เพื่อทำงานร่วมกับอุปกรณ์ , 2. IoT ในการเชื่อมต่ออุปกรณ์3.คลาวด์ที่มีประสิทธิภาพในการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูล 4.ข้อมูล ที่มีประสิทธภาพและใช้งานได้จริง และ5.เทคโนโลยี เอดจ์ คอมพิวติ้ง เพื่อให้การดึงข้อมูลจากดาต้า เซ็นเตอร์เร็วขึ้น

*** แนะสตาร์ทอัปหาพันธมิตรทำงาน


นายประเทศ ตันกุรานันท์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มเทคโนโลยี บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด(มหาชน) หรือ ดีแทค กล่าวเสริมในหัวข้อ "Drive 5G Enterprise's Transformation 5G กับการพลิกโฉมอุตสาหกรรมและธุรกิจ" ว่า ในมุมมองของเอ็นเตอร์ไพรซ์ นั้นมองว่าโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เมื่อมี 5G เทคโนโลยีใหม่จะเกิดขึ้นเร็วมาก ดังนั้นสตาร์ท อัป ต้องเรียนรู้และทำร่วมกับ5Gให้ได้ ที่สำคัญคือโซลูชันต้องปลอดภัย และเรื่องนี้เป็นระบบอีโคซิสเต็มส์ อย่าคิดว่าทำเองได้ ต้องหาพันธมิตรที่เก่งในแต่ละด้านมาทำงานร่วมกัน โดย 5G จะเกิดขึ้นได้นั้นต้องมาจาก 3 ส่วน คือ 1.โครงสร้างพื้นฐานที่มาจากผู้ให้บริการโครงข่าย ผู้ผลิตโครงข่ายและผู้กำกับดูแล 2.โซลูชันในการให้บริการ ซึ่งเกี่ยวข้องกับ ผู้ผลิตซอฟแวร์ ผู้วางระบบ และ สตาร์ทอัป และ 3.ภาคธุรกิจที่เห็นความสำคัญในการใช้งาน

*** รัฐบาลควรส่งเสริมทุกมิติเพื่อเกิดการใช้งานยั่งยืน


พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคมและดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, ประธานคณะอนุกรรมาธิการติดตามและตรวจสอบการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลและความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์, สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ และอดีตรองประธานกรรมการ กสทช. กล่าวในหัวข้อ "Drive 5G Ecosystem's Sustainability ขับเคลื่อน 5G ในไทยอย่างยั่งยืน" ว่า การจะทำให้ 5G เกิดการใช้งานอย่างยั่งยืนนั้นกสทช.หรือ กระทรวงดีอีเอส ต้องไม่ออกข้อบังคับ หรือ กฎเกณฑ์ที่บีบบังคับมากจนเกินไป ควรมีการกำกับดูแลเพื่ออำนวยความสะดวกต่อระบบนิเวศนี้ ควรมีการสนับสนุนให้เกิดสมาคมหรือสภาที่เกี่ยวข้องกับ 5G รวมถึงส่งเสริมคนรุ่นใหม่หรือสตาร์ทอัปให้เข้าถึงกองทุนของภาครัฐมากขึ้น

*** 5G สร้างเศรษฐกิจควบคู่ลดมลพิษสิ่งแวดล้อม


นาดีน อัลเลน รองประธานบริการด้านกลยุทธ์ กลุ่มลูกค้าธุรกิจ และธุรกิจใหม่ กลุ่มบริษัทอีริคสันประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โอเชียเนีย และอินเดีย กล่าวในหัวข้อ "Drive 5G Future for Thailand" ว่า 5G กำลังเปลี่ยนโฉมของธุรกิจทั่วโลก คลื่นลูกใหม่ของการขยายเครือข่าย 5G จะช่วยให้ธุรกิจทุกประเภทได้รับผลประโยชน์จากการเพิ่มขึ้นของความคล่องตัว ความยืดหยุ่น ความน่าเชื่อถือ และความปลอดภัยที่ 5G มอบให้ ด้วยเครือข่าย 5G สำหรับผู้บริโภคเชิงพาณิชย์ที่มีอยู่แล้วทั่วโลก

จากการศึกษาของอีริคสัน การนำดิจิทัลไปใช้ในอุตสาหกรรมสะท้อนให้เห็นศักยภาพตลาดของบริการที่ใช้ 5G ขับเคลื่อน ที่มีมูลค่าถึง 700 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ สอดคล้องกับรายงาน 5G สำหรับธุรกิจของเรา: เข็มทิศตลาดในปี2030 (5G for business: a 2030 market compass) ที่ระบุว่าโอกาสทางธุรกิจที่อยู่นอกเหนือจากบริการที่มีในปัจจุบันจะเพิ่มขึ้นถึง 35%


ส่วนนายอิกอร์ มอเรล ประธานบริษัทอีริคสัน ประเทศไทยคนล่าสุดกล่าวในงานเสวนา 'Redefine Businesses With 5G' ว่า อีริคสันมุ่งมั่นในการเป็นองค์กรปลอดคาร์บอนภายในปี 2573 บริษัทกำลังพัฒนาเครือข่าย 5G ด้วยเทคโนโลยีที่ทำงานตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อมที่ดียิ่งขึ้น ซึ่งสิ่งที่สำคัญคือการลดอัตราการเพิ่มขึ้นของการใช้พลังงานในเครือข่ายโทรคมนาคม (Breaking the Energy Curve) โดยไม่เพิ่มการใช้พลังงานเมื่อต้องส่งข้อมูลจำนวนมากขึ้น ซึ่งนี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น งานวิจัยยังสนับสนุนว่าโซลูชั่นเทคโนโลยีสารสนเทศสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนของอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั่วโลกได้ถึง 15% ภายในปี 2573 และบทบาทของเราคือการเสริมพลังให้กับการเปลี่ยนแปลงนั้น ด้วยการใช้รูปแบบการเชื่อมต่อที่ไร้ขีดจำกัดเป็นตัวขยายประสิทธิภาพให้กับนวัตกรรมเพื่อแก้ไขวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

โดยประเทศไทยได้ประกาศใน COP26 ถึงความตั้งใจลดการปล่อย GHG (ก๊าซเรือนกระจก) ลง 20-25% ภายในปี2573 โดยใช้ข้อมูลพื้นฐานของปี 2548 ทั้งนี้เครือข่ายจะต้องใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจากการศึกษาของอีริคสันพบว่าเทคโนโลยี 5G ในอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนสูงสุดสี่กลุ่ม ได้แก่ พลังงาน การขนส่ง การผลิตและอาคาร สามารถช่วยลดการปล่อย CO2 ได้ 55-170 ตันต่อปี” การลดการปลดปล่อยดังกล่าวนี้จะเทียบได้กับการลดจำนวนรถยนต์บนท้องถนนถึง 35 ล้านคัน ซึ่ง 5G สามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้มากกว่า 10 เท่า จากการเปลี่ยนผ่านของภาคอุตสาหกรรมที่มากกว่าการปล่อยก๊าซที่มาจากภาคเทคโนโลยีสารสนเทศเองเทคโนโลยีดิจิทัลต่าง ๆ รวมถึง 5G จะเป็นพื้นฐานสำคัญในการลดการปล่อยคาร์บอนลงครึ่งหนึ่งทุก ๆ ทศวรรษจนถึงปี 2593 และบรรลุเป้าหมายของการลดอุณหภูมิของโลกลง 1.5 องศาเซลเซียส


กำลังโหลดความคิดเห็น