กรมรางรุกแผน M-MAP 2 จับมือไจก้าถ่ายทอดความรู้ ศึกษาแบบจำลองคาดการณ์ความต้องการปริมาณผู้โดยสาร แบบลงลึก ก่อนผุดโครงข่ายเส้นทางรถไฟฟ้า กทม. ปริมณฑลระยะ 2 พร้อมโมเดลการลงทุน การอุดหนุนที่มีประสิทธิภาพ เร่งร่าง พ.ร.บ.พัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์รอบสถานีฯ หรือกฎหมาย TOD
วันที่ 24 พ.ย. 64 นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยว่า ขร.ได้จัดกิจกรรมถ่ายทอดความรู้ ครั้งที่ 1 โครงการศึกษาเพื่อพัฒนาแบบจำลองการคาดการณ์ความต้องการเดินทางด้วยระบบรางและการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่ 2 เพื่อเป็นการฝึกอบรมและถ่ายทอดความรู้งานศึกษาแผนการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่ 2 (Mass Rapid Transit Master Plan in Bangkok Metropolitan Region 2: M - MAP 2) ให้แก่เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ JICA ร่วมบรรยายถ่ายทอดความรู้ในหัวข้อ “แบบจำลองการคาดการณ์ผู้โดยสารระบบราง (Rail passenger demand forecasting models) ในประเทศญี่ปุ่น” เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การคาดการณ์ผู้โดยสารระบบรางของญี่ปุ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มพูนความรู้ให้แก่บุคลากรระบบรางของไทย ได้นำไปปรับปรุงหรือพัฒนาแบบจำลองการคาดการณ์ความต้องการเดินทางด้วยระบบรางและนำไปพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลให้มีความพร้อม และสามารถอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
นายพิเชฐกล่าวว่า ไทยและญี่ปุ่นมีข้อตกลงในการสนับสนุนทางวิชาการเพื่อดำเนินโครงการ M-MAP 2 ที่ประเทศไทยกำลังศึกษาเพื่อจัดทำแผน M-MAP 2 Blueprint ซึ่งจะต้องมีการคาดการณ์การเดินทางระบบราง ด้วยการทำแบบจำลองที่ถูกต้องแม่นยำ จะนำไปสู่การวางแผนที่ถูกต้อง เกิดการลงทุนที่เหมาะสม คุ้มค่า และภาครัฐสามารถนำไปกำหนดนโยบายในการดูแลประชาชนได้อย่างตรงจุด เช่น ลดค่าโดยสาร ลดค่าแรกเข้า หรือการจัดทำเพื่อลดความแออัด จัดระบบเชื่อมต่อ สิ่งอำนวยความสะดวก เป็นต้น การออกแบบนโยบายเหล่านี้ ปริมาณผู้โดยสารและแบบจำลองที่ละเอียด มีประโยชน์อย่างมาก
ซึ่งผู้โดยสารระบบรางล่าสุดอยู่ที่ 6.8 แสนคน/วัน จากก่อนโควิดที่มี 1.2 ล้านคน/วัน กลับมาเกิน 50% แล้ว ซึ่งแม้จะมีการเปิดประเทศ แต่นักท่องเที่ยวยังไม่มา ขณะที่การเดินทางมีการเปลี่ยนไปจากเดิม การประชุมผ่านระบบออนไลน์ การทำงานแบบ work from home เป็นต้น การเดินทางบางอย่างหายไป รวมถึงไทยที่เข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ดังนั้น การประเมินอัตราการเติบโตของการเดินทางจะต้องทำแบบจำลองที่ละเอียดเพื่อวางแผนได้ถูกต้อง จากเดิมที่ทำแผนระบบขนส่งมวลชน 20 ปี ซึ่งข้อมูลอาจไม่อัปเดตและไม่ทันสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ส่วนญี่ปุ่นมีการอัปเดตทุก 5 ปี
“ญี่ปุ่นมีการสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้ข้าราชการที่เดินทางด้วยระบบราง เป็นรูปแบบสวัสดิการ, บริษัทเอกชนจ่ายค่าเดินทางให้พนักงาน 20-30% ของเงินเดือนเพื่อส่งเสริมให้ใช้ระบบขนส่งมวลชน ซึ่งเรื่องแบบนี้ที่ไทยอาจจะเห็นว่าทำไม่ได้ แต่อนาคตอาจจะทำได้”
สำหรับโครงการศึกษาเพื่อพัฒนาแบบจำลองการคาดการณ์ความต้องการเดินทางด้วยระบบรางและการพัฒนาโครงข่าย M-MAP 2 นี้ เป็นการทบทวนสถานะปัจจุบันของโครงการรถไฟฟ้าตามแผน M-MAP เดิม พร้อมศึกษาแนวทางการบูรณาการเชื่อมต่อโครงข่ายขนส่งมวลชนระบบรอง (Feeder) ให้เข้ากับโครงข่ายหลักของ M-MAP อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนศึกษามาตรการและแนวทางในการส่งเสริมให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทางโดยใช้ระบบขนส่งสาธารณะแทนการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล เพื่อบรรเทาการจราจรติดขัดในพื้นที่ศูนย์กลางเมือง รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในภาพรวมของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ลดความซ้ำซ้อน ลดการลงทุนและงบประมาณในโครงข่ายที่ไม่มีความจำเป็นในสภาวการณ์ปัจจุบัน เพื่อยกระดับคุณภาพการเดินทางของประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ให้เป็นไปด้วยความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ส่วนมาตรการส่งเสริมการใช้ระบบรางนั้น จากข้อมูลพบว่าในต่างประเทศ เช่นออสเตรเลีย อังกฤษ แคนาดา มีระบบบัตรโดยสารร่วม มีการให้ส่วนลดสำหรับผู้สูงอายุ นักเรียน นักศึกษา ผู้พิการ ทหารผ่านศึก รวมถึงการเดินทางเป็นครอบครัวพร้อมกัน ส่วนประเทศญี่ปุ่น รัฐบาลญี่ปุ่นได้นำการเก็บมูลค่าที่ดินมาเป็นเครื่องมือด้านการเงินในการลงทุนพัฒนาเมืองและชดเชยเงินลงทุนก่อสร้าง ค่าดำเนินงานและค่าบำรุงรักษา รวมถึงนำไปพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะอื่น รวมถึงมีการใช้ประโยชน์ร่วมกับเจ้าของที่ดิน เป็นต้น
ประเทศเกาหลี งบประมาณหลักที่ใช้สนับสนุนค่าใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่ง คือภาษีที่ดิน หรือ The Aggregate Land Tax (ALT) ภายใต้ แนวคิดการพัฒนาการบริการสาธารณะควรได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจากมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น เป็นการเรียกเก็บรายปีตามมูลค่าที่ดินส่วนบุคคลแต่ละราย, เก็บภาษีที่ดินแต่ละพื้นที่ร่วมกับรัฐบาลท้องถิ่น, ที่ดินที่ไม่แสวงหากำไร ได้รับการยกเว้น
ส่วนประเทศไทย มีแนวทางดำเนินการการใช้ประโยชน์พื้นที่ตามแนวเส้นทาง ระบบขนส่งมวลชน โดยจัดทำร่างพ.ร.บ.การพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชน พ.ศ...รูปแบบกฎหมาย TOD โดยอยู่ระหว่างการศึกษาและดำเนินการร่าง พ.ร.บ. โดยจะเน้นการมีส่วนร่วมของท้องถิ่น มีการจัดรูปที่ดินและให้สิทธิแก่เจ้าของที่ดินเดิมอาศัยในที่ดินได้ส่วนหนึ่ง อีกส่วนนำมาใช้พัฒนา จัดพื้นที่เชิงพาณิชย์ พื้นที่อำนวยความสะดวกและระบบขนส่งเชื่อมต่อกัน