3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายยื่นหนังสือลาออกจากคณะกรรมาธิการวิสามัญและคณะอนุกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแก้ไขร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ประกาศจุดยืนไม่ยอมรับการนำกากอ้อยและกากตะกอนกรอง เข้าสู่ระบบแบ่งปันผลประโยชน์ ย้ำการปรับปรุงร่างกฎหมายต้องสร้างความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย พร้อมยกเลิกการเก็บเงินค่าบำรุงสถาบันชาวไร่อ้อยโดยโรงงาน เริ่มฤดูการผลิตปี 2564/65 ชี้กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจไว้ เป็นการกระทำโดยมิชอบ
นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) และประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ เปิดเผยว่า 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย ซึ่งเป็นตัวแทนจากผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทรายทั้ง 57 โรงงาน ได้ส่งหนังสือแจ้งการลาออกจากการเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญและการร่วมเป็นคณะอนุกรรมาธิการวิสามัญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อแสดงจุดยืนคัดค้านการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ในมาตรา 4 ที่เสนอให้ กากอ้อย และกากตะกอนกรองเป็นผลพลอยได้จากการผลิตน้ำตาล เพื่อนำไปคำนวณในระบบแบ่งปันผลประโยชน์ หลังจากคณะกรรมาธิการวิสามัญในชุดดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบเพิ่มเติมคำนิยามกากอ้อยและกากตะกอนกรอง แม้ว่าที่ผ่านมาได้ร้องขอให้มีตัวแทนภาคโรงงานซึ่งถือเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงกับร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว ร่วมเป็นคณะกรรมาธิการด้วย แต่ได้เป็นเพียงที่ปรึกษาไม่มีสิทธิออกเสียงในคณะกรรมาธิการได้
ทั้งนี้ กากอ้อย กากตะกอนกรอง และผลพลอยได้ต่างๆ จากการผลิตน้ำตาลถือเป็นกรรมสิทธิ์ของโรงงานน้ำตาลตามข้อตกลงระหว่างชาวไร่อ้อยกับโรงงานที่ยึดเป็นหลักการของการแบ่งปันรายได้ตาม พ.ร.บ.อ้อยฯ มาตั้งแต่ต้น นอกจากนี้ ‘กากอ้อย’ เป็นขยะอุตสาหกรรมที่ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลต้องรับภาระในการกำจัดตามกฎหมายโรงงาน เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึงได้ลงทุนนำขยะดังกล่าวไปใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้า ดังนั้น การเพิ่มเติมมาตรา 4 ในส่วนคำนิยาม ‘ผลพลอยได้’ นอกเหนือจากที่ตกลงไว้ จะสร้างความไม่เป็นธรรมให้แก่ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาล และนำมาสู่ความขัดแย้งในที่สุด อันจะทำให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทยอ่อนแอลง
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลยังคงยืนยันในเจตนารมณ์แก้ปรับปรุงกฎหมาย พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อใช้กำกับดูแลอุตสาหกรรมฯ โดยสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.อ้อยฯ ฉบับกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งถือเป็นร่างที่ได้ผ่านการทำประชาพิจารณ์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย พร้อมได้รับความเห็นชอบของทุกฝ่ายแล้ว เพื่อมาใช้เป็นแม่บทการปรับปรุงกฎหมายให้มีความทันสมัยมากขึ้น
“การแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายสำหรับใช้บริหารจัดการอุตสาหกรรมนี้จำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากชาวไร่อ้อย และโรงงานน้ำตาล ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง แต่ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ฯ ฝ่ายโรงงานไม่มีโอกาสเข้าร่วมในการตัดสินใจในชั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญ เนื่องจากได้รับแต่งตั้งเป็นเพียงที่ปรึกษาเท่านั้น และเมื่อมีมติผ่านความเห็นชอบในมาตรา 4 โดยไม่ได้รับฟังความเห็นของฝ่ายโรงงาน จึงทำให้เราไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงตัดสินใจลาออกเพื่อแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยดังกล่าว” นายสิริวุทธิ์กล่าว
ส่วนกรณีที่ชาวไร่อ้อยคู่สัญญาของโรงงานน้ำตาลได้ร้องขอไม่ให้โรงงานหักเงินค่าบำรุงสถาบันชาวไร่อ้อยนั้น ถือเป็นสิทธิของชาวไร่อ้อยที่จะยินยอมให้หักหรือไม่ หรือจะให้หักเงินส่งให้สถาบันฯ ใด นอกจากนี้ พ.ร.บ.อ้อยฯ ก็ไม่ได้ให้อำนาจไว้ จึงเป็นการดำเนินการที่มิชอบด้วยกฎหมาย ตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลางที่ได้วินิจฉัยแล้วว่า กอน.มีหน้าที่กำหนดอัตราค่าบำรุงสถาบันชาวไร่อ้อยเท่านั้น แต่มิได้บัญญัติให้มีอำนาจที่จะกำหนดวิธีการชำระค่าบำรุงไว้ด้วย เพราะเป็นรายละเอียดที่กฎหมายต้องการให้สมาชิกชาวไร่อ้อยและสถาบันชาวไร่อ้อยไปกำหนดกันเองให้เหมาะสมและสอดคล้องกับการดำเนินงานของแต่ละสถาบันชาวไร่อ้อย ดังนั้น โรงงานน้ำตาลทั่วประเทศจึงเห็นพ้องต้องกันที่จะยกเลิกการจัดเก็บเงินค่าบำรุงสถาบันชาวไร่อ้อยตั้งแต่ฤดูการผลิตปี 2564/65 เป็นต้นไป เนื่องจากขัดต่อกฎหมาย และสุ่มเสี่ยงต่อการที่ชาวไร่อ้อยอาจฟ้องร้องโรงงานได้