นับถอยหลังปิดฉาก...อำลา “หัวลำโพง” หรือสถานีรถไฟกรุงเทพ ที่เปิดให้บริการอยู่คู่กับคนไทยเป็นเวลายาวนาน 105 ปี สู่การพัฒนา ปรับเปลี่ยนบทบาท เป็นศูนย์กลางแหล่งชอปปิ้ง โรงแรม “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รมว.คมนาคม ยืนยันใช้สถานีกลางบางซื่อเป็นสถานีสุดท้ายหรือเป็นสถานีต้นทางและปลายทางแทน “หัวลำโพง” ภายในสิ้นปี 2564 หมายความว่าจะต้องไม่มีรถไฟที่วิ่งเข้าหัวลำโพงเพื่อแก้จุดตัดกับถนน แก้ปัญหาจราจรให้เป็นรูปธรรม และนำพื้นที่ย่านหัวลำโพงทั้งหมดมาพัฒนาปรับโฉมใหม่ ภายใต้แนวคิด ยังคงความเป็นอาคารอนุรักษ์ ผสมผสาน มีการจัดสรรพื้นที่ทั้งแนวราบและแนวสูงใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ เพื่อสร้างรายได้ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อย่างยั่งยืน
ย้อนอดีต สำหรับสถานีหัวลำโพงถูกออกแบบเป็นรูปโดมสไตล์อิตาเลียนผสมผสานกับศิลปะยุคเรเนสซองส์ และมีนาฬิกาบอกเวลาที่มีอายุเก่าแก่ติดตั้งไว้ที่กึ่งกลางยอดโดมสถานี ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของสถานีเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองนี้ ซึ่งเป็นส่วนที่จะยังคงอนุรักษ์ไว้ ส่วนพื้นที่ด้านในโถงสถานีจะมีการปรับปรุงให้เป็นโมเดิร์นมากขึ้น
ส่วนแนวทางรถไฟ จะมีการจัดระเบียบใหม่ให้มีความสะอาดสวยงาม และทันสมัย เป็นพื้นที่ออกกำลังกาย สำหรับประชาชนที่อยู่สองข้างทางจะต้องจัดระเบียบเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาบุกรุกซ้ำซาก โดยเน้นย้ำให้จัดสรรพื้นที่ให้ประชาชนสามารถทำมาค้าขายได้ด้วย
ศักดิ์สยามกล่าวว่า ตามแผนดำเนินงานที่ รฟท.นำเสนอจะทยอยลดขบวนที่จะเข้าหัวลำโพง เพราะบางขบวนยังมีผู้ใช้บริการมาก จำเป็นต้องทยอยเปลี่ยนผ่านเพื่อลดผลกระทบ ส่วนสายใต้ ยังต้องรอระบบเพื่อให้ขบวนรถวิ่งบนโครงสร้างของรถไฟชานเมืองสายสีแดงได้ ซึ่งตนเห็นว่าการหยุดบริการที่หัวลำโพงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำให้เกิดความชัดเจน จึงให้ รฟท.ทำแผนไทม์ไลน์ให้ชัดเจนและต้องตัดสินใจให้เด็ดขาดภายในปี 2564 เพราะไม่ต้องการให้ปิดถนนรอรถไฟวิ่งผ่านเป็นปัญหาจราจรอีกต่อไป พร้อมกันนี้ จะได้เดินหน้าการพัฒนาหัวลำโพงได้
“หากยังไม่กล้าทำให้ชัดเจน มัวแต่กังวลคนใช้บริการเยอะ ไม่หยุดเสียที ทุกอย่างก็เดินต่อไม่ได้ ผมกล้ายอมรับถูกวิพากษณ์วิจารณ์ เพราะสุดท้ายคนส่วนใหญ่จะได้ประโยชน์มหาศาล ดังนั้นต้องกล้าที่จะทำ”
ส่วนการให้บริการสำหรับผู้ที่ต้องการเดินทางมายังหัวลำโพงจะไม่กระทบ เพราะจะมีระบบฟีดเดอร์ เป็นรถ ขสมก.วิ่งบริการระหว่างสถานีกลางบางซื่อ-หัวลำโพง ใช้ทางด่วน และใช้ระบบตั๋วร่วม ผู้โดยสารซื้อตั๋วรถไฟ ปลายทางหัวลำโพง เมื่อลงรถไฟที่สถานีกลางบางซื่อจะสามารถใช้รถ ขสมก.ต่อไปยังหัวลำโพงโดยไม่ต้องเสียค่าโดยสารเพิ่ม อาจต้องปรับพฤติกรรมการเดินทาง
ส่วนการพัฒนาที่ดินรถไฟ คาดหมายในปี 2565 ไม่เฉพาะหัวลำโพง ยังมีทำเลทองที่จะนำมาพัฒนาอีก เช่น สถานีธนบุรี-ศิริราช, พื้นที่แนวพระรามเก้า RCA-คลองตัน ประมาณ 135 ไร่ ซึ่งล้วนมีศักยภาพ มีระบบคมนาคมเชื่อมต่อพื้นที่ จะสร้างรายได้เพิ่มให้ รฟท. และสามารถนำมาอุดหนุนภาระบริการด้าน PSO และคาดหวังว่าจะแก้ปัญหาขาดทุนของ รฟท.ได้อย่างยั่งยืนใน 5 ปีจะเห็นรูปธรรม
@23 ธ.ค.ปรับตารางเดินรถไฟใหม่ วิ่งเข้าหัวลำโพงเหลือ 22 ขบวน
รถไฟชานเมืองสายสีแดง เส้นทางบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน กำหนดเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ โดยเก็บค่าโดยสาร รวมถึงเป็นการเปิดใช้สถานีกลางบางซื่ออย่างเป็นทางการวันที่ 29 พ.ย. 2564 โดยมี บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) เป็นผู้เดินรถ
ส่วนขบวนรถไฟชานเมือง รถไฟทางไกล ในปัจจุบัน รฟท.ได้วางแผนปรับตารางการเดินรถใหม่ จำนวน 155 ขบวน โดยเริ่มในวันที่ 23 ธ.ค. 2564 เบื้องต้นจะปรับลดการเดินรถเข้าสถานีหัวลำโพงเหลือ 22 ขบวน/วัน
โดยขบวนรถไฟสายเหนือ และสายอีสาน ปรับตารางเดินรถใหม่ รวมทั้งหมด 74 ขบวน
1. รถไฟทางไกลเชิงพาณิชย์ สายเหนือ ต้นทางเชียงใหม่ สายอีสานต้นทาง “หนองคาย และอุบลราชธานี” จะวิ่งบนโครงสร้างสายสีแดงเข้าสถานีกลางบางซื่อ รวม 42 ขบวน/วัน
2. รถไฟชานเมือง สายเหนือ/สายอีสาน อีกจำนวน 14 ขบวน/วัน ผู้โดยสารเปลี่ยนให้ใช้สถานีรังสิต และสถานีดอนเมืองเป็นจุดเชื่อมต่อกับรถไฟสายสีแดงเพื่อเข้าสู่สถานีกลางบางซื่อ
3. รถไฟชานเมือง สายเหนือ จำนวน 2 ขบวน/วัน วิ่งบนโครงสร้างรถไฟชานเมืองสายสีแดงสู่สถานีกลางบางซื่อ
4. รถไฟชานเมือง สายเหนือ/สายอีสาน จำนวน 6 ขบวน/วัน วิ่งบนโครงสร้างรถไฟชานเมืองสายสีแดงจากรังสิต-วัดเสมียนนารี จากนั้นจะใช้ทางรถไฟเดิมวิ่งเข้าสถานีบางซื่อเดิม และเข้าสู่สถานีหัวลำโพง เนื่องจากเป็นขบวนที่มีผู้โดยสารจำนวนมาก จึงจะทยอยปรับต่อไป
5. ขบวนรถวิ่ง Loop เป็นฟีดเดอร์ สายสีแดงเส้นทางดอนเมือง-รังสิต-บางปะอิน-อยุธยา
จำนวน 10 ขบวน/วัน ความถี่ 1 ชม./ขบวน รองรับการยกเลิกเดินรถไฟบางขบวน
รถไฟสายใต้ มีสถานีตลิ่งชันเป็นสถานีเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสาร มีจำนวน 62 ขบวน
• ขบวนรถเร็ว รถด่วน รถด่วนพิเศษ จำนวน 24 ขบวน/วัน จะใช้เส้นทางรถไฟเดิมวิ่งเข้าสถานีบางซื่อเดิม เนื่องจากอยู่ระหว่างจัดหาระบบห้ามล้ออัตโนมัติ โดยหัวรถจักรจะเข้ามากลางปี 2565 จากนั้นจะทดสอบการเดินรถร่วมระหว่างรถไฟทางไกลกับสายสีแดงต่อไป
• รถไฟชานเมือง จากสุพรรณบุรี และนครปฐม จำนวน 2 ขบวน/วัน วิ่งเข้าสถานีหัวลำโพง
• รถไฟชานเมือง เข้าสถานีธนบุรี สามารถใช้สถานีตลิ่งชันของสายสีแดงเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสารได้ มีจำนวน 2 ขบวน/วัน และขบวนรถเดิมอีก 10 ขบวน
• ขบวนรถวิ่ง Loop เส้นทางสถานีธนบุรี-ศาลายา-มหิดล-นครปฐม เป็นฟีดเดอร์ สายสีแดง จำนวน 24 ขบวน/วัน
รถไฟสายตะวันออก มีการยกเลิก 7 ขบวนที่เดินรถจากสถานีบางซื่อเข้าพื้นที่ชั้นใน มีการปรับตารางเดินรถ 19 ขบวน
• รถไฟธรรมดา ชานเมือง 14 ขบวน/วัน เข้าสถานีหัวลำโพงเนื่องจากมีผู้โดยสารจำนวนมาก
• รถไฟธรรมดา ชานเมือง จำนวน 5 ขบวน ปรับวิ่งถึงสถานีมักกะสัน เป็นจุดเชื่อมต่อกับแอร์พอร์ตเรลลิงก์
มีจุดเปลี่ยนถ่ายสินค้า 3 จุด
คือ 1. สายเหนือ/อีสาน ที่สถานีเชียงรากน้อย ตามผลศึกษาไจก้าเดิม จะมีการทำลานขนส่งและขยายทาง ใช้เงินลงทุน 497.3 ล้านบาท และหารือผู้ประกอบการขนส่งในการเข้ามาดำเนินการขนถ่ายสินค้า 2. สายใต้ ที่สถานีวัดสุวรรณ จะปรับปรุงวงเงินค่าก่อสร้าง 519.5 ล้านบาท และ 3. สายตะวันออก ที่ ICD ลาดกระบัง
@ปรับโฉมชานชาลา-โรงซ่อม สำนักงาน รฟท. 120 ไร่ ผุดแลนด์มาร์กแห่งใหม่
สำหรับสถานีกรุงเทพ ปัจจุบันมีพื้นที่รวม 120 ไร่ แบ่งเป็น
โซน A - พื้นที่ถนนเข้าออก และลานจอดรถ ด้านคลองผดุงกรุงเกษม 16 ไร่
โซน B - อาคารสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) 13 ไร่
โซน C - โรงซ่อมรถดีเซลรางและรถโดยสาร 22 ไร่
โซน D - ชานชาลาทางรถไฟ 12 ชาน และย่านสับเปลี่ยน 49 ไร่
โซน E - อาคารสำนักงานการรถไฟ ตึกคลังพัสดุ 20 ไร่
อาณาเขต ตั้งแต่ด้านติดถนนพระราม 4 ทอดยาว ผ่านพื้นที่ชานชาลาอาคารกองบังคับการตำรวจรถไฟ สำนักงาน รฟท. ตึกแดง จดถนนพระราม 1 ติดกับสะพานกษัตริย์ศึก ขนาบข้างด้วยคลองผดุงกรุงเกษมและถนนรองเมือง มูลค่าที่ดินกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท
บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (เอสอาร์ทีเอ) ในฐานะบริษัทลูกของ รฟท. ได้นำเสนอการศึกษา “สถานีกรุงเทพ” ว่า มีแนวคิดการพัฒนา “เน้นเป็นพื้นที่สาธารณะให้แก่คนเมือง และเพิ่มศักยภาพพื้นที่เชิงพาณิชย์” และด้วยทำเลที่ตั้งอยู่กลางเมือง ใกล้ทางด่วน มีรถไฟสีแดงส่วนต่อขยาย และ MRT สีน้ำเงิน มีเส้นทางรถท่องเที่ยวรอบเมือง ติดคลองผดุงกรุงเกษม สามารถจะพัฒนาเป็น “ศูนย์คมนาคมกลางเมือง”
โดยการจัดสรรพื้นที่เน้นการพัฒนาแนวดิ่ง สำหรับเชิงพาณิชย์ที่ทันสมัย (State-of-Art Mixed Use) เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่เชิงวัฒนธรรมร่วมสมัย แหล่งศูนย์รวมร้านค้า และร้านอาหารที่มีชื่อรอบเกาะรัตนโกสินทร์ ผสมผสานสินค้าแบรนด์เนมระดับโลก รวมถึงศูนย์ประชุมนานาชาติ และอนุรักษ์อาคาร สถาปัตยกรรมเดิม พื้นที่ประวัติศาสตร์เป็นพิพิธภัณฑ์ (Life Museum) เป็นสะพานเชื่อมประวัติศาสตร์สู่ อนาคต ส่วนพื้นที่โดยรอบมีการปรับเป็นพื้นที่สีเขียว พื้นที่กิจกรรม (Green Space)
“อนุรักษ์มรดก คงความเป็นอัตลักษณ์เดิม ปรับปรุงผสมโมเดิร์น เพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตสมัยใหม่ เป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ”
@เปิดพิมพ์เขียว “หัวลำโพง” มิกซ์ยูสระดับเวิลด์คลาส ขนาดมหึมา 9 แสนตารางเมตร
สถานีกรุงเทพ มีทำเลที่ตั้งที่โดดเด่นอย่างมาก เนื่องจากฝั่งหนึ่งเป็นย่านเมืองเก่า ไชน่าทาวน์ และอยู่ไม่ห่างจากรอบเกาะรัตนโกสินทร์ กับอีกฝั่งเป็นศูนย์กลางธุรกิจ หรือ CBD แนวคิดการพัฒนาจึงออกมาในรูปแบบการผสมผสานระหว่างอัตลักษณ์เมืองเก่ากับความทันสมัย ชื่อ “Hualampong Heritage Complex” โดยอาคารโดมสถานีหัวลำโพงด้านหน้าจะอนุรักษ์ไว้เพื่อรำลึกประวัติศาสตร์ของกิจการรถไฟไทยในอดีต
มีพื้นที่พัฒนารวมประมาณ 900,000 ตารางเมตร ประกอบด้วย เฟสแรก ปรับปรุงอาคารโดมสถานีกรุงเทพ พื้นที่ประมาณ 25,000 ตารางเมตร ซึ่งจะมีการบูรณะโดยคงสถาปัตยกรรมเดิมและพัฒนาโถงด้านในเป็นพื้นที่สำหรับร้านค้าแบรนด์เนม พิพิธภัณฑ์รถไฟ
พัฒนาพื้นที่ส่วนถัดไปผุดอาคารสูง เป็นสำนักงาน ซึ่งการออกแบบตึกนี้ได้แรงบันดาลใจจาก...โลโก้ ของ รฟท.ที่มีลักษณะเป็นปีกนกโอบรอบตึก โดยมีพื้นที่รวม 130,000 ตารางเมตร
พัฒนาพื้นที่ติดกับคลองผดุงกรุงเกษม เป็น Promenade ประมาณ 5 ชั้น พื้นที่ประมาณ 110,000 ตารางเมตร มีร้านค้าและสำนักงาน และมีลานกิจกรรม และทางลงท่าเรือด้วย เพื่อใช้สำหรับการท่องเที่ยวทางน้ำรูปแบบใหม่ๆ
และมีอาคารส่วนของศูนย์ประชุม ขนาดพื้นที่ 55,000 ตารางเมตร และอาคารเป็นโรงแรม Service Residence พื้นที่ 60,000 ตารางเมตร
ส่วนเฟส 2 จะเป็นการพัฒนา ส่วนทางรถไฟและย่านสีเปลี่ยน เป็นอาคารสูงอีก 4 หลัง พื้นที่รวม 490,000 ตารางเมตร พัฒนาสำนักงาน หรือโรงแรม
สำหรับที่ทำการสำนักงานของการรถไฟฯ และตึกแดง ตึกคลังพัสดุ ในปัจจุบันมีพื้นที่รวมประมาณ 30,000 ตารางเมตร เป็นอาคารอนุรักษ์ คงสถาปัตยกรรมเดิม จะไม่มีการเปลี่ยนแปลง โดยจะบูรณะเป็นร้านค้า และโรงแรมระดับ 6 ดาวเหมือนในยุโรป
หลังจากนี้จะจ้างที่ปรึกษาเพื่อจัดทำแผนแม่บท และที่ปรึกษาออกแบบเพื่อลงรายละเอียด รูปแบบ มูลค่าโครงการที่เกิดประโยชน์สูงสุด
@เร่งไทม์ไลน์ ศึกษาออกแบบ ตั้งเป้าเปิดประมูล ต.ค. 65
สำหรับ Action Plan แนวทางการพัฒนาพื้นที่ ประกอบด้วยการวางแบบแนวคิดการพัฒนาเบื้องต้น ช่วงเดือน ก.ย.-พ.ย. 65, จัดทำแผนแม่บท (ระยะสั้น-ระยะยาว) เสนอคมนาคม เพื่อคัดเลือกที่ปรึกษาด้านแผนแม่บทและที่ปรึกษาออกแบบ เดือน ธ.ค. 64-มิ.ย. 65
สรุปแผนปฏิบัติการและรายละเอียดการพัฒนาและมูลค่าการลงทุน โครงสร้างการลงทุน เสนอขออนุมัติ เดือน ก.ค.-ก.ย. 65, กระบวนการสรรหาเอกชน และเจรจาสัญญาภายใต้โครงสร้างการลงทุน เดือนต.ค. 65-ก.พ. 66 จากนั้นเป็นช่วงการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้าง
@เร่งแก้ “สีผังเมือง” อุปสรรคผุดตึกสูง
การพัฒนาพื้นที่สถานีกรุงเทพยังมีปัญหา อุปสรรค ที่ต้องเร่งแก้ไข ในประเด็นผังเมืองกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2556 ที่ระบุว่าสถานีหัวลำโพงผังที่ดินเป็นสีน้ำเงิน เป็นสถานที่ราชการ ดังนั้นภายใต้นโยบายการจัดประโยชน์ที่ดินต้องสอดคล้องกับการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อก่อประโยชน์สูงสุดเชิงพาณิชย์ และการพิจารณาปรับผังเป็นสีแดงตามพื้นที่โดยรอบเป็นสิ่งจำเป็นต่อรูปแบบการพัฒนา และจูงใจเอกชนเข้าร่วมลงทุน
รฟท.ต้องไปดำเนินการเปลี่ยนผังสีเพื่อก่อสร้างตึกสูง รวมถึงการยุติการเดินรถไฟเข้าสถานีหัวลำโพง เพื่อจัดเตรียมพื้นที่ส่งมอบให้เอกชนที่จะเข้ามาพัฒนา ขณะที่ยังมีข้อกังวลเรื่องการจัดระเบียบชุมชน สองข้างทางรถไฟ และเมื่อนักลงทุนที่จะเข้ามาแล้วจะมีกรณีรื้อ...ปรับ เปลี่ยนแบบ มีการทุบทำลายสถาปัตยกรรม ที่ควรอนุรักษ์ของสถานีหัวลำโพงหรือไม่!!!