รมว.คมนาคม ประชุม คกก.สแกนความพร้อมเตรียมการเปิดบริการรถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง) เต็มรูปแบบ ประมาณช่วงเดือนหน้า ทยอยปรับรถไฟเข้าบางซื่อให้หมดแทนหัวลำโพง
วันนี้ (3 พ.ย.) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานประชุมคณะกรรมการเตรียมการเปิดให้บริการและการบริหารโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) และสถานีกลางบางซื่อ ครั้งที่ 6/2564 เพื่อติดตามความคืบหน้าผลการดำเนินงานการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ผ่านการประชุมทางไกล (Video Conference) เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2564 เวลา 13.30 น. โดยมี นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม นางจันทิรา บุรุษพัฒน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก และประธานกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร นายพิเชษฐ คุณาธรรมรักษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง ผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนสำนักงบประมาณ หัวหน้าหน่วยงานและผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมจะเปิดให้บริการรถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง) อย่างเป็นทางการ หรือ Grand Opening ประมาณช่วงเดือนธันวาคม หลังจากที่ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้เปิดให้บริการแบบเสมือนจริง หรือ Soft Opening มาตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม 2564 โดยไม่คิดค่าโดยสาร โดยปัจจุบันมียอดผู้โดยสารโดยเฉลี่ยวันละ 6,105 คน ซึ่งมีอัตราการเติบโดที่สูงถึง 13% สอดคล้องกับการผ่อนคลายมาตรการควบคุมต่าง ๆ ของรัฐบาล ซึ่งได้มีการดำเนินการด้านการเชื่อมต่อการเดินทางกับรถโดยสารประจำทาง โดยกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ได้ปรับปรุงเส้นทางเพื่อรองรับการเชื่อมต่อโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ทุกสถานี เพื่อให้ผู้ใช้บริการเดินทางได้อย่างสะดวก และลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลตามนโยบายของรัฐบาลต่อไป
การเตรียมความพร้อมด้านการให้บริการภายในสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดงทั้ง 12 สถานี รฟท. ได้จ้างทำความสะอาด กำจัดขยะ รักษาความปลอดภัย และอำนวยการจราจรทั้งบริเวณสถานีกลางบางและบริเวณสถานีอื่นๆ เรียบร้อยแล้ว โดยในส่วนของงานจ้างบริหารจัดการงานอาคารและสถานที่บริเวณสถานีกลางบางซื่อ และงานบริหารจัดการงานอาคารและระบบวิศวกรรมประกอบอาคารสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง อยู่ระหว่างเผยแพร่ร่าง TOR เพื่อให้สาธารณชนเสนอแนะ และวิจารณ์ผ่านทางเว็บไซต์ ส่วนการจัดประโยชน์พื้นที่เชิงพาณิชย์อยู่ระหว่างการคณะกรรมการจัดทำประกาศฯ พิจารณาหลักเกณฑ์การคัดเลือกร่วมกับ บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (SRTA)
ในส่วนของการปรับจำนวนขบวนรถไฟทางไกลเข้าสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) รฟท.ได้มีแผนการดำเนินงานให้ปรับลดลงเหลือ 22 ขบวน เมื่อเปิดให้บริการรถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง) อย่างเป็นทางการ และจะเริ่มลดลงให้วิ่งเข้าสู่สถานีกลางบางซื่อทั้งหมดในอนาคต โดย รมว.คมนาคม ได้สั่งการให้ รฟท. กำหนดกรอบเวลาการดำเนินงานให้ชัดเจน รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับรู้
ที่ประชุมได้รับทราบผลการกำหนดอัตราค่าโดยสาร ความพร้อมเข้าสู่ระบบตั๋วร่วม บัตรโดยสารในการเดินทางร่วม โดยกำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ใน 3 ปีแรกจะมีค่าแรกเข้า 12 บาท และ ค่าโดยสาร 1.50 บาทต่อกิโลเมตร ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ รฟท. พิจารณากำหนดแนวทางเพื่อลดภาระทางการเงิน รวมทั้งแนวทางการผ่อนผันดอกเบี้ยใน 3 ปีแรกของการเปิดให้บริการ และการเตรียมความพร้อมการเข้าสู่ระบบตั๋วร่วมภายใต้มาตรฐาน EMV สามารถรองรับการใช้งานในรถเมล์ ขสมก. และเรือโดยสาร MINE Smart Ferry รวมทั้ง เปิดใช้งานกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสายสีม่วงได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 และยังได้รับทราบแผนการใช้บัตรโดยสารในการเดินทางร่วม โดย บมจ.ธนาคารกรุงไทย ได้หารือร่วมระหว่าง รฟท. การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ขสมก. และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เพื่อให้เกิดตั๋วร่วมระหว่างหน่วยงานตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม เพื่อส่งเสริมการเดินทางร่วมระหว่างระบบขนส่งมวลชนรูปแบบต่าง ๆ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อหาข้อสรุปแนวทางร่วมกัน ทั้งรูปแบบบัตร เทคนิคบัตร และเงื่อนไขการกำหนดราคา พร้อมทั้งพิจารณาข้อกำหนดส่วนแบ่งรายได้ การเติมเงิน จุดจำหน่ายบัตร และการแบ่งจ่ายรายได้ของ Operators
รมว.คมนาคม ได้มีข้อสั่งการให้ รฟท. วิเคราะห์ข้อมูลรายได้และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ในการให้บริการช่วงที่ผ่านมา เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาวิเคราะห์เพื่อจัดตารางเวลาของรถไฟและกำหนดอัตราค่าโดยสารแรกเข้าให้มีความเหมาะสม โดยต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนเป็นหลัก และเมื่อได้ข้อสรุปแล้วให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชาสัมพันธ์ข้อมูลตารางการเดินรถ รูปแบบราคาค่าโดยสาร และข้อมูลอื่นๆ ผ่านช่องทางต่างๆ ให้ประชาชนได้รับรู้อย่างทันท่วงที รวมทั้งได้สั่งการเพิ่มเติมให้ รฟท. ดำเนินการในเชิงรุกด้านการป้องกันไม่ให้บุคคลภายนอกเข้ามาลักลอบตัดสายอาณัติสัญญาณในระบบรถไฟฟ้า เช่น การดำเนินคดีให้ถึงที่สุด รวมถึงการขยายผล ให้เป็นแบบอย่างในการป้องปรามไม่ให้เกิดการกระทำผิดซ้ำ เพื่อให้ความตรงต่อเวลาและความน่าเชื่อถือในการบริการเดินรถไฟมีค่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบแนวทางการพัฒนาพื้นที่สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) โดยมีแนวความคิดในการพัฒนาได้เน้นการเป็นพื้นที่สาธารณะให้กับคนเมือง และเพิ่มศักยภาพพื้นที่เพื่อเชิงพาณิชย์ อันได้แก่ การเชื่อมต่อระบบการสัญจร การพัฒนาเชิงพาณิชยกรรม การออกแบบการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นการอนุรักษ์และรองรับทุกวัย และการเชื่อมโยงกิจกรรมกับบริเวณพื้นที่ต่อเนื่อง โดยได้วางรูปแบบการพัฒนาเป็น 5 โซน ประกอบด้วย พื้นที่สาธารณะประโยชน์และพัฒนาทัศนียภาพโดยรอบ (Public area and Landscape) พื้นที่ปรับปรุงอาคารเป็นไปตามแนวทางอนุรักษ์ พื้นที่เชิงพาณิชย์ ในรูปแบบปิดและเปิด เช่น ร้านค้า ร้านอาหาร พื้นที่กิจกรรม พื้นที่เชิงพาณิชย์ ในรูปแบบ Lifestyle Mixed-Use Development และพื้นที่เชิงพาณิชย์ ในรูปแบบ Urban Mixed-Use Development โดยแบ่งเป็นการพัฒนาในระยะสั้นและระยะยาวตามการพัฒนาเศรษฐกิจ การคมนาคมโดยรอบพื้นที่และตลาดโดยรวมเพื่อให้สอดรับแนวทางเดียวกัน
นายศักดิ์สยาม กล่าวเพิ่มเติมว่า ประชาชนผู้ใช้บริการสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับภารกิจการดำเนินงานและการให้บริการของกระทรวงฯ ผ่านทางเว็บไซต์ www.mot.go.th You tube : MOT Chanel Twitter/Facebook: ประชาสัมพันธ์กระทรวงคมนาคม Line Official : กระทรวงคมนาคม หรือ ร่วมแสดงความคิดเห็น ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการให้บริการโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง และสถานีกลางบางซื่อ ผ่านช่องทาง Facebook Fan page : Bang sue Grand Station หรือ Call Center 1690 ซึ่งทุกความคิดเห็นจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาปรับปรุงการให้บริการเพื่อให้ประชาชนผู้ใช้บริการได้รับความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัยต่อไป