พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานผ้าพระกฐินให้ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ตามที่ได้ขอพระราชทานเพื่อน้อมนำไปถวายพระสงฆ์จำพรรษากาลถ้วนไตรมาส โดยมีนายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เป็นประธานในพิธีฯ ในการนี้ นายรังสรรค์ ตันเจริญ ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท ผศ.ดร.ศศิธร จันทมฤก ประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน หัวหน้าส่วนราชการจังหวัดชัยนาท คณะผู้บริหารข้าราชการกรมการพัฒนาชุมชนส่วนกลางและส่วนภูมิภาคจากจังหวัดต่าง ๆ ตลอดจนภาคีเครือข่าย พุทธศาสนิกชนผู้มีจิตศรัทธาเข้าร่วมในพิธีฯ ณ วัดธรรมามูลวรวิหาร ตำบลธรรมามูล อำเภอเมืองชัยนาท จังหวัดชัยนาท ซึ่งในการจัดพิธีถวายผ้ากฐินพระราชทานในครั้งนี้ มีการปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรการภายใต้การป้องกันควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) ของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด
นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า “ด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานผ้าพระกฐินให้กรมการพัฒนาชุมชน น้อมนำไปถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ที่จำพรรษากาลถ้วนไตรมาส ณ วัดธรรมามูลวรวิหาร ตำบลธรรมามูล อำเภอเมืองชัยนาท จังหวัดชัยนาท สำหรับการถวายผ้าพระกฐินพระราชทานในครั้งนี้ มียอดเงินโดยเสด็จพระราชกุศล จำนวน 3,139,505.50 บาท โดยแบ่งถวายบำรุงและบูรณะพระอารามจำนวน 2,937,255.50 บาท ถวาย พระราชปริยัติสุธี องค์ครอง จำนวน 3,000 บาท ถวายพระคู่สวด 2 รูปๆ ละ 1,500 บาท เป็นเงิน 3,000 บาท ถวายพระอันดับ 30 รูปๆ ละ 500 บาท เป็นเงิน 15,000 บาท ถวายสามเณร 2 รูปๆ ละ 500 บาท เป็นเงิน 1,000 บาท ให้ทุนการศึกษา โรงเรียนวัดธรรมามูล 15,000 บาท และ ค่าใช้จ่ายอื่นๆจำนวน 165,250 บาทซึ่งกรมการพัฒนาชุมชน ขอขอบคุณและอนุโมทนาบุญร่วมกับพี่น้องประชาชนผู้มีจิตศรัทธาทุกท่าน ที่ได้ร่วมทำบุญมหากุศลด้วยกันในครั้งนี้”
สำหรับประวัติและความเป็นมาของวัดธรรมามูลวรวิหาร เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองชัยนาท มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ตั้งอยู่บนไหล่เขาธรรมามูล ริมฝั่งแม่น้ำ ตำบลธรรมามูล ห่างจากอำเภอเมืองไปทางทิศเหนือประมาณ 8 กิโลเมตร สันนิษฐานว่า พระมหาธรรมราชา แห่งกรุงสุโขทัยทรงสร้าง กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อปี พ.ศ. 2478 พระอุโบสถ และวิหารเป็นสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยา ไม่ทราบประวัติความเป็นมาที่ชัดเจนได้มีการบูรณะ เมื่อปี พ.ศ. 2495 ภายในพระอุโบสถมีพระประธานเป็นพระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัย ศิลปะแบบอู่ทองได้มาจากเมืองสรรคบุรี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้า ฯ ให้อัญเชิญมาไว้ เป็นพระหล่อแบบช่างแม่น้ำนครชัยศรี มีรอยพระพุทธบาทประดิษฐานอยู่ในวิหาร สร้างด้วยศิลามีลวดลายสลักเป็นรูปกลมตามวงจักร สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ด้านหลังวิหารมีซากพระเจดีย์อยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรมมากเหลืออยู่เพียงฐานก่ออิฐถือปูน สันนิษฐานว่าเป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง มีสถาปัตยกรรมไม้เก่าแก่ก่อนสมัยอยุธยาพระเครื่องที่พบในพระเจดีย์เป็นศิลปกรรมแบบสุโขทัย นอกจากนั้นยังมีเจดีย์รายอีกหนึ่งองค์อยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรมเช่นกัน มีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ "หลวงพ่อธรรมจักร" ประดิษฐานอยู่ในวิหารด้านหน้าวัดธรรมามูล บริเวณเชิงเขาธรรมามูล ตามตำนานกล่าวว่าหลวงพ่อธรรมจักรลอยน้ำมา เมื่อมาถึงหน้าวัดพระภิกษุ และชาวบ้านได้อัญเชิญขึ้นไปประดิษฐานในวิหาร หลวงพ่อธรรมจักรเป็นพระพุทธรูปศิลปะร่วมสมัยเชียงแสน- สุโขทัย สร้างด้วยปูนปั้นปางห้ามญาติ ประทับบนฐานดอกบัว ยกขึ้นเสมอพระอุระหันพระพักตร์ไปทางทิศเหนือ ในฝ่าพระหัตถ์ขวาที่ยกขึ้นมีรูปธรรมจักรติดอยู่ไม่เหมือนกับพระพุทธรูปโดยทั่วไป หลวงพ่อธรรมจักรเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองชัยนาท ประชาชนชาวชัยนาท และจังหวัดข้างเคียงมีความเลื่อมใสศรัทธา และเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนทั่วไป จังหวัดชัยนาทได้นำสัญลักษณ์พระธรรมจักรมาเป็นสัญลักษณ์และตราประจำจังหวัดชัยนาท ส่วนน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาหน้าวัดธรรมามูลถือเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ นำไปใช้พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา และใช้เป็นน้ำอภิเษก เสมาทรายแดง เป็นเสมาคู่สลักด้วยศิลาทรายสีแดง มีลายกระหนกประกอบ สันนิษฐานว่าสลักขึ้นในปลายสมัยอยุธยาประมาณพุทธศตวรรษที่ 22 – 23 เพราะสมัยอยุธยาในรัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง นิยมสร้างวัตถุด้วยศิลาทรายแดงและเนื่องจากเป็นเสมาคู่ ซึ่งถือว่าเป็นวัดกษัตริย์สร้างจึงมีความสำคัญ และเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนอย่างกว้างขวาง วัดธรรมามูลวรวิหารยอดเขาธรรมามูลมีบันไดที่สร้างขึ้นไว้ จำนวน 565 ขั้น มีพื้นที่ลานกว้างประมาณ 5 ไร่เศษ มีวิหารหลวงพ่อนาค ซึ่งเป็นศิลปะแบบอยุธยาตอนต้น เป็นวิหารก่ออิฐถือปูนฐานๆฟๆๆๆๆๆสี่เหลี่ยมสองชั้นยาวประมาณ 9 เมตร สูงประมาณ 6 เมตร และกว้างฟๆๆๆๆๆๆ3.50 เมตร มีเสาสี่ต้น มีซุ้มประตูทางเข้ากว้างประมาณ 80 เซ็นติเมตร ผังวิหารก่ออิฐถือปูนทึบทั้งสามด้านหลังวิหารมีซากเจดีย์หนึ่งองค์ หน้าวิหารทางด้านทิศเหนือ มีสระรูปวงรี ขนาดกว้าง 6 เมตร ยาว 8 ศอก ห่างออกไปอีกประมาณ 100 เมตร มีซากเจดีย์อยู่ 1 องค์ ฐานล่างมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 10 เมตร ส่วนบนมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5 เมตร เชื่อกันว่าวิหารบนยอดเขาธรรมามูลเป็นที่ปลุกเสกน้ำมนต์ให้แก่ทหารในยามออกศึกสงคราม บริเวณลานกว้างบนยอดเขาใช้เป็นที่รวมพลของทหาร และเป็นที่ตรวจการณ์ความเคลื่อนไหวของข้าศึกในสมัยนั้น
ปัจจุบันวัดธรรมามูล เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มี ท่านเจ้าคุณพระราชปริยัติสุธี (ชลอ ปิยจาโร ปธ.9) เป็นเจ้าอาวาส มีพระภิกษุ สามาเณร จำนวน 33 รูป เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดชัยนาท เป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชนมาอย่างยาวนาน และได้รับกฐินพระราชทานเป็นประจำทุกปี