xs
xsm
sm
md
lg

ชู “โคก หนอง นา โมเดล จ.นครนายก” แก้ปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการเพาะปลูก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายอำพล อังคภากรณ์กุล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก ได้มอบหมายให้สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนครนายก นำโดย นายเสฏฐชัย ยุทธเศรษฐสิริ พัฒนาการจังหวัดนครนายก และนางสาววันวิสาข์ นามแก้ว พัฒนาการอำเภอเมืองนครนายก พร้อมทั้งพัฒนากรประจำตำบล นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) ร่วมลงพื้นที่ ต.ท่าทราย เพื่อติดตาม ส่งเสริม และสนับสนุนการดำเนินงานตามโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา โมเดล ในพื้นที่ อ.เมืองนครนายก จ.นครนายก

โดยได้ลงพื้นที่แปลงโคกหนองนาของ นางรัชฎาภรณ์ นิมิตรมาลา ขนาดพื้นที่ 1 ไร่ และแปลงพื้นที่โคกหนองนาของ นางอารีรัตน์ พวงดอกไม้ ขนาดพื้นที่ 3 ไร่ ซึ่งทั้งสองคนเป็นชาวบ้านหมู่ที่ 2 ต.ท่าทราย อ.เมืองนครนายก จ.นครนายก และได้ปฏิบัติตามมาตรการเฝ้าระวังโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อย่างเคร่งครัด ด้วยการเว้นระยะห่างและสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ซึ่งนายเสฏฐชัย ยุทธเศรษฐสิริ พัฒนาการจังหวัดนครนายก ได้พูดคุย สอบถามปัญหา และเยี่ยมชมการปลูกพืช 5 ระดับ การทำนา และการบริหารจัดการน้ำภายในพื้นที่ ให้คำแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับการดำเนินโครงการฯ รวมถึงให้กำลังใจแก่เจ้าของแปลงโคกหนองนาทั้งสองแปลง

นางรัชฎาภรณ์ และนางอารีรัตน์ กล่าวว่า แต่เดิมพื้นที่บริเวณนี้มักมีปัญหาขาดแคลนน้ำสำหรับการเกษตรทุกปี โดยเฉพาะในช่วงหน้าแล้งไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้ ตลอดทั้งปีนั้นสามารถทำได้เพียงปลูกข้าวซึ่งให้ผลผลิตได้ไม่ดีเท่าที่ควร ตนจึงคิดหาวิธีแก้ไขมาโดยตลอด จนมาถึงในปีนี้ที่ได้รับโอกาสจากจ.นครนายก ให้ตนได้เข้าร่วมโครงการฯ จึงถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้แก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเพาะปลูก สำหรับตนนั้นมีความยินดีและดีใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้ทำการขุดพื้นที่ของตนเองให้เป็นตามรูปแบบของโคก หนอง นาโมเดล โดยมีส่วนราชการเป็นผู้ดำเนินการให้ จนสามารถมีบ่อน้ำสำหรับการกักเก็บน้ำ ซึ่งอย่างน้อยคาดว่าจะมีน้ำใช้ในช่วงหน้าแล้งอย่างเพียงพอ ทั้งยังมีคลองไส้ไก่สำหรับการสร้างความชุ่มชื้นภายในพื้นที่ และยังมีพื้นที่โคกเพียงพอสำหรับการปลูกพืชชนิดต่างๆ โดยตนเองและครอบครัวมักใช้เวลาว่างในช่วงบ่ายและช่วงเย็นนำต้นไม้ พืชชนิดต่างๆ มาปลูก เช่น ไม้ประดู่ ไม้ยางนา สะเดา อะโวคาโด ต้นมะพร้าว และผักพื้นบ้านอีกหลายชนิด อีกทั้งในอนาคตอยากจะทำพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นสวนสมุนไพรไทย เพื่อผลิตวัตถุดิบในการทำยาสมุนไพรอบแห้ง มีความตั้งใจอยากจะต่อยอดให้เป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรประจำถิ่น และพร้อมที่จะพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นแหล่งศึกษาหาความรู้ เป็นศูนย์เรียนรู้ให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียงและบุคคลที่สนใจทั่วไป
กำลังโหลดความคิดเห็น