รองอธิบดีกรมชลประทานแจงสถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยา พื้นที่เศรษฐกิจปลอดภัย แต่ยังคงระบายน้ำค้างทุ่งแบบค่อยเป็นค่อยไป คาดเขื่อนเจ้าพระยาน้ำไหลผ่านลดลง 23-25 พ.ย. กลับเข้าสู่ภาวะปกติ พร้อมกักเก็บน้ำให้เกษตรกรไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง
วันนี้ (8 พ.ย.) นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ชี้แจงกรณีสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ระบุว่า เมื่อเช้านี้ปริมาณน้ำที่ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาประมาณ 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีซึ่งมีแนวโน้มดีขึ้น แต่เนื่องจากฝนตกจำนวนมาก ปริมาณน้ำผ่านสถานี C43 (บางไทร) ประมาณ 8,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนสถานี S26 ท้ายเขื่อนพระราม 6 มีปริมาณน้ำ 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยรวมแล้วมีปริมาณน้ำระบายลงสู่อ่าวไทย 11,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่ไม่เก็บกักน้ำเพราะฝนตกท้ายเขื่อน ปัจจุบันเขื่อนภูมิพลเก็บกักได้ 61% และเขื่อนสิริกิติ์เก็บกักได้ 47% ส่วนเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดนปริมาณเก็บกัก 100%
โดยเฉพาะเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ต้องระบายน้ำให้สมดุลกันเพื่อไม่ให้กระทบต่อลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา โดยใช้เขื่อนพระราม 6 ตัดยอดน้ำผันมาที่คลองระพีพัฒน์ ผ่านคลอง 13 คลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต ลงสู่ทะเล อีกส่วนหนึ่งออกแม่น้ำบางปะกง และจังหวัดนครนายก ส่วนที่เหลือไหลรวมกับแม่น้ำเจ้าพระยาที่วัดพนัญเชิง ยืนยันว่าปริมาณน้ำไม่เกิน 3,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ในพื้นที่เศรษฐกิจปลอดภัย ส่วนจะระบายได้หมดเมื่อไหร่นั้น คาดการณ์ว่าปริมาณน้ำไหลลงมาท้ายเขื่อนเจ้าพระยาต่ำกว่า 700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ในวันที่ 23-25 พ.ย. น้ำค้างที่อยู่ในที่ลุ่มต่ำ 2,500 ล้านลูกบาศก์เมตร ยังคงระบายน้ำอย่างต่อเนื่อง เช่น ทุ่งเจ้าเจ็ด ทุ่งพระยาบันลือ ส่วนแม่น้ำท่าจีนมีการระบายตัดยอดน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาเช่นกัน
ปัจจุบันที่ อ.สรรพยา จ.ชัยนาท อ.อินทร์บุรี และ อ.เมือง จ.สิงห์บุรี ระดับน้ำกลับเข้าสู่ตลิ่ง ยกเว้น ต.โผงเผง อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง และบางพื้นที่ยังล้นตลิ่งอยู่ ลุ่มเจ้าพระยาจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงวันที่ 23-25 พ.ย. ยกเว้นพื้นที่ลุ่มต่ำสุดจะใช้เครื่องสูบน้ำสูบออกไป โดยเริ่มระบายน้ำออกไปแล้ว แต่เนื่องจากระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีนยังสูงอยู่ โดยใช้วิธีระบายน้ำตามแรงโน้มถ่วงของโลก (Gravity) ซึ่งจะระบายได้ดีกว่า แต่จะไม่ระบายทั้งหมดเพราะอยู่ในช่วงฤดูแล้ง จะกักเก็บน้ำให้เกษตรกรทำการเกษตร ปริมาณน้ำ 8,000 ล้านลูกบาศก์เมตรถือว่ามีปริมาณน้ำที่ดีกว่าปีที่แล้ว ซึ่งนายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สั่งการให้จัดทำแผนเพาะปลูกข้าวนาปรัง 2.8 ล้านไร่ให้เกษตรกรลุ่มน้ำเจ้าพระยา จากทั้งหมด 6 ล้านไร่ทั่วประเทศ และเตรียมน้ำสำหรับปลูกข้าวนาปี 10 พื้นที่ เช่น ทุ่งบางระกำ จ.พิษณุโลก
ชมคลิป คลิกที่นี่