xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” ไฟเขียวโรงสีนอกพื้นที่ซื้อข้าวเหนียว เปิดตลาดนัดข้าวเปลือก 19 จังหวัด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“พาณิชย์” เร่งแก้ไขปัญหาข้าวราคาตก ไฟเขียวผู้ประกอบการนอกพื้นที่รับซื้อข้าวเหนียวพื้นที่ภาคเหนือ 13 จุด ใน 7 จังหวัด และเปิดตลาดนัดข้าวเปลือกอีก 30 จุด ใน 19 จังหวัด คาดแนวโน้มราคาขยับ หลังส่งออกดีขึ้น การบริโภคข้าวในประเทศเพิ่มขึ้นจากการเปิดประเทศ และน้ำท่วมคลี่คลาย ย้ำแม้ราคาข้าวต่ำลงแต่มีประกันรายได้คอยชดเชยส่วนต่าง

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้สั่งการให้กรมการค้าภายในเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาราคาข้าวที่กำลังออกสู่ตลาดและชะลอตัวในขณะนี้ โดยกรมฯ ได้อนุมัติให้ผู้ประกอบการนอกพื้นที่เข้าไปช่วยรับซื้อข้าวเหนียวในพื้นที่ภาคเหนือ จำนวน 13 จุด ใน 7 จังหวัด ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2564 และอนุมัติโครงการตลาดนัดข้าวเปลือกให้มีผู้รับซื้อเข้าไปแข่งขันรับซื้อในพื้นที่ที่มีผู้รับซื้อไม่เพียงพอต่อผลผลิต เพื่อให้เกิดการแข่งขันและราคา จำนวน 30 จุด ใน 19 จังหวัด

ปัจจุบันสถานการณ์ข้าวมีแนวโน้มดีขึ้น จากการส่งออกข้าวในขณะนี้ที่มีทิศทางที่ดีจากคำสั่งซื้อต่างประเทศที่มีมากขึ้น ค่าเงินปัจจุบันที่อ่อนตัวลง ทำให้ข้าวไทยสามารถแข่งขันได้ โดยคาดว่าปริมาณการส่งออกทั้งปีจะใกล้เคียงกับเป้าหมาย 6 ล้านตันที่ตั้งไว้ ขณะที่การบริโภคข้าวในประเทศก็มีสัญญาณดีขึ้นเช่นกัน จากการผ่อนคลายเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาท่องเที่ยวได้ ทำให้ความต้องการบริโภคมีมากขึ้น ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมก็เริ่มคลี่คลายลง รวมทั้งมีมาตรการคู่ขนานและมาตรการที่กระทรวงพาณิชย์เข้าไปแก้ไขปัญหา จะส่งผลให้สถานการณ์ราคาข้าวเปลือกในตลาดดีขึ้นเป็นลำดับ

ทั้งนี้ ราคาข้าวที่ตกต่ำในช่วงนี้ ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับความชื้นและคุณภาพ หากเกษตรกรเก็บเกี่ยวและจำหน่ายให้กับโรงสีทันที ข้าวมีความชื้นสูงประมาณ 30% เรียกข้าวสด ไม่สามารถนำไปสีได้ทันที ต้องลดให้เหลือที่ความชื้นมาตรฐานไม่เกิน 15% ซึ่งเป็นเกณฑ์ในการซื้อขายข้าวตามโครงการของรัฐบาล เช่น กรณีที่เกษตรกรจำหน่ายข้าวเปลือกหอมมะลิที่ความชื้น 30% ที่กิโลกรัม (กก.) ละ 8.10 บาท หรือตันละ 8,100 บาท เมื่อคำนวณเป็นข้าวแห้ง มีราคาตันละ 10,500 บาท หรือกรณีจำหน่ายข้าวเปลือกเหนียวที่ความชื้น 30% ในราคา กก.ละ 5.6 บาท หรือตันละ 5,600 บาท เมื่อคำนวณเป็นข้าวแห้ง มีราคาตันละ 7,300 บาท ทั้งนี้ ราคาที่เกษตรกรได้รับขึ้นอยู่กับคุณภาพและสิ่งเจือปนด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้ราคาข้าวจะลดต่ำลง แต่เกษตรกรยังได้รับการดูแลภายใต้โครงการประกันรายได้ ปี 2564/65 และมาตรการคู่ขนาน ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติวงเงิน 18,000 ล้านบาท เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2564 ที่ผ่านมา โดยราคาเป้าหมายประกันรายได้ปี 2564/65 กำหนดราคาข้าวเปลือกที่ความชื้นไม่เกิน 15% ดังนี้ 1. ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 15,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน 2. ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 14,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน 3. ข้าวเปลือกปทุมธานี ตันละ 11,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 25 ตัน 4. ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 10,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน 5. ข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 12,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน

สำหรับมาตรการคู่ขนาน ก็ยังคงหลักการเช่นเดียวกับปีก่อน โดยให้เกษตรกรรวบรวมจัดเก็บไว้ในยุ้งฉาง ได้รับค่าฝากเก็บตันละ 1,500 บาท และเพิ่มสภาพคล่องในการรับซื้อข้าวเปลือกแก่สหกรณ์และโรงสีโดยชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3 ระยะเวลา 2-6 เดือน สำหรับโรงสี และ 1 ปี สำหรับสหกรณ์


กำลังโหลดความคิดเห็น