xs
xsm
sm
md
lg

“คณิศ” แจง ซี.พี.จ่ายมัดจำค่าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ 10% แล้ว รับบริหารไร้ปัญหา ยันส่งมอบพื้นที่ไฮสปีดจบ ม.ค. 65 ตามแผน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สกพอ.” แจง ซี.พี.จ่ายมัดจำ 10% หรือกว่า 1 พันล้านบาทค่า “แอร์พอร์เรลลิงก์” ยืนยันพร้อมดำเนินการตามสัญญา เร่งเจรจา รฟท.เยียวยาโควิดจบใน 3 เดือน เผยส่งมอบพื้นที่สร้างไฮสปีดช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภาไปแล้ว 98.11% ที่เหลือครบใน ม.ค. 65 พร้อมออก NTP มี.ค. 65 จึงยังไม่ถึงขั้นตอนหาเงินกู้ เชื่อเปิดประเทศสถานการณ์จะดีขึ้น

วันที่ 26 ต.ค. 2564 นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ (EEC Project list) ว่า กรณีที่ บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด หรือเดิมคือกลุ่ม ซี.พี.ต้องเข้ารับโอนสิทธิ์ดำเนินการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ในวันที่ 24 ต.ค. 2564 ตามสัญญาร่วมทุน พร้อมชำระค่าให้สิทธิร่วมลงทุนแอร์พอร์ตเรลลิงก์จำนวน 10,671.09 ล้านบาท ให้แก่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แต่เนื่องจากผลกระทบสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ผู้โดยสารลดลงจากประมาณ 7-8 หมื่นคน/วันในช่วงที่ทำสัญญา เหลือเพียง 1-2 หมื่น คน/วัน ซึ่งเป็นเหตุสุดวิสัยที่ไม่คาดการณ์มาก่อน โดยทางเอกชนได้ทำหนังสือขอเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้น

คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) มีนโยบายให้หาทางแก้ไขโดยไม่ให้กระเทือนต่อประชาชนผู้โดยสาร โดยเมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2564 รฟท.และเอกชนได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ในการบริหารสัญญาร่วมลงทุน และแก้ไขปัญหาโครงการฯ เพื่อให้เอกชนเข้ารับดำเนินการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ และให้มีบริการได้อย่างต่อเนื่อง โดย MOU มีระยะเวลา 3 เดือนเพื่อให้เจรจาหาทางออกร่วมกันโดยรัฐต้องไม่เสียประโยชน์ และเป็นธรรมต่อเอกชน โดยการเจรจาจะดำเนินการโดยคณะทำงานที่แต่งตั้งโดย รฟท.และคณะกรรมการกำกับเพื่อนำเสนอ รฟท. กพอ. และ ครม.ต่อไป

ทั้งนี้ MOU มีรายละเอียด คือ 1. เอกชนคู่สัญญาเข้ารับดำเนินการแอร์พอร์ตเรลลิงก์นับจากวันที่ 24 ต.ค. 2564 ตามกำหนดการที่วางไว้ 2. เอกชนฯ รับผิดชอบค่าใช้จ่ายรวมถึงบุคลากรปฏิบัติงานทั้งหมด รับผิดชอบความเสี่ยงทั้งหมดที่อาจจะเกิดขึ้นจากการดำเนินงานที่ได้รับมอบหมาย และการดำเนินการอื่นใด เพื่อทำให้การเดินรถไฟและซ่อมบำรุงรักษาระบบแอร์พอร์ตเรลลิงก์เป็นไปตามมาตรฐานดัชนีชี้วัด หรือ KPI ที่ รฟท.กำหนด ซึ่งหลังจากลงนามสัญญาร่วมลงทุนฯ เอกชนได้มีการลงทุนไปแล้วกว่า 1,100 ล้านบาท ในการปรับปรุงระบบและบริการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ และฝึกอบรมพนักงานปฏิบัติการมาอย่างต่อเนื่อง
3. รฟท.ยังเป็นผู้จัดเก็บค่าโดยสารเหมือนเดิม เพราะยังไม่มีโอนสิทธิ์และรายได้ให้เอกชนจนกว่าจะมีการแก้ไขปัญหาการชำระค่าแอร์พอร์ตเรลลิงก์แล้วเสร็จ ทั้งนี้ จะให้เอกชนนำค่าโดยสารดังกล่าวไปหักค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น หากกำไรต้องส่งคืน รฟท. ดังนั้น รฟท.จึงไม่ต้องรับภาระขาดทุนจากการดำเนินงานแอร์พอร์ตเรลลิงก์อีกต่อไปนับจากวันที่ 24 ต.ค. 2564 ซึ่งในปี 2564 รฟท.ขาดทุนจากการดำเนินงานแอร์พอร์ตเรลลิงก์ประมาณ 600 ล้านบาท และประเมินว่าในปี 2565 หาก รฟท.ดำเนินการเองจะขาดทุนประมาณ 700 ล้านบาท ดังนั้น เมื่อให้เอกชนเข้ามาบริหารเท่ากับ รฟท.ตัดเรื่องขาดทุน ส่วนเอกชนเข้ามารับความเสี่ยงแทน ขณะที่ รฟท.เองไม่จัดเตรียมงบประมาณที่จะบริหารโครงการต่อด้วย

4. วันที่ลงนาม MOU เอกชนฯ นำเช็คเงินสดจำนวน 1,067.11 ล้านบาท หรือคิดเป็น 10% ของค่าสิทธิร่วมลงทุนในแอร์พอร์ตเรลลิงก์จำนวน 10,671.09 ล้านบาทให้แก่ รฟท. เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะดำเนินการอย่างเคร่งครัดตามบันทึกข้อตกลง ส่วนที่เหลือจะผ่อนผันการชำระเป็นอย่างไรยังอยู่ระหว่างหารือรายละเอียด

เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2564 เอกชนได้เข้าดำเนินการโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ตาม MOU แล้ว และการดำเนินงานเป็นไปอย่างราบรื่น ไม่พบปัญหาอุปสรรคใดๆ ในการให้บริการประชาชน โดย รฟท.ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด พร้อมกันนี้ เอกชนได้เสนอแผนการลงทุนเพื่อพัฒนาแอร์พอร์ตเรลลิงก์ เป็นจำนวนเงินไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านบาท โดยได้ลงทุนไปแล้วกว่า 1,000 ล้านบาท จึงไม่มีเหตุผลที่จะชะลอการรับงานของเอกชน ส่วนที่เหลือจะมีการลงทุนในการจัดหาขบวนรถไฟฟ้าเพิ่มเติม และจัดทำทางเดินเชื่อมใต้ดินจากสถานีรถไฟฟ้า MRT มายังสถานีแอร์พอร์ตเรลลิงก์เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน
ขณะนี้เอกชนส่งบุคลากรจำนวน 475 คนเข้าบริหารโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์แล้ว แบ่งเป็น ฝ่ายปฏิบัติการ 250 คน ฝ่ายซ่อมบำรุง 225 คน การถ่ายโอนการบริหารจึงไม่มีปัญหา แต่โอนสิทธิ์ต้องรอการเจรจาให้ได้ข้อยุติภายใน 3 เดือนก่อน

@ยันส่งมอบพื้นที่ ออก NTP เริ่มก่อสร้าง มี.ค. 65 แจงตอนนี้ยังไม่ถึงเวลากู้เงิน

ส่วนการส่งมอบพื้นที่เพื่อก่อสร้างให้เอกชนนั้น เอกชนจะต้องก่อสร้างโครงการช่วงสุวรรณภูมิถึงอู่ตะเภา ระยะทางประมาณ 160 กิโลเมตร ซึ่ง รฟท.ได้มีการส่งมอบพื้นที่ไปแล้ว 98.11% คิดเป็นพื้นที่ 3,513 ไร่ 1 งาน 3 ตารางวา ซึ่งเอกชนคู่สัญญาได้ทยอยเข้าเตรียมการก่อสร้างแล้วตั้งแต่ปลายปี 2563 ประกอบด้วย การสร้างถนนและสะพานชั่วคราวของโครงการ การสร้างโรงหล่อชิ้นส่วนทางวิ่งรถไฟ การสร้างบ้านพักคนงาน ส่วนที่เหลืออีก 1.89% ภายในเดือน ม.ค. 2565 และเมื่อเอกชนตรวจรับพื้นที่แล้วเสร็จ รฟท.จะออกหนังสือแจ้งเริ่มงานก่อสร้างอย่างเป็นทางการ (NTP) ประมาณเดือน มี.ค. 2565 จึงยังไม่ถึงขั้นตอนที่เอกชนต้องได้หา โดยสัญญาร่วมลงทุนกำหนดว่าให้เอกชนทำสัญญาสินเชื่อโครงการกับสถาบันการเงิน (หรือสัญญาจัดหาเงินสนับสนุนสำหรับโครงการฯ) ภายใน 240 วัน นับจากวันที่ รฟท. ออก NTP หรือประมาณเดือน พ.ย. 2565 โดยเงินกู้จะนำมาใช้สำหรับการก่อสร้างโครงการช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ประมาณ 1 แสนล้านบาท

“แบงก์เขาก็คงตามดูแต่ยังไม่ถึงเวลาต้องปล่อยกู้ และเชื่อว่าหลังโควิด-19 คลี่คลายทุกอย่างมีการเปิดประเทศก็น่าจะดีขึ้น ยืนยันว่าการก่อสร้างยังเป็นไปตามแผนที่วางไว้ ส่วนการส่งมอบที่ดินนั้นขอขอบคุณ รฟท.ที่ดูแลใกล้ชิด ที่เป็นปัญหาใหญ่ก็ยังเป็นไปตามแผนไม่มีล่าช้า” นายคณิศกล่าว

สำหรับการลงทุนรัฐร่วมเอกชนในอีอีซีถือเป็นต้นแบบในการประหยัดงบประมาณจากรัฐ ส่วนกรณีโควิด-19 ซึ่งเป็นเหตุสุดวิสัยที่ไม่อาจคาดการณ์มาก่อน เพราะรัฐบาลออกมาตรการกำหนดให้ธุรกิจ และประชาชนหยุดการเดินทางเป็นระยะๆ ทำให้จำนวนผู้โดยสารแอร์พอร์ตเรลลิงก์ลดลงเป็นจำนวนมาก นำไปสู่การเจรจาเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดอย่างเป็นธรรมโดยไม่มีฝ่ายใดเสียเปรียบ ส่วนโครงการร่วมทุนอื่นๆ ในอีอีซีไม่จำเป็นต้องนำมาสู่กระบวนการแก้ไขปัญหา เช่น กรณีแอร์พอร์ตเรลลิงก์ เพราะ โครงการท่าเรือมาบตาพุด และสนามบินอู่ตะเภา : เมืองการบินภาคตะวันออก กำลังจะเริ่มก่อสร้าง ซึ่งคาดว่าเมื่อก่อสร้างเสร็จใน 4 ปีผลกระทบจากโควิดคงหมดไปแล้ว ส่วนโครงการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ที่กำลังจะลงนามได้ต้นเดือน พ.ย.ได้พิจารณาผลกระทบเหล่านี้ในสัญญาไว้แล้ว” นายคณิศกล่าว

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี


กำลังโหลดความคิดเห็น