บอร์ด รฟท.เห็นชอบเซ็น MOU กับเอเชีย เอรา วัน (ซี.พี.) ตกลงเลื่อนจ่ายค่าแอร์พอร์ตลิงก์จาก 24 ต.ค. 64 ไป 3 เดือน พร้อมเร่งเจรจาเงื่อนไขแบ่งชำระและแก้ไขสัญญาร่วมทุนฯ เผยยังไม่โอนสิทธิ์จนกว่าจะจ่ายเงิน
แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. ที่มีนายจิรุตม์ วิศาลจิตร เป็นประธาน เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2564 ได้มีมติรับทราบแนวทางแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโควิด-19 ของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ตามมติ กพอ. ครั้งที่ 3/2564 เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2564 พร้อมทั้งเห็นชอบการลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง รฟท. อีอีซี และ บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ซึ่งกำหนดลงนามในวันที่ 20 ต.ค.2564 เพื่อให้มีผลก่อนวันที่ 24 ต.ค. 2564 ซึ่งเป็นกำหนดที่ รฟท.จะโอนสิทธิ์การเดินรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ให้บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด หรือเดิมคือกลุ่ม ซี.พี. โดย MOU จะมีระยะเวลา 3 เดือน เนื่องจากคาดว่ากระบวนการแก้ไขสัญญาจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน
ทั้งนี้ เมื่อที่ประชุม กพอ.มีมติถึงแนวทางการแก่ปัญหาให้เอกชน รฟท.จึงได้รับทราบตามข้อเท็จจริง และปฏิบัติตาม โดยจะเร่งลงนาม MOU ร่วมกันก่อน ส่วนการแก้ไขสัญญาร่วมทุนฯ นั้น เนื่องจากมีกระบวนการที่ต้องดำเนินการตามระเบียบและข้อกฎหมาย คือต้องเสนอร่างสัญญาที่มีการแก้ไขให้อัยการสูงสุดตรวจสอบ รวมถึงผ่านความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ กฤษฎีกา และสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ
“ทางเอกชนขอผ่อนชำระค่าแอร์พอร์เรลลิงก์ แต่ประสงค์จะเข้าดำเนินการบริหารโครงการในวันที่ 24 ต.ค. 2564 ตามเงื่อนไขสัญญา ดังนั้น เมื่อยังไม่มีการชำระค่าโอนสิทธิ์ จึงต้องถือว่า รฟท.ยังเป็นเจ้าของแอร์พอร์ตเรลลิงก์ต่อไป โดยจะให้ บ.เอเชีย เอรา วันฯ เข้ามาดำเนินการได้ก่อน สามารถส่งพนักงานเข้ามาดำเนินการแทน บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) ซึ่งจะต้องโยกย้ายบุคลากรไปให้บริการที่รถไฟชานเมืองสายสีแดงตามแผน ดังนั้น ในแง่การให้บริการจะไม่มีผลกระทบต่อประชาชน”
@เจรจายังไม่จบ ผ่อนจ่าย 6 ปี หรือ 10 ปี พร้อมดอกเบี้ย
แหล่งข่าวจาก รฟท.กล่าวว่า จากเงื่อนไขสัญญาร่วมทุนฯ ที่ตกลงจะจ่ายค่าแอร์พอร์เรลลิงก์จำนวน 10,671.090 ล้านบาทเป็นก้อนเดียวในวันที่ 24 ต.ค. 2564 ซึ่ง ซี.พี.ได้เจรจาขอเลื่อนชำระ พร้อมกับแบ่งชำระ 10 งวด (10 ปี) ซึ่งคณะกรรมการบริหารสัญญาโครงการฯ ได้มีการเจรจากับบริษัทฯ แบ่งชำระเหลือ 6 งวด (6 ปี) โดยปีแรกจ่ายในสัดส่วน 5% ปีที่ 2 จ่าย 7% ปีที่ 3 จ่าย 10% ปีที่ 4 จ่าย 10% ปีที่ 5 จ่าย 10% ปีที่ 6 จ่ายส่วนที่เหลือทั้งหมดประมาณ 67.7% ซึ่งกรณีแบ่งชำระเอกชนต้องจ่ายดอกเบี้ยเพิ่ม โดยค่าปัจจุบันสุทธิ (Net Present Value : NPV) จะอยู่ที่ 11,705.463 ล้านบาท เพิ่มจากวงเงินเดิม 1,034.373 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม หลังจากเซ็น MOU แล้วจะมีการเจรจากันอีก ซึ่งอาจจะมีการปรับเปลี่ยนจำนวนงวด รวมถึงการเริ่มจ่ายงวดแรกเมื่อใด โดยจะประเมินโควิดด้วยเนื่องจากจะส่งผลต่อจำนวนผู้โดยสารที่จะกลับเป็นปกติ
สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา) ระยะเวลา 50 ปี มูลค่ากว่า 224,544 ล้านบาท สัญญาร่วมทุนกำหนดบริษัทรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด (กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด หรือ ซี.พี.และพันธมิตร ประกอบด้วย บจ.เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง, บจ.ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่น (CRCC), บมจ.ช.การช่าง (CK), บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM), บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) ซึ่งได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด จะต้องชำระเงินค่าโอนสิทธิ์แอร์พอร์ตเรลลิงก์จำนวน 10,671.090 ล้านบาท ให้ รฟท.วันที่ 24 ต.ค. 2564 หรือ 2 ปีหลังลงนามสัญญา เพื่อเข้าบริหารการเดินรถแอร์พอร์ตเรลลิงก์