กทพ.เซ็นสัญญา "กลุ่มยูเอ็น-ซีซี" และ "ไอทีดี-วีซีบี" เร่งสร้างทางด่วน "พระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนฯ" สัญญา 1, 3 วงเงินรวม 1.47 หมื่นล้านบาท ปรับแผนเร่งรัดก่อสร้างให้ทัน สัญญา 2, 4 ดันเปิดบริการในปี 2567
นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก สัญญาที่ 1 และสัญญาที่ 3 ระหว่าง กทพ. กับ บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท ชีวิล คอนสตรัคชั่น เซอร์วิสเซส แอนด์ โปรดักส์ จำกัด บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) บริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด และพิธีลงนามข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) ณ อาคารศูนย์บริหารทางพิเศษ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย
นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการ กทพ. กล่าวว่า กทพ.ได้ดำเนินการโครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก โดยงานก่อสร้างดังกล่าวแบ่งออกเป็น 5 สัญญา ประกอบด้วย สัญญาที่ 1-4 เป็นงานโยธา และสัญญาที่ 5 เป็นงานระบบจัดเก็บค่าผ่านทางและระบบควบคุมการจราจร โดยได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างในส่วนของสัญญาที่ 4 ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2563 และสัญญาที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 6 พฤษภาคม 2563
สำหรับการลงนามสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการฯ ครั้งนี้ ประกอบด้วยสัญญาที่ 1 เป็นงานก่อสร้างทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร ซ้อนทับไปตามแนวถนนพระราม 2 ตั้งแต่ กม.13+000 ถึง กม.6+600 ของถนนพระราม 2 ระยะทางรวมประมาณ 6.4 กิโลเมตร ซึ่งการทางพิเศษฯ ได้ว่าจ้างกิจการร่วมค้า ยูเอ็น-ซีซี ประกอบด้วย บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซีวิล คอนสตรัคชั่น เซอร์วิสเซส แอนด์ โปรดักส์ จำกัด มีระยะเวลาการก่อสร้างตามสัญญาทั้งสิ้น 1,020 วัน โดยมีมูลค่าก่อสร้างตามสัญญา 7,359,000,000 บาท
สัญญาที่ 3 เป็นงานก่อสร้างทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร คร่อมตามแนวทางพิเศษเฉลิมมหานครช่วงดาวคะนอง-สุขสวัสดิ์-ราษฎร์บูรณะ ระยะทางรวมประมาณ 5 กิโลเมตร ซึ่งการทางพิเศษฯ ได้ว่าจ้างกิจการร่วมค้า ไอทีดี-วีซีบี ประกอบด้วยบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด มีระยะเวลาการก่อสร้างตามสัญญา 1,020 วัน โดยมีมูลค่าก่อสร้างตามสัญญา 7,358,309,000 บาท
ทั้งนี้ เมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการทางพิเศษสายดังกล่าวได้ในช่วงปลายปี 2567 การทางพิเศษแห่งประเทศไทยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการทางพิเศษ สายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตกนี้จะช่วยให้การจราจรของกรุงเทพมหานครที่มุ่งสู่ภาคใต้ของประเทศไทยมีความคล่องตัวขึ้น