“จุรินทร์” เผยการค้าออนไลน์จะทวีความสำคัญต่อเนื่องทั้งการค้าในประเทศและต่างประเทศ ชี้ความตกลงการค้าจะให้ความสำคัญต่อการกำหนดกฎ กติกาในเรื่องนี้เพิ่มขึ้น ยันพาณิชย์พร้อมเดินหน้าปั้นผู้ประกอบการเข้าสู่การค้าออนไลน์ เน้นทุกกลุ่ม ตั้งแต่เยาวชน ผู้ประกอบการชุมชน ผู้ประกอบการท่องเที่ยว และผู้สนใจทั่วไป
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยในการเป็นประธานเปิดการอบรม E-Commerce และสัมมนาเศรษฐกิจทันสมัย การค้าก้าวไกลไปกับดิจิทัล ที่ห้องประชุมโรงแรมสตารินทร์รีสอร์ท อ.เมือง จ.สตูล ว่าการค้าออนไลน์หรืออีคอมเมิร์ซทวีความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะในยุค New Normal ที่เราเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 ทำให้รูปแบบทางการค้าต้องปรับเปลี่ยน เพราะโลกมีปัญหาอุปสรรคในเรื่องการเดินทางไปค้าขายสินค้าทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ จึงต้องมีระบบใหม่เข้ามาแทนที่ คือระบบการค้าแบบออนไลน์ การค้าทางดิจิทัล โดยการค้าแบบออนไลน์สามารถดำเนินการได้ทั้งการค้าขายในประเทศ และระหว่างประเทศ
“การค้าสมัยก่อน เราใช้ระบบออฟไลน์หรือออนไซต์ แต่พอเกิดโควิด-19 ไม่สามารถทำได้ ต้องใช้ระบบออนไลน์เข้ามาแทน แต่มีระบบใหม่ที่เรียกว่าระบบไฮบริด หรือระบบผสมผสาน ที่ใช้ทั้งระบบออฟไลน์และออนไลน์ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ของประเทศไทยเป็นต้นแบบนวัตกรรมทางการตลาดนี้ เป็นประเทศแรกๆ ของโลก โดยสามารถจัดงานแสดงสินค้า แล้วแสดงให้ผู้ขายเห็นผ่านจอ สามารถเจรจาตกลงทำความเข้าใจเรื่องคุณภาพ การส่งมอบและทำสัญญาทางออนไลน์ได้ ซึ่งเดี๋ยวนี้ทุกประเทศในโลกเอาไปใช้ทั้งหมดแล้ว”
ทั้งนี้ การค้าระบบอีคอมเมิร์ซจะทวีความสำคัญ เพราะไม่ว่าจะเป็นการลงนามข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศ หรือกลุ่มประเทศ ทั้งแบบทวิภาคีและพหุภาคี เช่น RCEP หรือข้อตกลงทางการค้าอื่นๆ ใน WTO ล้วนมีการบรรจุหัวข้ออีคอมเมิร์ซลงไปในข้อตกลง เช่น เรื่องการเก็บภาษี หรือการสร้างความเชื่อถือของสินค้าบริการที่ค้าขายผ่านระบบอีคอมเมิร์ซ กฎระเบียบต่างๆ ที่จะดำเนินคดี ถ้ามีการละเมิดสัญญาซื้อขาย การระงับข้อพิพาทในระบบการค้าออนไลน์ ซึ่งโลกพัฒนาไปเรื่อยๆ จะต้องติดตามและให้ความสนใจ
นายจุรินทร์กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์พร้อมที่จะเข้าไปช่วยอบรมและพัฒนาให้เกิดผู้ประกอบการการค้าออนไลน์ให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยที่ผ่านมาได้ดำเนินการพัฒนาไปแล้วใน 4 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มเด็กและเยาวชน โดยเด็กและเยาวชนที่สนใจการค้าอีคอมเมิร์ซเดี๋ยวนี้กระจายไปทั่วประเทศ และกระทรวงพาณิชย์มีนโยบายสำคัญที่ต้องการอบรมเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้มีความรู้เรื่องการค้าระบบอีคอมเมิร์ซ และเป็นผู้บริหารต่อไปในอนาคต โดยจัดทำโครงการ ปั้น Gen Z ให้เป็น CEO มีหลักสูตรให้ความรู้เบื้องต้นในเรื่องการบริหารจัดการธุรกิจใหม่ที่ใช้ระบบดิจิทัล เรียนรู้การส่งออก การทำสัญญาระหว่างประเทศ การบริหารจัดการ บัญชี สต๊อก เป็นต้น ภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งปีสามารถอบรมไปแล้วเกือบ 20,000 คน
2. กลุ่มผู้ประกอบการสินค้าในชุมชน 3. กลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยวชุมชน ซึ่งได้มีการนำเสนอเรื่องท่องเที่ยวฮาลาล ซึ่งตนสนับสนุนเพราะเคยเป็นรัฐมนตรีท่องเที่ยวตอนปี 2540 ในรัฐบาลชวน 2 (นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2) ตนเข้าใจ จะเป็นจุดขายจุดหนึ่งทางการท่องเที่ยวของประเทศต่อไปได้ โดย 1. สินค้าต้องเป็นสินค้าฮาลาล 2. บริการต้องเป็นบริการแบบฮาลาล 3. วัฒนธรรมแบบฮาลาล 4. โรงแรมฮาลาล เป็นต้น สามารถดำเนินการได้โดยเฉพาะในจังหวัดภาคใต้จะเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมายอีกกลุ่มหนึ่งที่จะนำรายได้เข้าประเทศด้านการท่องเที่ยว และ 4. กลุ่มผู้ประกอบการและผู้สนใจทั่วไป