การบริหารจัดการน้ำเขื่อนที่ผ่านมาจะมีการจัดทำเกณฑ์การบริหารจัดการน้ำ (Rule Curve) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำ ให้มีเสถียรภาพและลดความเสี่ยง เช่น ระดับน้ำสูงที่เกินเกณฑ์ควบคุม (Upper Rule Curve) อาจเกิดอันตรายต่อตัวเขื่อนได้ ตรงข้ามไม่ให้ระดับน้ำต่ำที่เกินเกณฑ์ควบคุม (Lower Rule Curve) จนเสี่ยงต่อขาดแคลนน้ำ
เกณฑ์เหล่านี้เป็นการนำเอาข้อมูลย้อนหลังในอดีตมาวิเคราะห์สมดุลน้ำ ซึ่งในอดีตอาจมีปัญหาน้อย เพราะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ไม่ผันผวนมากนัก เกณฑ์ควบคุมดังกล่าวจึงนับว่าเหมาะสมแก่สถานการณ์ในอดีต
เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทวีความรุนแรงมากขึ้นในระยะหลังๆ สภาวะน้ำฝนและน้ำท่าทั้งเชิงปริมาณและความหนาแน่นกระจายตัวแต่ละปีก็แปรเปลี่ยนไป จนบางครั้งคาดการณ์หรือพยากรณ์ได้ยาก เพราะผิดไปจากรูปรอยเดิมแทบจะสิ้นเชิง
การบริหารจัดการน้ำในเขื่อนก็พลอยยุ่งยากตามไปด้วย เช่น ถ้าน้ำไหลลงเขื่อนเกินเส้นควบคุมตัวบน (Upper Rule Curve) จะระบายน้ำทิ้งเลย หรือควรหน่วงน้ำเอาไว้ก่อน กลับกัน ถ้าจำเป็นต้องใช้น้ำที่มีอยู่ไม่มากนักในอ่างเก็บน้ำ จนลดระดับต่ำกว่าเส้นควบคุมตัวล่าง (Lower Rule Curve) จะได้หรือไม่ มีผลกระทบอย่างไร มีโอกาสได้น้ำใหม่เข้ามาเติมหรือไม่
เป็นข้อจำกัดของเกณฑ์ควบคุมน้ำ 2 เกณฑ์ที่ไม่เพียงพออีกต่อไป สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) จึงประกาศใช้เกณฑ์ปฏิบัติการน้ำแบบพลวัต (Dynamic Operation Curve) เสริมเพิ่มเติม เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ สถานการณ์ฝน สถานการณ์อุทกภัยท้ายเขื่อน ณ เวลานั้น และเกิดประโยชน์อย่างสูงสุด
“เกณฑ์ควบคุมระดับน้ำตัวบนกับตัวล่าง เหมือนกรอบการบริหารจัดการน้ำในเขื่อน ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบันไม่เพียงพอเสียแล้ว จำเป็นต้องมีกรอบเพิ่มเติมคือสถานการณ์น้ำในบริบทที่มากกว่าน้ำในตัวเขื่อนเพียงลำพัง ยังต้องนึกถึงการบริหารจัดการน้ำท้ายเขื่อน ผลกระทบ โอกาสของฝน และน้ำที่จะไหลลงเขื่อน สุดท้ายทำอย่างไรให้กักเก็บน้ำในเขื่อนให้ได้มากที่สุดเมื่อสิ้นฤดูฝน” ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติกล่าว
เกณฑ์ใหม่ที่เพิ่มเติมในการบริหารน้ำในเขื่อน จึงเป็นการพิจารณาในหลายมิติมากกว่าน้ำในเขื่อนเพียงมิติเดียว ด้านหนึ่งคำนึงถึงผลกระทบท้ายเขื่อน อีกด้านหนึ่งคือพยายามเก็บกักน้ำเอาไว้ให้ได้มากที่สุด เพราะน้ำเริ่มเป็นทรัพยากรหายากขึ้นทุกที ท่ามกลางความต้องการที่ไม่เคยลดลง
ฤดูฝน 2564 ในขณะนี้ เขื่อนขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ที่มีระดับน้ำเกินเกณฑ์ควบคุมบน (Upper Rule Curve) มีหลายแห่ง อาทิ เขื่อนบางลาง เขื่อนนฤบดินทรจินดา เขื่อนลำตะคอง เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนลำมูลบน เขื่อนแม่มอก และเขื่อนแก่งกระจาน เป็นต้น
กระบวนการของเกณฑ์ปฏิบัติการน้ำแบบพลวัต (Dynamic Operation Curve) จึงเท่ากับเป็นการเปิดมุมมองใหม่ที่กว้างขึ้นของหน่วยงานดูแลเขื่อน ไม่ว่ากรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรมทรัพยากรน้ำ เป็นต้น
ผลดีที่เห็นได้ชัด ทำให้การบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบตั้งแต่ต้นน้ำ คืออ่างเก็บน้ำลงไปจนถึงเขื่อนทดน้ำ คลองส่งน้ำ ไปจนออกสู่ทะเล หรือ แม่น้ำนานาชาติ
“ล่าสุดเขื่อนแก่งกระจานในลุ่มน้ำเพชรบุรี ระดับน้ำในเขื่อนเกินเกณฑ์ควบคุมและมีโอกาสที่ฝนจะตกลงมาอีก ก็ต้องพิจารณาพร่องน้ำ จะต้องสอดคล้องสัมพันธ์กับเขื่อนเพชรบุรี ซึ่งทำหน้าที่ทดน้ำออกสู่คลองหลัก 4 สาย เพื่อออกทะเลส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งระบายลงแม่น้ำเพชรบุรีปลายทางออกสู่ทะเลเช่นกัน ซึ่งต้องพิจารณาอัตราการระบายที่เหมาะสม จะระบายน้ำไปทางไหน อัตราเท่าไหร่ เพื่อลดผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายเขื่อน ไม่ว่า อ.ท่ายาง อ.บ้านลาด อ.เมือง และ อ.บ้านแหลม ก่อนลงสู่ทะเล” ดร.สุรสีห์ กล่าว
เช่นเดียวกัน ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา แหล่งต้นน้ำ คือ เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ยังมีพื้นที่ในอ่างเก็บน้ำว่างมากมายก็ไม่จำเป็นต้องพร่องน้ำ ตรงกันข้ามต้องพยายามเก็บน้ำเอาไว้ให้มากที่สุดสำหรับฤดูแล้งที่มาถึง ส่วนน้ำในลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างที่เกิดจากฝนตกหนักในพื้นที่ก็ต้องบริหารจัดการ โดยวางแผนจัดจราจรทางน้ำ จะระบายออกทางคลองฝั่งซ้าย ฝั่งขวา ของแม่น้ำเจ้าพระยา เท่าไหร่อย่างไร ปล่อยระบายตรงลงแม่น้ำเจ้าพระยาเท่าไหร่ ทำอย่างไรที่จะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ด้านล่างหลายจังหวัดน้อยที่สุด ก่อนออกอ่าวไทย
เกณฑ์ใหม่ผสมเกณฑ์เก่า จะทำให้เกิดเกณฑ์ที่ยืดหยุ่น เกิดประโยชน์สูงสุด มากกว่าแค่พร่องน้ำหรือเก็บน้ำไว้อย่างเดียวโดดๆ
“ได้เน้นย้ำกับหน่วยงานหลักที่ดูแลเขื่อน เช่น กรมชลประทาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ในการบริหารจัดการน้ำไม่ให้ส่งผลกระทบท้ายเขื่อนในช่วงฤดูฝน ขณะเดียวกันยังสามารถเก็บน้ำไว้สนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ได้ตลอดฤดูแล้ง” ดร.สุรสีห์ กล่าว
นอกจากนั้น การนำเกณฑ์ปฏิบัติการน้ำใหม่ไปใช้นั้น ไม่เป็นสูตรตายตัว แล้วแต่สภาพการณ์หรือบริบทแวดล้อมของพื้นที่ลุ่มน้ำนั้นๆ ที่แตกต่างกัน บุคลากรที่รับผิดชอบจำเป็นต้องเรียนรู้สภาพพื้นที่ให้ลึกซึ้ง แม่นยำ จะมีส่วนช่วยให้การบริหารจัดการน้ำด้วยเกณฑ์ใหม่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ที่สำคัญที่สุด ฝนตกหนักจริงๆ ในแต่ละปีไม่เกิน 3 เดือน แต่อีก 9 เดือนที่เหลือ ต้องใช้น้ำเขื่อนในทุกกิจกรรม ทั้งเพื่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ ไปจนถึงใช้เพื่อการผลิตสร้างมูลค่าเพิ่มด้านการเกษตรกรรม อุตสาหกรรม
เกณฑ์ใหม่ในการควบคุมระดับน้ำแบบพลวัต (Dynamic Operation Curve) จึงเป็นเครื่องมือใหม่ในการบริหารจัดการน้ำในระดับลุ่มน้ำที่เหมาะสม สอดคล้องกับความเป็นจริง ช่วยเสริมเกณฑ์ควบคุมระดับน้ำ (Rule Curve) ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ถือเป็นความก้าวหน้าในการบริหารจัดการน้ำ