โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า “นายกฯ” เน้นบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ วางแผนระบายน้ำเข้าทุ่ง เก็บน้ำไว้ใช้ช่วงหน้าแล้ง เตรียมพร้อมแผนเคลื่อนย้าย-เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ฝากย้ำประชาชนปฏิบัติตามคำแนะนำของส่วนราชการ
วันนี้ (8 ต.ค.) นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า หลังจากที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ลงพื้นที่ต่อเนื่องเพื่อติดตามสถานการณ์น้ำท่วมหลายพื้นที่ตั้งแต่ ชัยนาท ชลบุรี เพชรบุรี สุโขทัย ชัยภูมิ นนทบุรี และล่าสุดที่ จ.นครศรีธรรมราช โดยเน้นการบริหารปริมาณมวลน้ำหลาก ทั้งในลุ่มเจ้าพระยา ลุ่มน้ำมูล-ชี เก็บกักในพื้นที่ลุ่มต่ำ พื้นที่แก้มลิงต่างๆ เพื่อไม่ให้น้ำที่มีอยู่เสียเปล่า และเป็นการใช้ทรัพยากรน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมชลประทานและกรมส่งเสริมการเกษตร เร่งบริหารจัดการพื้นที่น้ำท่วมบริเวณพื้นที่สองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา โดยปรับลดการระบายน้ำจากเขื่อนสิริกิติ์ และให้มีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อเร่งระบายน้ำลงสู่ทุ่งรับน้ำภายใน 2 วัน เพื่อให้สถานการณ์กลับคืนสู่ภาวะปกติโดยเร็ว รวมทั้งมีแผนจะลดน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณท้ายเขื่อนลงให้อยู่ในอัตราประมาณ 1,000 ลบ.ม./วินาที ภายใน 1 พ.ย. นี้ หากไม่มีฝนตกเพิ่ม ทั้งนี้ ได้มีการใช้ประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ และติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำในการเร่งระบายน้ำออกสู่อ่าวไทยโดยบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับระดับน้ำทะเลหนุน พร้อมได้กำหนดแผนการระบายน้ำออกจากทุ่งตั้งแต่ 1 พ.ย. 64 ให้เหลือน้อยกว่า 20% ภายใน 1 เดือน ด้วยโดยปัจจุบันการเก็บน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำได้เก็บกักน้ำเต็มความจุแล้วจำนวน 400 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่ 10 ทุ่งเจ้าพระยาตอนล่าง รับน้ำแล้วรวม 1,137 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 87% ของความจุ โดยมีทุ่งที่ยังรับน้ำน้อยกว่า 50% จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ ทุ่งเชียงราก คิดเป็น 26% และ ทุ่งเจ้าเจ็ด 39%
นายธนกร กล่าวว่า ขณะเดียวกัน สทนช. ประเมินว่า สิ้นสุดฤดูฝน ณ 1 พ.ย. 64 ทั้งประเทศไทยมีปริมาตรน้ำ 55,900 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 68% ของความจุ ขณะที่น้ำใช้การได้จะอยู่ที่ 27,909 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 58% ของน้ำใช้การ ซึ่งจากมาตรการเร่งเก็บกักน้ำและบริหารจัดการน้ำในเขื่อนตลอดช่วงฤดูฝนที่ผ่านมา ก็ทำให้เบาใจในระดับหนึ่งว่าในปีนี้ทุกภาคมีปริมาณน้ำเก็บกักมากกว่าปี 2563 รวมทั้งน้ำที่อยู่ในทุ่ง ยังสามารถช่วยเกษตรกรทำการเกษตรช่วงแล้ง ทำให้พื้นที่การเกษตรอาจจะเพิ่มขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้แสดงความเป็นห่วงและกังวลและขอให้ดูแลและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบกรณีจากการผันน้ำด้วย ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีหลักเกณฑ์ให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน 2564 อยู่แล้ว ขณะเดียวกัน ก็ฝากถึงพี่น้องประชาชนที่อยู่ในบริเวณพื้นที่เสี่ยงและที่อยู่นอกคันกั้นน้ำ ให้หมั่นสังเกตระดับน้ำและความผิดปกติจากแหล่งน้ำที่อยู่ใกล้ๆ เช่น แม่น้ำ คลอง ขอย้ำว่าต้องปฏิบัติคำแนะนำของราชการ เคลื่อนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง ตัดกระแสไฟฟ้า ป้องกันกระแสไฟฟ้ารั่ว เตรียมพร้อมอพยพคนและสัตว์เลี้ยงและเคลื่อนย้ายยานพาหนะไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยและคอยติดตามข่าวสารและการประชาสัมพันธ์จากหน่วยงานรัฐที่ดูแล อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา www.tmd.go.th กรมชลประทาน www1.rid.go.th/main/index.php/th กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย www.disaster.go.th เป็นต้น รัฐบาลกำลังบูรณาการและประสานงานทุกภาคส่วนเพื่อเร่งจัดการปัญหา หากมีความจำเป็น ก็จะพิจารณามาตรการช่วยเหลือ เยียวยาเพื่อเกษตรกรและประชาชนที่ได้รับผลกระทบเพิ่มเติมด้วย