กรมชลประทานเผยน้ำเหนือมีแนวโน้มลดลง ปรับลดน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา ไม่เกิน 2,700 ลบ.ม./วินาที ลดผลกระทบพื้นที่ตอนล่าง อีกด้านแจ้งเตือนระดับน้ำในแม่น้ำยมที่ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลกเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง
วันนี้ (2 ต.ค.) รายงานข่าวจากกรมชลประทานระบุว่า แนวโน้มสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบนเริ่มคลี่คลาย น้ำที่มาจาก จ.สุโขทัย ผ่านแม่น้ำยมถูกผันเข้าไปเก็บไว้ในทุ่งบางระกำได้เกือบ 400 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) แล้ว ส่วนน้ำจากฝั่งแม่น้ำน่าน และแม่น้ำยม บริเวณ จ.นครสวรรค์ ถูกผลักเข้าไปเก็บไว้ในบึงบอระเพ็ดได้ราว 200 ล้าน ลบ.ม. ช่วยลดปริมาณน้ำหลากลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ระดับน้ำจะทยอยลดลงในระยะต่อไป
สำหรับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ฝั่งคลองชัยนาท-ป่าสัก (ฝั่งตะวันออก) ไม่ได้มีการรับน้ำเข้า เพราะน้ำจาก อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ และ อ.บ้านหมี่ อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี ยังมีอยู่มาก แต่จะเพิ่มการระบายน้ำฝั่งตะวันตกทางแม่น้ำท่าจีนเพิ่มเพื่อหน่วงน้ำฝั่งตะวันตกไว้ จากสถานการณ์ดังกล่าว กรมชลประทานได้ปรับลดการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาไม่ให้เกิน 2,700 ลบ.ม./วินาที หรืออาจจะเกินบ้างเล็กน้อยหากมีฝนตกลงมา แต่จะพยายามระบายน้ำไม่ให้เกินจากนี้เพื่อลดผลกระทบพื้นที่ตอนล่าง ควบคู่ไปกับการเร่งระบายน้ำให้ออกสู่ทะเลให้ได้มากที่สุด
ส่วนสถานการณ์น้ำในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ที่เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ที่ 2,766 ลบ.ม./วินาที จากเมื่อวานนี้ (1 ต.ค.) อยู่ที่ 2,784 ลบ.ม./วินาที ขณะที่สถานีวัดระดับน้ำ C.29A อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา เฉลี่ยวันนี้ 3,010 ลบ.ม./วินาที จากเมื่อวานนี้อยู่ที่ 2,950 ลบ.ม./วินาที
นายชำนาญ ชูเที่ยง ผู้อำนวยการโครงการชลประทานพิษณุโลก เปิดเผยว่า ปัจจุบันสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ฝั่งขวาของแม่น้ำยม จ.สุโขทัย มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง โดยน้ำที่ท่วมขังจะไหลลงสู่แม่น้ำยม ผ่าน อ.เมือง, อ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย ก่อนจะไหลลงสู่ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ส่งผลให้แม่น้ำยมในเขต จ.พิษณุโลก ในพื้นที่ อ.พรหมพิราม และ อ.บางระกำ มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น ทำให้มีน้ำเอ่อล้นตลิ่งและท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำบางแห่ง
ส่วนปริมาณน้ำที่มาจาก จ.สุโขทัย ผ่านทางแม่น้ำยมสายเก่า จะถูกผันเข้าแก้มลิงทุ่งบางระกำ ซึ่งขณะนี้มีการรับน้ำเข้าพื้นที่ไปแล้ว 202,608 ไร่ ปริมาณน้ำรวม 375.38 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 94 ของความจุ นอกจากนี้ ยังได้ชักน้ำเข้าคลองธรรมชาติ (ฝั่งขวาแม่น้ำยม) เข้าไปเก็บไว้ในคลองต่างๆ รวมไปถึงแก้มลิงขนาดใหญ่ ในเขต อ.บางระกำ ความจุเก็บกักรวม 30.74 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันเก็บกักน้ำได้แล้วรวม 18.70 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 61 ของความจุ ช่วยลดปริมาณน้ำที่จะไหลลงสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง และเก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งหน้าที่กำลังจะมาถึง
ทั้งนี้ กรมชลประทานได้ทำการปรับลดการระบายน้ำของเขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ในอัตราที่เหมาะสม พร้อมกับทดน้ำไว้บริเวณเหนือเขื่อนผาจุก และเขื่อนนเรศวร เพื่อหน่วงน้ำ เก็บกักน้ำ และลดระดับน้ำในแม่น้ำน่าน ช่วยเพิ่มการระบายน้ำแม่น้ำยมลงแม่น้ำน่านได้สะดวกมากขึ้น นอกจากนี้ ยังได้เร่งการระบายน้ำแม่น้ำยมผ่านทางอาคารชลประทานต่างๆ รวมทั้งได้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำบริเวณ สะพานบ้านวังเป็ด อ.บางระกำ 6 เครื่อง เพื่อเร่งการระบายน้ำไว้รองรับน้ำเหนือที่อาจจะลงมาเพิ่มเติมอีกในระยะต่อไป จึงขอแจ้งเตือนให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมตลิ่ง แม่น้ำยม, แม่น้ำยมสายเก่า, คลองเมม-คลองบางแก้ว ติดตามสถานการณ์น้ำจากหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด
รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า พื้นที่ที่เคยประสบปัญหาอุทกภัยและเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว 15 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย ลำพูน ลำปาง นครสวรรค์ แพร่ ฉะเชิงเทรา ตราด ชลบุรี จันทบุรี สมุทรปราการ ระนอง พังงา นครศรีธรรมราช ตรัง และตาก ส่วนพื้นที่ประสบอุทกภัย 21 จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย นครราชสีมา ชัยภูมิ ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี อ่างทอง อุบลราชธานี พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร เลย ขอนแก่น ร้อยเอ็ด ปราจีนบุรี สระแก้ว ชัยนาท สุพรรณบุรี อุทัยธานี ระยอง และเพชรบูรณ์