จากกรณีการให้ข้อมูลว่า บอร์ดสิ่งแวดล้อม เห็นชอบโครงการเพิ่มน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพลแนวส่งน้ำยวม–อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล โดยโครงการใช้ระยะเวลา 4 ปี ส่วนงบประมาณอาจจะบานปลายเกิน 7 หมื่นล้านบาท เพราะค่าอุปกรณ์ต่างๆ เปลี่ยนแปลงสูงขึ้นเรื่อยๆ และอาจใช้ประโยชน์ได้ไม่คุ้มกับงบที่เสียไปนั้น
กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ชี้แจงประเด็นดังกล่าวว่า คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วส.) มีมติให้ กรมชลประทานดําเนินโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บเขื่อนภูมิพลจริง เนื่องจากเห็นว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์เป็นอย่างมาก
โดยจากสภาพแวดล้อม และสภาพสังคมในปัจจุบัน มีความต้องการใช้น้ำเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งภาคประชาชน อุตสาหกรรม เกษตรกรรม และภาคบริการที่มีการใช้น้ำ เพื่อการอุปโภคบริโภค ซึ่งโครงการฯ นี้จะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลได้มากขึ้น ช่วยบรรเทาและแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งและในภาวะฝนทิ้งช่วง ซึ่งกรมชลประทานได้วางแนวทางในการแก้ไขปัญหาและลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศต่างๆ ไว้แล้วตามข้อเสนอแนะของคณะ คชก. ที่ครอบคลุมในทุกด้าน เพื่อให้การดําเนินการ ต่างๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน
ในส่วนของการให้ข้อมูลว่า โครงการดังกล่าวใช้ระยะเวลา 4 ปีนั้น กรมชลประทาน ขอชี้แจงว่า กรมชลประทาน ไม่ได้กําหนดระยะเวลาในการดําเนินการก่อสร้างไว้ 4 ปี เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ จึงได้กําหนดระยะเวลาในการก่อสร้างไว้ 7 ปี
สําหรับค่าลงทุนของโครงการกว่า 7 หมื่นล้านบาทนั้น เป็นผลการคํานวณเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ปัจจุบันค่าวัสดุก่อสร้างปรับราคาขึ้นเป็นเท่าตัว กรมชลประทานขอเรียนว่า ในการคํานวณค่าลงทุน ได้มีการวิเคราะห์ความอ่อนไหวของโครงการ ที่อัตราคิดลดร้อยละ 9 ในกรณีหากโครงการก่อสร้างล่าช้า 3 ปี พบว่า โครงการมีอัตราผลตอบแทน (EIRR) เท่ากับร้อยละ 11.43 ดังนั้น จากผลการวิเคราะห์โครงการโดยใช้ข้อมูล ณ ปีที่ศึกษา ซึ่งผ่านมา 3 ปีแล้ว ได้คิดครอบคลุมเผื่อราคาของวัสดุต่างๆ ในอนาคตไว้แล้ว และยังคงมีค่า EIRR มากกว่าเกณฑ์ความเหมาะสมที่สํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กําหนดไว้สําหรับการลงทุนในโครงการภาครัฐ
ส่วนกรณีที่ระบุว่างบบานปลาย ได้ไม่คุ้มเสียนั้น จากสถานการณ์ด้านทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทั้งสถานการณ์ภัยแล้งและอุทกภัยมีแนวโน้มที่รุนแรงมากขึ้น จากสภาพทางกายภาพของพื้นที่ลุ่มน้ำ การเปลี่ยนแปลงสภาพการใช้ที่ดิน แหล่งน้ำต้นทุนที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำเพื่อกิจกรรมต่างๆ ที่เพิ่มมากขึ้น ทําให้กรมชลประทานต้องวางแผนสํารองน้ำในช่วงหน้าฝน เพื่อให้การบริหารจัดการใช้น้ำในกิจกรรมต่างๆ ในช่วงฤดูแล้งเกิดประโยชน์อย่างสูงสุด ไม่ว่าจะเป็นการออกมาตรการงดทํานาปรัง การแก้ไขปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำ การใช้น้ำเข้าช่วยผลักดันน้ำเค็ม เป็นต้น ดังนั้นการ ดําเนินโครงการฯ จึงมีความคุ้มค่าและก่อให้เกิดผลประโยชน์อย่างมากต่อเกษตรกรในพื้นที่เพาะปลูกช่วงฤดูแล้งที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการเพิ่ม การผลิตพลังงานไฟฟ้า
ดังนั้นข้อมูลที่มีการโพสต์ และแชร์ต่อในขณะนี้ จึงเป็นข้อมูลบิดเบือน ขอความร่วมมือประชาชน ไม่แชร์ ไม่ส่งต่อข่าวดังกล่าว เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากจากกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www1.rid.go.th หรือโทรสายด่วน 1460