xs
xsm
sm
md
lg

ดัชนีผลผลิตอุตฯ ส.ค.ดิ่งหนัก พิษโควิดลามโรงงาน-ชิปชิ้นส่วนขาด แต่ 8 เดือนยังโต 7.13%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สศอ.เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ส.ค.อยู่ที่ 87.71 ลดลง 4.15% และต่ำสุดรอบ 13 เดือน เหตุโควิด-19 ป่วนโรงงานผลิต และปัญหาการขาดแคลนชิป และชิ้นส่วนส่งผลกระทบภาคการผลิตรถยนต์ แต่ภาพรวม 8 เดือนแรก (ม.ค.-ส.ค.) ยังขยายตัว 7.13% ตามทิศทางการส่งออก

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)
เปิดเผยถึงดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนสิงหาคม 2564 อยู่ที่ระดับ 87.71 ลดลง 4.15% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและเป็นค่าดัชนีที่ต่ำสุดในรอบ 13 เดือนนับตั้งแต่ ส.ค. 63 เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ของแรงงานในสถานประกอบการ ส่งผลต่อการผลิตภาคอุตสาหกรรมภาพรวม ประกอบกับปัญหาการขาดแคลนชิปทั่วโลกที่ส่งผลกระทบต่อการผลิตลดลง อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ อย่างไรก็ตาม MPI 8 เดือนแรก (ม.ค.-ส.ค. 64) ขยายตัว 7.13% จากทิศทางของเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มดีขึ้นส่งผลให้การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมได้รับอานิสงส์ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6

สำหรับอัตราการใช้กำลังการผลิต (CapU) เดือน ส.ค. 64 อยู่ที่ 57.38% ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ CapU อยู่ที่ระดับ 58.9% และ 8 เดือนแรกของปีนี้ CapU อยู่ที่ระดับ 63.35% อย่างไรก็ตาม การคลายล็อกดาวน์และแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัวจะส่งผลให้การผลิตสินค้าต่างๆ จะเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป โดยสะท้อนจากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเดือน ส.ค. 64 (ไม่รวมทองคำ อาวุธ รถถังและอากาศยาน) ขยายตัว 19.74% มูลค่า 16,436.60 ล้านเหรียญสหรัฐ


ทั้งนี้ อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อ MPI เดือน ส.ค. 64 ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ที่ขยายตัว -9.77% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากได้รับผลกระทบจากการขาดชิป และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ลดลง 45.51% เนื่องจากการหดตัวของตลาดในประเทศและต่างประเทศจากผลกระทบโควิด-19 และอุตสาหกรรมการกลั่นปิโตรเลียมที่ขยายตัว -6.77% จากการระบาดไวรัสโควิด-19 ที่รุนแรงกว่าปีก่อน กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวส่งผลให้การใช้น้ำมันลดลง เป็นต้น

ส่วนอุตสาหกรรมที่ส่งผลบวก ได้แก่ ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 12.45% ตามการเติบโตของตลาดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของโลกอย่างต่อเนื่อง ผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 12.06% จากยางแท่งและยางแผ่นเป็นหลัก จากความต้องการในตลาดต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นหลังสถานการณ์โควิด-19 หลายประเทศเริ่มคลี่คลายโดยเฉพาะคำสั่งซื้อจากประเทศจีนที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตยางรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น

เหล็ก และเหล็กกล้าขั้นมูลฐาน ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 11.89% จากเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กรูปพรรณรีดร้อน เหล็กแผ่นเคลือบดีบุก และเหล็กแผ่นรีดร้อน เป็นหลัก, เม็ดพลาสติก ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 6.06% จากความต้องการสินค้าที่สูงขึ้นในปีนี้ รวมถึงการเร่งผลิตเต็มที่หลังขยายกำลังการผลิตของผู้ผลิตบางรายตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 ที่ผ่านมา และน้ำตาลขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 47.07% จากน้ำตาลทรายขาว น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์และกากน้ำตาลเป็นหลัก ถึงแม้ว่าจะเป็นช่วงปิดหีบแล้ว แต่ผู้ผลิตมีการละลายน้ำตาลดิบเป็นน้ำตาลทรายอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น