เวิลด์แบงก์ชี้การระบาดของไวรัสโคโรนาตัวกลายพันธุ์ “เดลตา” กำลังทำลายการฟื้นตัวของเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ซึ่งอาจเผชิญแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวและปัญหาความเหลื่อมล้ำรุนแรงยิ่งขึ้น พร้อมกันนี้ ธนาคารโลกได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์อัตราเติบโตของเกือบทุกประเทศ รวมถึงไทยที่แนวโน้มขยายตัวปีนี้เหลือแค่ 1%
รายงานภาวะเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกประจำปี 2021 ฉบับฤดูใบไม้ร่วงที่เผยแพร่เมื่อวันจันทร์ (27 ก.ย.) ระบุว่า กิจกรรมเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้เริ่มชะลอลงตั้งแต่ไตรมาส 2 ดังนั้น จึงปรับลดตัวเลขคาดการณ์การเติบโตของประเทศส่วนใหญ่มาอยู่ที่ 2.5% หรือลดลงจากตัวเลขคาดการณ์ครั้งก่อนเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาเกือบ 2% มีเพียงจีนที่ถูกคาดหมายว่าจะขยายตัวถึง 8.5%
สำหรับไทยนั้น เวิลด์แบงก์ปรับลดแนวโน้มการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ลงมาอยู่ที่ 1% จาก 2.2% ที่คาดไว้ในเดือนกรกฎาคม ถือเป็นการปรับลดตัวเลขพยากรณ์ครั้งที่ 2 ในรอบปีนี้ รวมทั้งยังมองว่า ไทยอาจต้องใช้เวลาฟื้นตัวถึง 3 ปี เนื่องจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่เป็นแหล่งสร้างรายได้สำคัญยังไม่มีทีท่าว่าจะฟื้นตัวได้ก่อนช่วงครึ่งหลังของปีหน้า
มานูเอลา เฟอร์โร รองประธานธนาคารโลกภาคพื้นเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ระบุว่า การฟื้นตัวของภูมิภาคนี้กำลังกลับตาลปัตร โดยจากที่หลายประเทศ เช่น จีน เวียดนาม และไทยเคยคุมการระบาดของโควิด-19 เอาไว้ได้ในปีที่ผ่านมาซึ่งทำให้กิจกรรมเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว แต่ขณะนี้ยอดผู้ติดเชื้อในภูมิภาคนี้กลับพุ่งขึ้นใหม่และทำให้แนวโน้มการเติบโตปี 2021 วูบลง
หลายประเทศในแปซิฟิกและพม่าได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยเฉพาะพม่าที่ถูกคาดหมายว่า จีดีพีจะหดตัวถึง 18% ส่วนประเทศเกาะในแปซิฟิกคาดว่า อัตราขยายตัวจะติดลบ 2.9%
รายงานสำทับว่า อัตราจ้างงานของพม่าจะติดลบมากที่สุดเช่นเดียวกัน และจำนวนประชากรยากจนจะพุ่งขึ้น สาเหตุหลักคือการทำรัฐประหารยึดอำนาจของกองทัพที่ทำให้กิจกรรมเศรษฐกิจหยุดชะงัก ประกอบกับขบวนการอารยะขัดขืนที่ทำให้คนจำนวนมากผละงาน
ธนาคารโลกประเมินว่า ประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคนี้ซึ่งรวมถึงอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ อาจฉีดวัคซีนให้ประชากรได้กว่า 60% ภายในช่วงครึ่งแรกของปีหน้า ซึ่งแม้ไม่ได้ช่วยกำจัดไวรัสโคโรนาให้หมดไป แต่สามารถลดอัตราการเสียชีวิตและปูทางสำหรับการฟื้นกิจกรรมเศรษฐกิจ
ความเสียหายจากการระบาดของไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลตายังมีแนวโน้มทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำรุนแรงขึ้นในระยะยาว
รายงานแนะนำว่า การเร่งฉีดวัคซีนและตรวจหาผู้ติดเชื้อเพื่อควบคุมการระบาดจะช่วยฟื้นกิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศต่างๆ ได้อย่างเร็วที่สุดในช่วงครึ่งแรกของปีหน้า และอัตราเติบโตอาจเพิ่มขึ้น 2 เท่าตัว ทว่า ในระยะยาวแล้ว มีเพียงมาตรการปฏิรูปแบบลงลึกจึงจะสามารถป้องกันการชะลอตัว ปัญหาการเหลื่อมล้ำที่รุนแรงขึ้น และความยากจนภายในศตวรรษนี้ได้
ธนาคารโลกสำทับว่า เอเชียตะวันออกและแปซิฟิกต้องทุ่มเทความพยายามใน 4 ด้านเพื่อจัดการการระบาดของโควิด ได้แก่ การแก้ปัญหาความลังเลในการฉีดวัคซีนและข้อจำกัดด้านศักยภาพการแจกจ่ายวัคซีน การยกระดับการตรวจหาผู้ติดเชื้อและติดตามผู้สัมผัสโรค การเพิ่มกำลังผลิตวัคซีนในภูมิภาค และการส่งเสริมระบบสาธารณสุขท้องถิ่น
นอกจากนั้น เพื่อปกป้องความเสียหายระยะยาวต่อเศรษฐกิจ รายงานชี้ว่า ภาครัฐต้องให้การสนับสนุนบริษัทที่มีประสิทธิภาพ ส่งเสริมการแข่งขันและการพัฒนาเทคโนโลยี ลดอุปสรรคการค้า ตลอดจนถึงปรับปรุงการปกป้องทางสังคมด้วยการขยายการเข้าถึง “ความช่วยเหลือที่จำเป็น” สำหรับคนยากจน
(ที่มา : เอเอฟพี, MGRonline)