xs
xsm
sm
md
lg

NTT DATA กระทุ้งไทยรับมือแรงท้าทายจาก “ยานยนต์ไฟฟ้าไร้คนขับ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอ็นทีทีดาต้าประเทศไทย หรือ NTT DATA (Thailand) เผยปัจจุบันไทยถูกท้าทายด้วยยานยนต์อนาคตระบบอัจฉริยะ โดยเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้าไร้คนขับ แนะวาง 4 กลยุทธ์ปรับกระบวนการทำงานสู่ดิจิทัล ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อก้าวข้ามความท้าทายช่วยสร้างโอกาสในการแข่งขัน พร้อมทั้งเสริมจุดแข็งให้อุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมการผลิตของไทย มั่นใจศักยภาพอุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนไทยมี 5 จุดแข็ง ชูจุดยุทธศาสตร์ประเทศเป็นฮับของภูมิภาคอาเซียน เครื่องจักรการผลิตมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับในระดับโลก มีระบบขนส่งทางบกและทางน้ำดี นโยบายภาครัฐส่งเสริมเต็มที่ พร้อมทั้งมีโครงข่ายโทรคมนาคมทันสมัยลงทุน 5จี

นายฮิโรนาริ โทมิโอกะ (Hironari Tomioka) ประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ็นทีที เดต้า (ประเทศไทย) จำกัด หรือ NTT DATA (Thailand) ในเครือบริษัท เอ็นทีที เดต้า คอร์ปอเรชัน จำกัด เปิดเผยว่า มีความเชื่อมั่นในศักยภาพของอุตสาหกรรมยานยนต์ (Automotive) และอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนเพื่อประกอบยานยนต์ ของประเทศไทย โดยมี 5 จุดแข็งสำคัญ ได้แก่ 1.ยุทธศาสตร์ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน เป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ โดยเป็นผู้ผลิตรถยนต์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 11 ของโลก และเป็นอันดับที่ 5 ของเอเชีย โดยเป็นรองเพียงประเทศจีน ญี่ปุ่น อินเดีย และเกาหลีใต้ ทั้งยังเป็นฐานการผลิตเป็นสินค้าประเภทอื่น เช่น สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ สินค้าอุปโภคบริโภคที่สำคัญของโลก

2.มีระบบขนส่งทางบกและทางน้ำโดยเฉพาะท่าเรือน้ำลึกมีศักยภาพส่งออกสินค้าข้ามทวีป 3.ประเทศไทยเป็นฐานของอุตสาหกรรมการยานยนต์และอุตสาหกรรมการผลิตมานาน เครื่องจักรมีคุณภาพและมาตรฐานการผลิตเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก 4.ภาครัฐให้นโยบายการสนับสนุนยกระดับขีดความสามารถของอุตสาหกรรมเต็มที่ เช่น นโยบายผลักดันไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก รวมถึงศูนย์กลางการผลิตรถไฟฟ้าทุกประเภทของภูมิภาค ด้วยเป้าหมายผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศในปี 2568 จะมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 1,051,000 คัน ไปพร้อมกับการเร่งพัฒนาทักษะแรงงาน เพื่อดึงดูดผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าจากทั่วโลก 5.มีโครงข่ายโทรคมนาคมที่ทันสมัย โดยเป็นประเทศต้นๆ ในภูมิภาคที่มีการลงทุนขยายเครือข่าย 5จี ต่อเนื่องพร้อมรองรับการใช้งานเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อยกระดับขีดความสามารถด้านเทคโนโลยี

ฮิโรนาริ โทมิโอกะ (Hironari Tomioka) ประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ็นทีที เดต้า (ประเทศไทย) จำกัด
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนเพื่อประกอบรถยนต์ในประเทศไทยกำลังถูกท้าทาย ด้วยทั่วโลกกำลังมุ่งนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่ไปสร้างสรรค์นวัตกรรมยานยนต์แห่งอนาคต นอกจากนี้ ยังมีแนวคิด “MaaS (Mobility as a Service)” เปรียบได้กับคลื่นลูกใหม่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ ทั้งเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้า Connected Car ระบบขับขี่อัตโนมัติ และอื่นๆ และแนวคิดนี้กำลังวิวัฒนาการไปพร้อมกับเทคโนโลยีต่างๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เทคโนโลยี 5จี และ IoT

“อุตสาหกรรยานยนต์และอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนเพื่อประกอบรถยนต์จำเป็นต้องมีการวางกลยุทธ์ด้านเทคโนโลยีให้สอดคล้องเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงและสร้างโอกาสทางการแข่งขันด้วย 4 กลยุทธ์สำคัญคือ 1.Digital Supply Chain and Connected Manufacturing นำเทคโนโลยีและข้อมูลเข้ามาเป็นศูนย์กลาง เพื่อเปลี่ยนกระบวนการการผลิตและการจัดจำหน่ายให้มีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล 2.Engaging the Changing Workforce เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีในการทำงานของพนักงานทุกคน ผ่านการใช้ข้อมูลเชิงลึกปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานและการดูแลพนักงานของธุรกิจอย่างชาญฉลาด 3.Customer Centricity นำข้อมูลเชิงลึกและพฤติกรรมของลูกค้ามาออกแบบสินค้าและบริการโดยมีลูกค้าเป็นศูนย์กลาง 4.Digital Smart Products พัฒนาปรับปรุงเทคโนโลยียานยนต์ครบทุกมิติ ตั้งแต่การเชื่อมต่อ การเสริม AI ในยานยนต์ไร้คนขับ การใช้พลังงานไฟฟ้าและการนำเสนอ Digital Product ที่หลากหลายไปกับยานยนต์”


นายฮิโรนาริ กล่าวเสริมว่า ในอุตสาหกรรมยานยนต์การวางแผนเพิ่มการใช้เทคโนโลยีเพื่อปรับการทำงานให้เป็นดิจิทัล ด้วยการมุ่งสร้างนวัตกรรมจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อการออกแบบผลิตภัณฑ์สำหรับสร้างประสบการณ์ใหม่อำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภค ที่ผ่านมา NTT DATA ประสบผลสำเร็จจากการร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ผู้ผลิตยานยนต์ชั้นนำของโลก ในการพัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับรวบรวมข้อมูลต่างๆ ผ่านยานพาหนะ Connected Car เพื่อนำไปต่อยอดพัฒนาสินค้าและบริการที่ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ และมากไปกว่านั้นคือการยกระดับประสบการณ์ผู้บริโภคในด้านยานยนต์อัจฉริยะที่มีความปลอดภัยและประหยัดพลังงานสูง และยังต่อยอดสู่การริเริ่มบริการ MaaS ได้อีกด้วย

นอกจากการมุ่งสร้างนวัตกรรมใหม่ในด้านอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนเพื่อประกอบรถยนต์จำเป็นต้องพัฒนากระบวนการทำงานของธุรกิจ (Business Process Improvement หรือ BPI)โดยมีที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญและชำนาญการในด้านการนำเทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนกระบวนการทำงานให้เป็นดิจิทัล ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ มาช่วยวางแผนเพื่อผลลัพธ์ที่มีประสิทธิผล และตรงตามความต้องการของลูกค้า อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่าย ลดเวลาการทำงาน และความสูญเสียที่ไม่จำเป็น


กำลังโหลดความคิดเห็น