xs
xsm
sm
md
lg

สกสว. รุกพัฒนาสร้างกำลังคนอุตฯ 3 สาขา เครื่องมือแพทย์ ยานยนต์ไฟฟ้า และโลจิสติกส์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


รศ.ดร. คมกฤต  เล็กสกุล
 
รศ.ดร. คมกฤต  เล็กสกุล  รักษาการผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจการพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ด้านกำลังคนและสถาบันความรู้ สกสว. เป็นประธานเปิดเวทีประชุมสถานการณ์ทิศทางความต้องการและการพัฒนากำลังคนภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย โดยข้อมูลและข้อเสนอแนะจากผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เชี่ยวชาญในวันนี้ จะนำไปใช้ประกอบการศึกษา วิเคราะห์แนวทางการพัฒนากำลังของประเทศไทยที่สอดคล้องกับภาคอุตสาหกรรมของประเทศ 3 ด้านที่สำคัญ คือสาขาเครื่องมือทางการแพทย์ ยานยนต์ไฟฟ้า และโลจิสติกส์

นายนริศชา ต่อสุทธิ์กนก
นายนริศชา ต่อสุทธิ์กนก รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์และสุขภาพ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยข้อมูลว่า สถานการณ์อุตสาหกรรมทางการแพทย์ ปัจจุบันมุ่งเน้นในหลายด้านทั้งเทคโนโลยีการแพทย์ ยา จีโนมิกส์ ทั้งนี้ประเด็นปัญหาสำคัญในห่วงโซ่ ด้านการวิจัยของอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ในปัจจุบันคือ ประเทศไทยยังขาดห้องปฏิบัติการที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน ทำให้ผู้ประกอบการในประเทศต้องส่งผลิตภัณฑ์ไปทดสอบในต่างประเทศ การมีห้องปฏิบัติการที่สามารถทดสอบทำได้อย่างครบวงจรและมีมาตรฐานรับรอง จะช่วยให้ผู้ประกอบการในประเทศประหยัดทั้งงบประมาณและเวลา ปัญหาด้านการผลิตพบว่า เรายังขาดแคลนบุคลากรด้านสายเครื่องมือแพทย์จำนวนมากกว่า 16,000 คนโดยประมาณ ซึ่งบุคลากรด้านนี้ควรมีความรู้ในกระบวนการผลิต และขั้นตอนการทดสอบเพื่อให้ได้รับมาตรฐานการผลิตเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ 

ดังนั้น ควรมีหลักสูตรเฉพาะทาง ด้านการผลิตเครื่องมือและอุปกรณ์ ทางการแพทย์ ตลอดจนส่งเสริมการศึกษาสายอาชีพ (ปวช.,ปวส.) ให้สามารถรู้และเข้าใจมาตราฐานของกระบวนการผลิตเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ อุตสาหกรรมการผลิตดังกล่าว ทั้งนี้บุคลากรในสายงานดังกล่าว ต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ในหลากหลายด้านทั้งตลอดจนความรู้ด้านการแพทย์ซึ่งต้องการคนที่มีความรู้ตรงสาย ดังนั้นบุคลากรกลุ่มวิศวกรชีวการแพทย์จึงถือเป็นบุคลากรในสาขาวิชาที่ประเทศไทยยังขาดแคลนอีกจำนวนมาก จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนส่งเสริมทั้งการพัฒนาคนรวมถึงระบบนิเวศทั้งระบบ

นอกจากนี้ในส่วนของลูกค้าหรือผู้ใช้งานนั้น ยังขาดความเชื่อมั่นในสินค้าผลิตเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ผลิตในประเทศ ดังนั้นต้องมีการสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพสินค้าและมาตรฐานผลิตภัณฑ์ โดยเครื่องมือหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ถูกผลิตขึ้นต้องมีงานวิจัยหรือการทดสอบเชิงวิชาการโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ นอกเหนือกว่านั้น บุคลากรด้านการตลาดการแพทย์ก็ถือเป็นอีกวิชาชีพหนึ่งที่เป็นกำลังสำคัญที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าได้ด้วยการสื่อสารข้อมูลทางการแพทย์ที่ถูกต้องอย่างมีกลยุทธ์ เป็นต้น

 นายมณฑณ ศุภกำเนิด
นายมณฑณ ศุภกำเนิด ผู้จัดการแผนกพัฒนาผู้ประกอบการสถาบันยานยนต์  กล่าวถึงแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ในไทยว่า เป้าหมายของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย คือ ในปีค.ศ. 2030 ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์สมัยใหม่ที่สำคัญของภูมิภาค โดยจะผลิตรถยนต์ 2.5 ล้านคัน และ 1.5 ล้านคันเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ โดยร้อยละ 15 เป็นรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) และ ร้อยละ 60 เป็นรถยนต์ที่มีความสามารถขับเคลื่อนอัตโนมัติในระดับ 3 ส่วนรถที่ใช้ในกิจกรรมที่เป็นสาธารณะเช่น รถโดยสาร การผลิตกำลังคนในด้านนี้ยังไม่เพียงพอต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า แต่กำลังคนส่วนใหญ่ยังขาดความรู้และทักษะทางด้านยานยนต์ไฟฟ้าทำให้ก็ต้องมีการปรับตัวทั้งภาคอุตสาหกรรมนี้ รวมถึงสถาบันการศึกษา และมหาวิทยาลัยต้องปรับตัวเพื่อสร้างและพัฒนากำลังคนที่มีอยู่ให้มีทักษะด้านยานยนต์ไฟฟ้าป้อนเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมเช่นกัน

ในส่วนของสถาบันยานยนต์ เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นมาเฉพาะ เพื่อเป็นศูนย์ข้อมูลและความเชี่ยวชาญในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ รวมถึงการสนับสนุนการพัฒนาคนด้านอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง รวมถึงการพัฒนาผู้ประกอบการ โดยที่ผ่านมาทางสถาบันก็มีการจัดอบรมหลักสูตรต่างๆ ทั้งที่จัดขึ้นสำหรับหน่วยงานต่างๆและบุคคลทั่วไป โดยในแง่การพัฒนาประสิทธิภาพ ตนมองว่า สายการผลิต วิศวกร ช่างหรือนักอุตสาหกรรม ต้องมีการเพิ่มทักษะการทำงานทั้งในส่วนของการ Reskill และ upskill ความรู้ด้านเทคโนโลยีอยู่เสมอ หาโอกาสสัมผัสเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อให้ได้ไอเดียไปต่อยอดกับสายการผลิตของตนเอง

 ดร.เกียรติพงษ์ สันตะบุตร
ด้าน ดร.เกียรติพงษ์ สันตะบุตร นายกสมาคมสมาคมไทยโลจิสติกส์และการผลิต กล่าวว่า อุตสาหกรรมโลจิสติกส์และการผลิตเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศที่มีแรงงานมากกว่า 2 ล้านคนซึ่งเพียงพอในปัจจุบันสำหรับกิจกรรมต่างๆ ทั้งด้านการขนส่ง การผลิตสินค้า และการบริการของประเทศกว่า 5 ปี ที่ผ่านมาธุรกิจนี้เกิดการเติบโตอย่างมาก โดยในขณะนี้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทกับผู้คน ไม่เว้นแม้แต่วงการโลจิสติกส์ ซึ่งส่งผลดีในแง่ของการทุ่นแรงในการทำงาน เทคโนโลยีและเครื่องจักร สามารถทำงานแทนคนได้อย่างถูกต้อง แม่นยำในเวลาที่รวดเร็วขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน คนก็ต้องปรับตัวกับการใช้เทคโนโลยีใหม่

 ดังนั้นบุคลากรในสายวิชาชีพนี้ จึงต้องพัฒนาทักษะความสามารถทั้ง ในส่วนของ Hard Skills ความรู้และทักษะที่ใช้ในการทำงาน และ Soft Skills ทักษะที่ใช้ในการปฏิสัมพันธ์กับผู้คน ประสานงาน ทั้งนี้ในส่วนของข้อเสนอแนะนั้น คนภาคโลจิสติกส์ต้องมีทักษะหลากหลายด้าน อายุที่แตกต่างกันไม่ได้ส่งผลให้เกิดช่องว่างของทักษะแรงงาน ทักษะด้านนี้สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมได้ นอกจากนี้ในมิติด้านศึกษา ประเทศไทยมีหลักสูตรโลจิสติกส์ค่อนข้างมาก ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ดีแต่ควรมุ่งเน้นการปฏิบัติมากกว่าทฤษฎี แม้เป็นโปรแกรมพื้นฐาน ก็ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องฝึกเรียนรู้และประยุกต์ใช้กับการจัดการด้านโลจิสติกส์ได้ ท้ายที่สุด หลังการจัดงานในวันนี้ สกสว. จะนำข้อมูลและข้อเสนอแนะที่สำคัญ ไปศึกษา วิเคราะห์แนวทางการพัฒนากำลังคนในด้านเครื่องมือทางการแพทย์ ยานยนต์ไฟฟ้า และโลจิสติกส์ต่อไป




กำลังโหลดความคิดเห็น