วันนี้ (31 ส.ค.) รายงานข่าวเปิดเผยว่า แพทย์แผนไทย ดร.อมรรัตน์ เรืองสกุล ประธานศูนย์ขับเคลื่อนนวัตกรรม คณะวิทยาการจัดการ (MSci Innovation Drive Center) [MIDC] มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวถึง การจัดตั้งศูนย์ขับเคลื่อนนวัตกรรม ว่า ด้วยนโยบาย “ทิศทางของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต: จิ๋ว แต่ แจ๋ว” (SDU Direction: SMALL but SMART) ที่มุ่งเน้นการบริหารจัดการแบบพลวัตเป็นแกนหลักขององค์กร คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ในฐานะหน่วยงานทางวิชาการที่ประกอบด้วยหลักสูตรตามศาสตร์วิชาชีพที่หลากหลาย มีภาระกิจในการบ่มเพาะความรู้ทางวิชาการมาอย่างยาวนาน ได้เล็งเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นพลวัตร จึงตั้งศูนย์ขับเคลื่อนวัตกรรม คณะวิทยาการจัดการขึ้น โดยมีคณบดีคณะวิทยาการจัดการ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปรียนันท์ ประยูรศักดิ์ เป็นประธานที่ปรึกษา และมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์การจัดการเรียนรู้ การสอน การอบรม การจัดโครงการ ที่บูรณาการศาสตร์หลากหลายสาขาวิชา เพื่อให้ผู้ร่วมกิจกรรมได้เรียนรู้ และค้นพบความสามารถพิเศษ ของตนเองทำให้เกิดการต่อยอดในองค์ความรู้และเกิดการพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ที่สามารถเชื่อมโยงความรู้และประยุกต์ใช้ได้ทั้งในชีวิตการเรียน การทำงานและการดำเนินชีวิต โดยความร่วมมือกับกลุ่มพันธมิตรที่เข้มแข็งระดับชาติทั้งภาครัฐและเอกชน ได้แก่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สถาบันเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร เพื่ออุตสาหกรรมสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สถาบันเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่ง ประเทศไทย และ บริษัท ดรีมทีม เน็ตเวิร์ค จำกัด
แพทย์แผนไทย ดร.อมรรัตน์ กล่าวต่อว่า เพื่อให้เกิดเป็นโครงการนำร่อง ทางศูนย์ขับเคลื่อนนวัตกรรม คณะวิทยาการจัดการ จึงจัดอบรมบริการวิชาการ ผ่านระบบออนไลน์ “ การช่วยแก้ไขปัญหาสุขภาพด้วยการอบรมปฏิบัติการสร้างนวัตกรสื่อสารสุขภาวะด้านโรคให้กับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ต.หนองสาหร่าย อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี ” โดยคุณศิวโรฒ จิตนิยม ประธานสถาบันการเงินในชุมชน และ อสม.ตำบลหนองสาหร่าย อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี ได้เล็งเห็นศักยภาพของศูนย์ขับเคลื่อนนวัตกรรม จะสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพของประชาชนในชุมชนที่ป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน รวมถึงหาแนวทางป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 จึงจัดอบรมให้ความรู้แก่ผู้แทนอสม. จาก 9 หมู่บ้าน จำนวนทั้งหมด 18 คน เน้นให้ความรู้ด้านการดูแลสุขภาพและสำรวจตัวเองในเบื้องต้น และถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการสื่อสาร อาทิ เทคนิคการสร้างสรรค์งานผ่านสื่อ youtube และการตัดต่อวิดีโอแบบง่ายด้วยโปรแกรม kineMaster จากโทรศัพท์มือถือ สร้างคอนเทนต์บน TikTok ให้เป็นไวรัลคลิปดังด้านสุขภาพ และสอนการโพส facebook ให้ปังด้วยเทคนิคง่าย ๆ รวมถึงถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการแพทย์แผนไทยในการสร้างนวัตกรด้านสุขภาพ เพื่อเป็นต้นแบบถ่ายทอดองค์ความรู้ ขยายพื้นที่ลงสู่ชุมชนใกล้เคียง ก่อเกิดเป็นการวางรากฐานในการพัฒนาคนและงานได้อย่างยั่งยืน