xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” แนะผู้ส่งออกศึกษาประกาศอียูห้ามสารตะกั่ว-แคดเมียมในอาหาร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ทูตพาณิชย์บูดาเปสต์” แจ้งข่าวคณะกรรมาธิการยุโรปออกประกาศแก้ไขปริมาณตกค้างสูงสุดสารตะกั่วและแคดเมียมในอาหารเพิ่มเติม เหตุเป็นพิษต่อร่างกายมนุษย์ เป็นสารก่อมะเร็ง แต่ยกเว้นสินค้าที่ผลิตก่อน 31 ส.ค. 64 ให้ขายได้ถึง 28 ก.พ. 65 เผยสินค้าอาหารที่เข้าข่ายมีจำนวนมาก แนะผู้ส่งออกไทยศึกษา และเตรียมความพร้อมเพื่อเพิ่มโอกาสในการขาย
น.ส.ฐะปะนีย์ เครื่องประดิษฐ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงบูดาเปสต์ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้คณะกรรมาธิการยุโรปได้ออกประกาศ Commission Implementing Regulation (EU) 2021/1317 ว่าด้วยการแก้ไขปริมาณตกค้างสูงสุด (MLs) ของสารตะกั่ว (Lead) ในอาหาร และ Commission Regulation (EU) 2021/1323 การแก้ไขปริมาณตกค้างสูงสุด (MLs) ของสารแคดเมียม (Cadmium) ในอาหาร ตามลำดับ โดยปรับปรุงเพิ่มเติมจากระเบียบเก่า เนื่องจากสารดังกล่าวเป็นพิษต่อระบบต่างๆ ในร่างกายมนุษย์ อีกทั้งเป็นสารก่อมะเร็ง จึงปรับปริมาณ MLs ในสินค้าอาหารกลุ่มเสี่ยง และอาหารที่บริโภคโดยทารกและเด็กเล็ก เช่น น้ำนม นมสำหรับทารก อาหารทารก เนื้อสัตว์ ธัญพืช น้ำมัน ผัก ผลไม้ น้ำผลไม้ ไวน์ อาหารเสริม สมุนไพร เกลือ เป็นต้น ทั้งนี้ สินค้าที่ผลิตขึ้นก่อน 31 ส.ค. 2564 (วันที่ระเบียบข้างต้นมีผลบังคับใช้) อนุโลมให้จำหน่ายในท้องตลาดได้จนถึงวันที่ 28 ก.พ. 2565

ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการยุโรปรายงานว่า การบังคับใช้กฎระเบียบดังกล่าวเป็นไปเพื่อลดปริมาณสารก่อมะเร็งในสินค้าอาหาร และส่งเสริมให้ผู้บริโภคเข้าถงอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น อันเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการต่อสู้กับโรคมะเร็ง Europe’s Beating Cancer Plan ปี 2564 เนื่องจากโรคมะเร็งเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญของประชากรทั่วโลก โดยปัจจุบันผู้ป่วยโรคมะเร็งราว 1 ใน 4 จากทั้งโลกอยู่ในพื้นที่สหภาพยุโรป โรคมะเร็งที่พบบ่อย ได้แก่ มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งตับ และมะเร็งลำไส้ โดยจำนวนผู้ป่วยโรคมะเร็งมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี

น.ส.ฐะปะนีย์กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศผู้ส่งออกสินค้าทางการเกษตรและสินค้าอาหารไปยังสหภาพยุโรปเป็นอันดับต้นๆ ของอาเซียน โดยในปี 2563 สินค้าหมวดอาหารและสัตว์มีชีวิต เครื่องดื่มและยาสูบ และน้ำมัน ไขมันจากพืชและสัตว์ คิดเป็นร้อยละ 9 ของสินค้านำเข้าทั้งหมดจากประเทศไทยไปยังสหภาพยุโรป จึงนับว่าสินค้าอาหารจากไทยยังมีโอกาสทางการค้าในสหภาพยุโรปอยู่มาก แต่ผลจากสหภาพยุโรปให้ความสำคัญต่อสวัสดิภาพและสุขอนามัยของผู้บริโภคอย่างมาก จึงมีการทบทวนระเบียบที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของสินค้าอุปโภคบริโภคตลอด ผู้ประกอบการไทยที่สนใจจะส่งสินค้าไปขายในฮังการีและโรมาเนีย ควรติดตามข่าวการควบคุมด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยของอาหารจากคณะกรรมาธิการยุโรปอยู่อย่างสม่ำเสมอ

ก่อนหน้านี้ หน่วยงานตรวจสอบความปลอดภัยด้านอาหารแห่งสหภาพยุโรป (European Food Safety Authority หรือ EFSA) แถลงในรายงานประเมินความปลอดภัยของสารไทเทเนียมไดออกไซด์ในวัตถุเจือปนอาหารฉบับล่าสุดว่า ข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบันยืนยันว่าสารไทเทเนียมไดออกไซด์มีความเสี่ยงที่เป็นพิษต่อพันธุกรรม (Genotoxicity) เป็นเหตุให้ไม่สามารถยืนยันปริมาณที่มนุษย์สามารถรับประทานและสะสมเข้าในร่างกายได้ทุกวันโดยไม่ก่อให้เกิดความผิดปกติใดๆ ต่อสุขภาพอนามัย จึงให้ถือว่าสารไทเทเนียมไดออกไซด์ไม่ปลอดภัยสำหรับการบริโภค (Unsafe) ข้อมูลชุดนี้จะเป็นข้อมูลสำคัญให้แก่คณะกรรมาธิการยุโรปในการพิจารณาห้ามใช้สารดังกล่าวในการผลิตอาหารทั้งสหภาพยุโรปในอนาคต ขณะที่ฝรั่งเศสได้ห้ามใช้สารดังกล่าวในสินค้าอาหารที่จำหน่ายในประเทศตั้งแต่ปี 2562 โดยชี้แจงว่าไม่มีหลักฐานยืนยันความปลอดภัยของสารดังกล่าวต่อผู้บริโภคในระยะยาว

สารไทเทเนียมไดออกไซด์ (Titanium dioxide : TiO2) หรือมักเรียกในวงการอุตสาหกรรมอาหารว่า E171 โดยทั่วไปมีสีขาว ทึบแสง ใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เนื่องจากไม่มีกลิ่น และดูดซับได้ดี ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมอาหารมักใช้สารไทเทเนียมไดออกไซด์ในสารแต่งสีขาว เช่น ซุป น้ำสต๊อก ซอสปรุงรส ลูกกวาด หมากฝรั่ง แป้ง น้ำตาลตกแต่งหน้าเค้กและขนมอบต่างๆ รวมทั้งน้ำตาลไอซิ่ง เป็นต้น ปรุงแต่งสีอาหารให้มีสีนวลขึ้น และใช้เคลือบฟิล์มบนพื้นผิวผลิตภัณฑ์ขนมไม่ให้ขนมติดกัน แต่มิได้มีคุณค่าทางโภชนาการแต่อย่างใด และยังใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าอื่นๆ เช่น ใช้เป็นส่วนประกอบของบรรจุภัณฑ์ เวชภัณฑ์ ยาสีฟัน เครื่องสำอาง ครีมกันแดด สีทาบ้าน เป็นต้น เนื่องจากมีคุณสมบัติเพิ่มความข้นหนืด ทำให้ผิวกระจ่างใส นุ่มลื่น และป้องกันแดดจากคุณสมบัติทึบแสงและการดูดกลืนรังสี UV ได้


กำลังโหลดความคิดเห็น