เยอรมนีเรียกร้องให้สหภาพยุโรปออกคำสั่งบีบผู้ผลิตสมาร์ทโฟน เช่น แอปเปิล (Apple) และซัมซุง (Samsung) ต้องซ่อมแซมและอัปเดตสินค้าที่ตัวเองขายเป็นเวลาอย่างน้อย 7 ปี หวังรณรงค์ให้ผู้ผลิตเสนออะไหล่ทดแทนในราคาที่เหมาะสมแก่ผู้บริโภค
ก้าวใหม่ในวงการสมาร์ทโฟนนี้เป็นส่วนหนึ่งของข้อเสนอต่อคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ซึ่งอาจนำไปสู่การตั้งกฎที่เข้มงวดยิ่งขึ้นเพื่อให้ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนปฏิบัติตาม บนความหวังที่จะลดขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดจากอายุการใช้งานสมาร์ทโฟนที่สั้นลง เพื่อให้มั่นใจว่าอุปกรณ์สื่อสารไฮเทคจะสามารถซ่อมแซมและใช้งานได้นานขึ้น
หากข้อเสนอของ EC ถูกบังคับใช้ กฎนี้จะผลักดันให้ Apple และ Samsung ต้องจัดหาชิ้นส่วนอะไหล่และบริการอัปเดตซอฟต์แวร์ โดยที่ผู้จำหน่ายต้องเปิดเผยราคาของชิ้นส่วนทดแทนเพื่อให้ผู้บริโภคทราบถึงค่าซ่อมที่แท้จริง
เบื้องต้น มีรายงานว่า EC ได้กำหนดกรอบเวลาผลักดันให้มีการซ่อมและอัปเดตสมาร์ทโฟนเป็นเวลา 5 ปี และ 6 ปีสำหรับแท็บเล็ตแล้ว แต่ประเทศเยอรมนีกำลังหาทางพยายามยืดอายุการใช้งานให้เกิน 7 ปี โดยเรียกร้องให้ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนรับประกันการจัดส่งอะไหล่ที่รวดเร็วขึ้น เพื่อให้ลูกค้าไม่ต้องรอการซ่อมแซมนานเกินไป
กฎเหล่านี้นี่อาจเป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นให้ผู้ใช้เลือกซ่อมโทรศัพท์เครื่องที่ใช้อยู่แทนการซื้อเครื่องใหม่ทั้งหมด เป็นการต่อยอดจากการดำเนินการในฝรั่งเศส ซึ่งผู้บริโภคในประเทศจะได้รับข้อมูลดัชนีความสามารถในการซ่อมแซม ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตแต่ละรุ่นสามารถแก้ไขได้ง่ายหรือยากเพียงใด
แม้เยอรมนีจะแถลงชัดถึงความหวังว่า มาตรการนี้จะสามารถขยายไปยังประเทศต่างๆ ทั่วยุโรปได้ แต่ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีอาจไม่ยอมเห็นดีงามด้วย ตามรายงานของสำนักข่าว Cult Of Mac ระบุว่าทั้ง Apple หัวเว่ย (Huawei) และ Samsung ต้องการระยะเวลาการซ่อมแซมและอัปเดตอุปกรณ์ 3 ปีแทนที่จะเป็น 7 ปีที่มีการเสนอมา
นอกจากนี้ ผู้ผลิตยังมองว่าควรแยกเฉพาะส่วนประกอบที่ชำรุดบ่อยและง่ายต่อการซ่อมแซม เช่น แบตเตอรี่และหน้าจอแสดงผล แต่ส่วนอื่น เช่น เซ็นเซอร์กล้องซึ่งแทบจะไม่เสียหายนั้นควรถูกยกเว้นจากกฎ สำหรับแบรนด์อย่าง Apple ซึ่งใช้ซอฟต์แวร์และชิ้นส่วนของตัวเอง การซ่อมแซมสมาร์ทโฟนอาจมีราคาสูง ซึ่งแม้ว่าบริษัทจะเปิดกว้างให้อัปเดตซอฟต์แวร์ได้นานกว่า 3 ปีแล้ว แต่ลูกค้าก็ยังต้องเผชิญกับการซ่อมแซมอุปกรณ์ด้วยราคาสูงต่อไป ทำให้ผู้บริโภคจำนวนมากเลือกใช้อุปกรณ์เครื่องใหม่แทนที่จะจ่ายเงินซ่อมแซม
สำหรับสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ (Android) ปัญหามักจะอยู่ที่การอัปเดตซอฟต์แวร์ พบว่าอุปกรณ์ส่วนใหญ่ได้รับอัปเดตไม่เกิน 2 ปีก่อนที่จะเข้ากันไม่ได้กับซอฟต์แวร์ล่าสุด ทำให้ผู้บริโภคต้องอัปเกรดเป็นรุ่นล่าสุดเกือบทุก 2 ปี
ยังไม่ชัดเจนว่าเยอรมนีและคณะกรรมาธิการยุโรปจะผ่านกฎระเบียบได้หรือไม่ แต่ด้วยปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่กำลังหนักหนาขึ้น ทำให้ทุกฝ่ายตระหนักว่านี่เป็นปัญหาที่ผู้ผลิตต้องร่วมใจแก้ไขอย่างจริงจัง