xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” เผยใช้สิทธิ์ FTA-GSP 7 เดือนปี 64 เพิ่มขึ้น 36.23%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมการค้าต่างประเทศเผยการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าทั้ง FTA และ GSP ช่วง 7 เดือนปี 64 มีมูลค่า 46,394.36 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 36.23% ตามทิศทางการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้น ระบุอาเซียนนำโด่งใช้สิทธิ์ FTA สหรัฐฯ นำใช้สิทธิ์ GSP

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า การใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ในช่วง 7 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-ก.ค.) มีมูลค่า 46,394.36 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 36.23% มีสัดส่วนการใช้สิทธิ์ 77.30% ของการได้รับสิทธิ์ทั้งหมด ซึ่งสอดคล้องกับการส่งออกที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น แบ่งเป็นการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ FTA มูลค่า 44,178.04 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 36.30% มีสัดส่วนการใช้สิทธิ์ 78.17% และการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ GSP มูลค่า 2,216.32 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 34.98% มีสัดส่วนการใช้สิทธิ์ 63.30%

ทั้งนี้ การใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ FTA พบว่า ตลาดที่ไทยส่งออกโดยมีมูลค่าการใช้สิทธิ์สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. อาเซียน มูลค่า 15,409.35 ล้านเหรียญสหรัฐ 2. จีน มูลค่า 14,773.87 ล้านเหรียญสหรัฐ 3. ออสเตรเลีย มูลค่า 4,893.99 ล้านเหรียญสหรัฐ 4. ญี่ปุ่น มูลค่า 4,072.09 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 5. อินเดีย มูลค่า 2,645.32 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนกรอบความตกลง FTA ที่มีอัตราการใช้สิทธิ์สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. ไทย-เปรู 100% 2. อาเซียน-จีน 93.84% 3. ไทย-ญี่ปุ่น 79.12% 4. อาเซียน-เกาหลี 72.51% และ 5. ไทย-ชิลี 70.67%

โดยการใช้สิทธิ์ FTA สอดคล้องกับทิศทางการส่งออกที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยไทย-เปรู เพิ่ม 132.51% อาเซียน-อินเดีย เพิ่ม 55.72% อาเซียน เพิ่มขึ้น 42.70% อาเซียน-จีน เพิ่ม 32.47% เป็นต้น และหลายตลาดเริ่มกลับมาฟื้นตัวหลังจากหดตัวต่อเนื่อง ได้แก่ ไทย-อินเดีย เพิ่ม 4.91% และอาเซียน-ญี่ปุ่น เพิ่ม 3.89%

สำหรับสินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิ์สูง ประกอบไปด้วยสินค้าหลากหลาย ทั้งสินค้าอุตสาหกรรม อาหาร เครื่องดื่ม และเกษตร เช่น แผ่นและแถบทำด้วยอะลูมิเนียม (อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์) เครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณ ทำหรือชุบด้วยเงิน (อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์) เครื่องปรับอากาศ (อาเซียน) ทุเรียนสด (อาเซียน-จีน) ผลไม้ เช่น ฝรั่ง มะม่วง มังคุด (อาเซียน-จีน) โพลิไวนิลคลอไรด์ (อาเซียน-อินเดีย) ปลาซาร์ดีนปรุงแต่ง (อาเซียน-ญี่ปุ่น) เครื่องซักผ้าเกิน 10 กก. (อาเซียน-เกาหลี) ถุงมือยาง (ไทย-ชิลี) เครื่องแต่งกายและของที่ใช้ประกอบกับเครื่องแต่งกาย (ไทย-เปรู) เป็นต้น

นายกีรติกล่าวว่า การใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ GSP ทั้ง 4 ระบบ ได้แก่ สหรัฐฯ สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซีย และเครือรัฐเอกราชและนอร์เวย์ พบว่าตลาดส่งออกที่ไทยมีมูลค่าการใช้สิทธิ์มากที่สุด คือ สหรัฐฯ มีการใช้สิทธิ์มูลค่า 1,973.21 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 43.16% มีสัดส่วนการใช้สิทธิ์ 66.30% รองลงมาคือ สวิตเซอร์แลนด์ มูลค่า 153.91 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 9.56% มีสัดส่วนการใช้สิทธิ์ 38.78% รัสเซียและเครือรัฐเอกราช มูลค่า 79.83 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 5.68% มีสัดส่วนการใช้สิทธิ์ 70.88% และนอร์เวย์ มูลค่า 9.37 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 6.40% มีสัดส่วนการใช้สิทธิ์ 59.97%

ส่วนสินค้าส่งออกที่มีการใช้สิทธิ์สูง เช่น มะพร้าวปรุงแต่ง ซอสปรุงรส น้ำ เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ อาหารปรุงแต่ง สับปะรดกระป๋อง กระเป๋าเดินทางขนาดใหญ่ เนื้อปลาแบบฟิลเลต์ สด แช่เย็น แช่แข็ง ข้าวที่สีบ้างแล้วหรือสีทั้งหมด ของผสมของสารที่มีกลิ่นหอมชนิดที่ใช้ในอุตสาหกรรมผลิตอาหารหรือเครื่องดื่ม


กำลังโหลดความคิดเห็น