xs
xsm
sm
md
lg

การค้าชายแดน-ผ่านแดน ก.ค. 64 พุ่ง 90,101 ล้านบาท เพิ่ม 41.70%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“จุรินทร์” เผยการค้าชายแดนและผ่านแดนเดือน ก.ค.มีมูลค่า 90,101 ล้านบาท เพิ่ม 41.70% จีนนำโด่ง เพิ่มแรง 126.64% เฉพาะผลไม้สดและแห้งกระฉูด 348% ยอดรวม 7 เดือนพุ่ง 37.88% ขยายตัวเกินเป้า ชี้เป็นผลจากการเร่งแก้ปัญหาอุปสรรค ทั้งทะลวงด่าน แก้ปัญหารายสินค้า ทั้งทุเรียน ลำไย เพิ่มสภาพคล่อง SMEs ส่งออก ระบุเตรียมลุยเปิดด่านต่อ

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนของไทยกับ 7 ประเทศ แยกเป็นการค้าชายแดน 4 ประเทศ คือ มาเลเซีย เมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชา และการค้าผ่านแดน 3 ประเทศ คือ จีน เวียดนาม และสิงคโปร์ ตัวเลขเดือน ก.ค. 2564 มีมูลค่า 90,101 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 41.70% เป็นการค้าชายแดนมูลค่า 40,416 ล้านบาท เพิ่ม 10.55% และการค้าผ่านแดนมูลค่า 49,685 ล้านบาท เพิ่ม 83.84% โดยการค้ากับทุกประเทศเป็นบวกทุกตลาด ประเทศที่บวกสูงสุด คือ จีน เพิ่มขึ้น 126.64% สินค้าส่งออกผ่านแดนไปจีนที่บวกมากที่สุดคือ ผลไม้สดและผลไม้แห้ง เพิ่ม 348% มูลค่ารวม 15,000 ล้านบาท โดยเฉพาะทุเรียนมีมูลค่า 10,600 ล้านบาท มังคุด 4,700 ล้านบาท และลำไย 370 ล้านบาท เป็นต้น ส่วนมาเลเซีย เพิ่ม 17.95% เมียนมา เพิ่ม 10.65% สปป.ลาว เพิ่ม 8.08% กัมพูชา เพิ่ม 5.12% เวียดนาม เพิ่ม 1.63% และสิงคโปร์ เพิ่ม 59.85%

สำหรับยอดรวมการค้าชายแดนและผ่านแดนในช่วง 7 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-ก.ค.) มีมูลค่า 591,051 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37.88% เกินไปกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 3-6%

นายจุรินทร์กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้การส่งออกเดือน ก.ค. 2564 เพิ่มสูงถึง 41.70% มาจากการทำงานร่วมกันอย่างหนักและต่อเนื่องของ กรอ.พาณิชย์ โดยที่เป็นรูปธรรมมากที่สุดคือการเปิดจุดผ่านแดน ซึ่งด่านทั้งหมดมี 97 ด่าน เปิดแล้ว 44 ด่าน จากที่ปิดตัวไปเยอะตอนเจอโควิด-19 ใหม่ๆ การแก้ปัญหาเชิงรุก เช่น แก้ปัญหาส่งออกติดขัด ทุเรียนและมังคุด ก่อนเข้าด่านจีนที่ด่านโหย่วอี้กวน ประสานเพิ่มช่องทางที่ด่านตงชิง ทำให้ขนส่งผลไม้คล่องตัวขึ้น แก้ปัญหาข่าวจีนระงับนำเข้าทุเรียนที่ตรวจเจอโควิด-19 แต่สุดท้ายพบในตลาดจีน แก้ปัญหาลำไยเจอเพลี้ยแป้ง จนปัจจุบันจีนไม่ได้ระงับนำเข้า และปัจจุบันไม่ได้ระงับนำเข้าทั้งทุเรียน และลำไย

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังมีนโยบายช่วยต่อลมหายใจให้แก่ SMEs ส่งออก ซึ่งมีส่วนสำคัญในการทำตัวเลขการส่งออกสินค้าข้ามแดนและชายแดน คือโครงการ “จับคู่กู้เงิน” สถาบันการเงินกับ SMEs ส่งออก โดยวันที่ 26 ส.ค. 2564 EXIM Bank อนุมัติเงินกู้เงื่อนไขพิเศษให้ SMEs ส่งออกแล้ว 151 ราย เป็นเงิน 618 ล้านบาท ช่วยให้เกิดสภาพคล่องในการทำตัวเลขส่งออกผ่านการค้าชายแดนและผ่านแดนเพิ่มขึ้น การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า และความต้องการสินค้าบางประเภทเพิ่มขึ้น เช่น สินค้า Work from Home และค่าเงินบาทเริ่มอ่อนค่าลงโดยเฉลี่ย 10% ช่วยให้เราสามารถแข่งขันในตลาดเพื่อนบ้านหรือตลาดจีนได้ดีขึ้น

ส่วนปัจจัยลบที่เป็นตัวถ่วงตัวเลขการค้าชายแดน เช่น สถานการณ์โควิด-19 ซึ่งมาเลเซียเข้มงวดการนำเข้าสินค้าชายแดนผ่านไทยเพราะต้องควบคุมการแพร่ระบาด ส่งผลกระทบต่อการส่งออกน้ำยางและส่งผลต่อราคาน้ำยางในประเทศไทย แต่ยางก้อนถ้วยยังราคาดีมาก และดีกว่าหลายยุคที่ผ่านมา เพราะ 3-5 ปีที่ผ่านมากิโลกรัมละ 15 บาท แต่วันนี้ 24 บาท ราคาอาจหย่อนลงไปบ้าง และยังมีปัญหาระบบการขนส่งโลจิสติกส์ ทั้งการขนส่งข้ามจังหวัดที่มีอุปสรรคตอนข้ามจังหวัด และระบบการขนส่งข้ามประเทศที่ต้องแก้ปัญหาหน้างานตลอด ทั้งจากไทยไป สปป.ลาว และไปเวียดนาม เป็นต้น หรือรวมทั้งข้ามฝั่งไปเมียนมา เพราะสถานการณ์การเมืองในเมียนมาเป็นปัจจัยตัวที่ทำให้การค้าชายแดนไม่คล่องตัวอย่างในภาวะปกติ

นอกจากนี้ จะเร่งรัดเปิดด่านต่อ หลังจากเปิดไปแล้ว 44 ด่านจาก 97 ด่าน โดยได้มอบหมายให้อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศเจรจาจับมือกับเอกชนและจังหวัด ขณะนี้คืบหน้าใน 5 จังหวัด คือ เชียงราย เลย หนองคาย นครพนม และมุกดาหาร ซึ่งวันที่ 30 ก.ค. 2564 ที่ผ่านมาได้มีการประชุม 3 ฝ่าย มีข้อสรุปว่าจะทำแผนในการเปิดด่านกับฝั่ง สปป.ลาว เกือบเสร็จแล้วใน 5 จังหวัด ด่านปากแซง นาตาล ที่ จ.อุบลราชธานี ที่ตนไปดูด่านด้วยตนเอง ประสานจังหวัดจัดงบประมาณทำทางลาดลงไป มีความคืบหน้าในการเจรจาอยู่ในขั้นตอนรายละเอียด คาดว่าน่าจะเป็นด่านแรกๆ ที่จะสามารถเปิดด่านได้ ที่นราธิวาส ด่านตากใบ กับด่านบูเก๊ะตา จะเร่งรัดต่อไป โดยได้มอบอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศใช้โมเดลเดียวกับด่านชายแดน สปป.ลาว ประชุม 3 ฝ่าย คาดว่าสัปดาห์หน้าจะประชุมได้ เมื่อได้แผนเปิดแล้วจะเจรจากับมาเลเซียต่อไป แต่ทั้งนี้ ต้องคุยทั้ง 3 ฝ่าย เศรษฐกิจ สาธารณสุข และความมั่นคง ต้องคุยด้วยกันถึงจะเปิดด่านได้


กำลังโหลดความคิดเห็น