xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” เผยแนวโน้มการบริโภคอาหารเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมกำลังเติบโต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ทูตพาณิชย์โอซากา” เผย “การบริโภคอาหารเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” กำลังเป็นเทรนด์ใหม่มาแรงในญี่ปุ่น พบร้านอาหารหรูแบบไคเซกิ เริ่มให้บริการเมนูเนื้อสัตว์สังเคราะห์จากแมลง แถมได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น เหตุคนต้องการลดปัญหาโลกร้อน แนะไทยศึกษาเพื่อสร้างโอกาสในการทำธุรกิจ และส่งออก

นายธีระพล โกวพัฒนกิจ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโอซากา เปิดเผยว่า สำนักงานฯ ได้ทำการสำรวจโอกาสทางการตลาดให้แก่ผู้ประกอบการไทย ตามนโยบายนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โดยพบว่าขณะนี้เทรนด์อาหารเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ร้านอาหารหรูรูปแบบไคเซกิ (อาหารชุดที่เชฟคัดเลือกรายการอาหารไว้แล้ว และให้บริการทีละอย่างลงบนถาดส่วนตัว) กับเมนูเนื้อสัตว์สังเคราะห์จากแมลงกำลังได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น เพราะการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ได้จำกัดอยู่แค่อุตสาหกรรมและพลังงาน แต่อาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะโลกร้อนได้ถูกให้ความสำคัญเช่นเดียวกัน โดยการทำอาหารที่ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกอาจกลายเป็นเสน่ห์และจุดขายของอาหารในอนาคต

ทั้งนี้ ในโอซากามีร้านอาหารไคเซกิชื่อดัง “Unkaku” โดยเชฟ Masaharu Shimamura ได้ริเริ่มคิดค้นเนื้อนกเป็ดน้ำและไก่สังเคราะห์จากแมลง และได้ก่อตั้งบริษัท Diver Farm (เมืองโอซากา) ในปี 2020 เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในร้านไคเซกิ โดยได้ก่อตั้งร่วมกับจิโร โอโนะ ประธานบริษัทสตาร์ทอัพด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู บริษัท Tissue Buynet (โตเกียว) ทั้งสองได้พัฒนาเมนูหลายชนิด ซึ่งเป็นเมนูที่อยู่ในร้านอาหารระดับไฮเอนด์ทั้งสิ้น โดยหากไม่บอกว่าอาหารทำจากเนื้อสังเคราะห์ก็แทบจะดูไม่ออก

สำหรับสาเหตุที่ต้องผลิตเนื้อสังเคราะห์ คือ อุตสาหกรรมปศุสัตว์ เช่น โค สุกร และไก่ มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมาก ตามที่องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่าก๊าซเรือนกระจกมีเทนและไนตรัสออกไซด์ (N2O) ที่ปล่อยออกมาจากอุตสาหกรรมปศุสัตว์ของโลกในปี 2019 นั้น อยู่ที่ประมาณ 3.2 พันล้านตัน คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) คิดเป็น 5% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด 59.1 พันล้านตัน ซึ่งเกิดจากการหมักในระบบย่อยอาหารของปศุสัตว์และการแปรรูปมูลสัตว์ แต่การเลี้ยงจิ้งหรีดมีการผลิตก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณหนึ่งในร้อยเมื่อเทียบกับการเลี้ยงวัว สุกร และไก่ ทำให้บริษัท Startup อย่าง BugMo Co., Ltd. (เกียวโต) มีการเริ่มเลี้ยงจิ้งหรีดในเมือง Kamikawa จังหวัด Hyogo ในปี 2021 โดยจะผลิตได้ 8 ตันต่อปีภายใน เม.ย. 2022 และมีการจัดตั้งระบบการผลิตให้แก่เกษตรกร

นอกจากนี้ ยังพบว่า Fuji Oil ผู้ผลิตอาหารที่ผลิตสารทดแทนเนื้อสัตว์จากกากถั่วเหลืองที่ได้จากการผลิตน้ำมันจากถั่วเหลือง จำหน่ายสินค้ามากกว่า 60 รายการที่มีรูปร่างและเนื้อสัมผัสที่แตกต่างกัน เช่น แบบหั่นบาง และแบบไก่ทอดคาราเกะ โดยมีการผสมกับน้ำมันพืชและไขมันเพื่อเพิ่มความชุ่มฉ่ำให้กับรสสัมผัสของไก่ และตั้งแต่เดือน มี.ค.ที่ผ่านมา เริ่มร้านรูปแบบครัวในรถ โดยเสิร์ฟเมนูอาหาร ซึ่งเป็นเมนูทดแทนเนื้อสัตว์ ใช้ถั่วเหลืองเป็นส่วนประกอบหลัก เช่น สเต๊กแฮมเบอร์เกอร์และไก่ทอดคาราเกะ โดยเปิดร้านค้าใน Mall (เมือง Hirakata โอซากา) และ Izumiya Kawachinagano Store (เมือง Kawachinagano โอซากา)

อย่างไรก็ตาม จากแนวโน้มที่เกิดขึ้น แสดงให้เห็นว่าทิศทางการบริโภคอาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมกำลังมาแรง โดยเฉพาะอาหารที่ผลิตจากเนื้อสังเคราะห์ แต่ให้คุณค่าทางโภชนาการสูงเช่นเดียวกับเนื้อสัตว์ กำลังเป็นที่นิยมเพิ่มมากขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการไทยควรจะศึกษาแนวโน้มและทิศทางการขยายตัว และนำมาปรับใช้ในการพัฒนาสินค้าเนื้อสัตว์สังเคราะห์ของไทย เพราะไทยเป็นแหล่งวัตถุดิบสำคัญ ทั้งจิ้งหรีด และพืชผักที่ใช้แทนโปรตีน ทำให้มีโอกาสในการพัฒนาสินค้าและเพิ่มโอกาสในการส่งออกในอนาคต


กำลังโหลดความคิดเห็น