รถไฟฟ้าสายสีเหลือง และสายสีชมพูก่อสร้างคืบหน้าเกินกว่า 80% รฟม.ยันเป้าหมายเปิดให้บริการเต็มรูปแบบปี 2565 ด้านกรมรางลงพื้นที่บริเวณมีนบุรี และสำโรง แนะทำสกายวอล์กเพิ่มความสะดวกในจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสีเขียว สีแดง และแอร์พอร์ตลิงก์
วันนี้ (15 ก.ย.) นายกิตติพันธ์ ปานจันทร์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) และนายพิเชฐ คุณธรรมรักษ์ รองอธิบดี ขร. ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานก่อสร้างรถไฟฟ้ารางเบาสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) และสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) โดยผู้แทนการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) พร้อมด้วยผู้แทน บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี และผู้ควบคุมการดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับและบรรยายสรุป
สำหรับโครงการรถไฟฟ้ารางเบาสายสีเหลืองมีทั้งหมด 23 สถานี การก่อสร้าง (ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2564) มีความคืบหน้าที่ 82.93% (งานโยธา 86.08% และงานระบบรถ 78.81%) มีอาคารจอดแล้วจรตั้งอยู่ที่สถานีศรีเอี่ยม (YL 17) ถนนศรีนครินทร์ ส่วนโครงการรถไฟฟ้ารางเบาสายสีชมพู มีทั้งหมด 30 สถานี การก่อสร้าง (ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2564) มีความคืบหน้าที่ 80.12% (งานโยธา 81.58% และ งานระบบรถ 77.78%) มีอาคารจอดแล้วจรอยู่ที่สถานีมีนบุรี (PK 30)
ทั้งนี้ ขร.ได้เสนอให้มีการก่อสร้างสกายวอล์กเพื่ออำนวยความสะดวกต่อประชาชนในการเดินเท้าบริเวณจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายต่างๆ เช่น สายสีเหลือง สถานีสำโรงเชื่อมไปยังสายสีเขียว สถานีหัวหมาก (YL11) เชื่อมไปรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ สถานีหัวหมาก สายสีชมพู สถานีมีนบุรี (PK 30) เชื่อมไปยังสายสีส้ม สถานีมีนบุรี เป็นต้น
รวมถึงป้ายบอกทางสำหรับการเข้าใช้บริการจุดจอดแล้วจร และการดำเนินงานด้านอื่นๆ ซึ่งจะมีการรวบรวมข้อมูลนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการกำกับและบริหารจัดการระบบขนส่งทางราง โดยมีอธิบดีกรมการขนส่งทางรางเป็นประธาน เพื่อร่วมกันบูรณาการในการพัฒนาทั้ง 2 โครงการให้มีความพร้อมในการบริการประชาชนต่อไป
นายกิตติ เอกวัลลภ ผู้ช่วยผู้ว่าการ รฟม. ในฐานะรองผู้อำนวยการโครงการ ด้านบริหารงานก่อสร้าง โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง พร้อมด้วยกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา PCYL และบริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (EBM) ผู้รับสัมปทาน ให้ข้อมูลว่า รถไฟฟ้าสายสีเหลืองฯ บริเวณสถานีสำโรงเป็นจุดเชื่อมต่อกับสถานีสำโรงของรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ บริเวณสถานีศรีเอี่ยม ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อกับอาคารจอดแล้วจร (Park and Ride) และศูนย์ซ่อมบำรุง (Depot) และบริเวณสถานีหัวหมาก (หรือชื่อเดิมคือ สถานีพัฒนาการ) ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อกับสถานีหัวหมากของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ และรถไฟสายตะวันออก
นายณัฐ นาคธรณินทร์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาโครงการ รฟม. ในฐานะรองผู้อำนวยการโครงการ ด้านบริหารงานก่อสร้าง โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี พร้อมด้วยกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา PCPK และบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ผู้รับสัมปทาน รายงานว่า บริเวณสถานีมีนบุรี ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อกับอาคารจอดแล้วจร (Park and Ride) และศูนย์ซ่อมบำรุง (Depot) บริเวณสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อกับสถานีวัดพระศรีมหาธาตุของรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และสถานีหลักสี่ ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อกับรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต
ทั้งนี้ รฟม.ได้มีการกำกับการดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าทั้งสองสายอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด ทั้งในส่วนของงานก่อสร้างงานโยธา งานติดตั้งงานระบบรถไฟฟ้า และงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยตั้งเป้าหมายจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบภายในปี 2565 เพื่อส่งมอบทางเลือกในการเดินทางด้วยระบบรถไฟฟ้าโมโนเรลที่สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยให้แก่ประชาชน พร้อมทำหน้าที่เป็นระบบขนส่งมวลชนระบบรอง (Feeder Line) เพื่อป้อนผู้โดยสารเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้าสายหลักสายต่างๆ
ในระหว่างการดำเนินงานโครงการฯ รฟม.ยังได้มีการประกาศนโยบายการก่อสร้างปลอดภัย 100% เพื่อให้กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา และผู้รับสัมปทานรับไปเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานด้วยจิตสำนึกความปลอดภัยทั้งต่อตนเอง เพื่อนร่วมงาน และผู้สัญจรผ่านโดยรอบ รวมถึงการผลักดันนโยบายด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ลงมาสู่กระบวนการดำเนินงานหลักขององค์กร เช่น การกำหนดมาตรการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและจราจรสำหรับโครงการฯ การป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในแนวสายทาง การจัดให้มีช่องทางรับเรื่องร้องเรียนเพื่อเร่งแก้ไขบรรเทาสถานการณ์โดยเร็ว ฯลฯ ตลอดจนการจัดกิจกรรมเพื่อสังคมในรูปแบบต่างๆ เพื่อดูแลชุมชนตามแนวสายทางที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการฯ อย่างต่อเนื่อง