กรมรางเคาะชื่อสถานีรถไฟฟ้า 4 เส้นทาง สีส้ม สีม่วง สีชมพู สีเหลือง รวม 18 สถานี ที่เคยมีประเด็นความเห็นแตกต่าง ยึดหลักความเหมาะสมกับที่ตั้ง Landmark และความเห็นประชาชนในพื้นที่
สีเปลี่ยนสถานีวัดชลประทาน เป็นกรมชลประทาน สีเหลือง เปลี่ยนสถานีพัฒนาการเป็นหัวหมาก สีม่วงเปลี่ยนสถานีผ่านฟ้าฯ เป็นอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สีส้มเปลี่ยนสถานีราชมังคลาเป็น กทท. ยันยึดหลักความเหมาะสมกับที่ตั้งและความเห็นประชาชนในพื้นที่
นายกิตติพันธ์ ปานจันทร์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการกำกับและบริหารจัดการระบบขนส่งทางราง ครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2564 ซึ่งได้มีการพิจารณาการกำหนดชื่อสถานีรถไฟฟ้า 4 เส้นทาง รวม 18 สถานี คือ รถไฟฟ้าสายสีส้ม จำนวน 6 สถานี สายสีม่วง จำนวน 3 สถานี สายสีชมพู จำนวน 7 สถานี และสายสีเหลือง จำนวน 2 สถานีที่ชื่อสถานีเป็นประเด็นในเรื่องความเห็น โดยได้ข้อยุติที่เหมาะสมแล้ว โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) รฟท. บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) ภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ รถไฟฟ้า BTS บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM กรุงเทพมหานคร (กทม.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เข้าร่วมหารือ
ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ได้มีมติเห็นชอบการกำหนดชื่อสถานีภาษาไทย และภาษาอังกฤษ เช่น รถไฟฟ้าสายสีชมพู สถานีวัดชลประทานเดิม เปลี่ยนเป็นสถานีกรมชลประทาน (Royal Irrigation Department) เนื่องจากที่ตั้งอยู่หน้ากรมชลประทาน, บริเวณสินแพทย์กำหนดให้เป็น รามอินทรา กม.9 (Ram Inthra Kor Mor 9) เพื่อให้สอดคล้องกับชื่อเรียกย่านในบริเวณดังกล่าว เป็นต้น
รถไฟฟ้าสายสีม่วง สถานีผ่านฟ้าฯ เดิม กำหนดชื่อเป็นสถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย (Democracy Monument) เช่นเดียวกับสถานีรถไฟฟ้าสายสีส้ม อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย (Democracy Monument) โดยมีรหัสสถานีที่แตกต่างกัน เนื่องจากให้สอดคล้องกับ Landmark ในบริเวณดังกล่าวและเป็นสถานีที่อยู่ใกล้กันในระยะเดินถึง
รถไฟฟ้าสายสีม่วง สถานีวงเวียนใหญ่เหนือเดิม กำหนดชื่อเป็นสถานีวงเวียนใหญ่ (Wongwian Yai) เพื่อให้สอดคล้องกับ Landmark ในบริเวณดังกล่าว
รถไฟฟ้าสายสีเหลือง สถานีพัฒนาการเดิม กำหนดชื่อเป็น สถานีหัวหมาก (Hua Mak) เนื่องจากที่ตั้งอยู่บนถนนศรีนครินทร์ อยู่ใกล้สถานีรถไฟหัวหมาก และสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์หัวหมากในระยะประมาณ 200-300 เมตร ซึ่งเป็นระยะเดินถึงและเป็นย่านที่ประชาชนคุ้นชินแล้ว ควรที่จะใช้ชื่อเดียวกันเพื่อลดความสับสนของผู้ใช้บริการ โดยมีรหัสสถานีที่แตกต่างกัน เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังพิจารณาแนวทางการกำหนดรหัสสีของเส้นทางรถไฟฟ้าให้เป็นมาตรฐานกลางเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้ประโยชน์ จัดทำป้ายสัญลักษณ์ แผนที่ ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบสอดคล้องกันอย่างมีเอกภาพ
อย่างไรก็ตาม กรณีรหัสสีของเส้นทางระบบรางในอนาคต ให้หลีกเลี่ยงการใช้สีที่ใกล้เคียงกับสีที่มีอยู่เดิม ซึ่งจะสร้างความสับสนแก่ผู้ใช้บริการ โดยเฉพาะผู้พิการประเภทตาเห็นเลือนราง หากหลีกเลี่ยงการใช้สีซ้ำหรือใกล้เคียงกันไม่ได้ ควรที่จะกำหนดชื่อเส้นทางประกอบกับรหัสสี เพื่อสื่อสารให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้าใจได้ โดยให้หน่วยงานผู้ให้บริการขนส่งทางรางเสนอกรมรางพิจารณา เพื่อเสนอกระทรวงคมนาคมให้ความเห็นชอบก่อนการดำเนินการจริง