xs
xsm
sm
md
lg

คนกรุงโวยบีทีเอสเลิกขายเที่ยวเดินทาง 30 วัน เหน็บค่าแรง 300 รถไฟฟ้าทะลุร้อยไปแล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอสทัวร์ลงเพจ หลังประกาศเลิกจำหน่ายโปรโมชันเที่ยวเดินทาง 30 วัน ทำเอาคนใช้ประจำจ่ายแพงกว่าเดิม สูงสุด 59 บาทต่อเที่ยว ไป-กลับทะลุหลักร้อยบาท ชี้เอาเปรียบซ้ำเติมวิกฤตโควิด

เมื่อวันที่ 1 ก.ย. รถไฟฟ้าบีทีเอสได้ออกประกาศ เรื่อง สิ้นสุดการจำหน่ายโปรโมชันเที่ยวเดินทาง 30 วัน ระบุว่า บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ขอแจ้งให้ทราบว่าจะสิ้นสุดการจำหน่ายโปรโมชันเที่ยวเดินทาง 30 วัน ทุกประเภท ผู้โดยสารสามารถซื้อ หรือเติมเที่ยวเดินทางได้จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2564 เป็นวันสุดท้าย ทั้งนี้ บัตรโดยสารที่มีเที่ยวเดินทางคงเหลือสามารถใช้เดินทางได้จนกว่าเที่ยวเดินทางจะหมด หรือเที่ยวเดินทางหมดอายุการใช้งานอย่างใดอย่างหนึ่ง

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ชี้แจงว่า ปัจจุบันพฤติกรรมการเดินทางของผู้โดยสารเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม มีรูปแบบการเดินทางที่หลากหลายมากขึ้น ประกอบกับความไม่แน่นอนเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้โดยสารไม่สามารถวางแผนการเดินทางล่วงหน้าได้นานแบบเมื่อก่อน อีกทั้งเรื่องการชำระค่าโดยสารล่วงหน้าดูจะเป็นทางเลือกที่ไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป บริษัทฯ ได้พิจารณาเห็นว่าโปรโมชันเที่ยวเดินทาง 30 วัน สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้ค่อนข้างจำกัด จึงจะยุติการทำโปรโมชันดังกล่าว

สำหรับอัตราค่าโดยสารที่เรียกเก็บในเส้นทางสัมปทาน 23.5 กิโลเมตร จากสถานีหมอชิตไปสถานีอ่อนนุช และจากสถานีสนามกีฬาแห่งชาติไปสถานีสะพานตากสิน รวมส่วนต่อขยายจากสถานีสะพานตากสิน ถึงสถานีวงเวียนใหญ่ ยังคงอยู่ในอัตรา 16-44 บาท ตามเดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด ผู้โดยสารสามารถใช้บัตรโดยสารใบเดิมเพื่อเติมเงิน และใช้เดินทางได้ตามปกติ ทั้งบัตรสำหรับบุคคลทั่วไป และบัตรสำหรับนักเรียน นักศึกษา นอกจากนั้น ในส่วนของบัตรสำหรับผู้สูงอายุ ยังคงได้รับโปรโมชันส่วนลดครึ่งราคาจากอัตราค่าโดยสารที่เรียกเก็บในอัตราเดิม

รายงานข่าวระบุว่า เรื่องดังกล่าวทำให้ผู้ใช้บริการแสดงความไม่พอใจ โพสต์ความเห็นไปยังเฟซบุ๊กเพจ “รถไฟฟ้าบีทีเอส” จำนวนมากกว่า 1,200 ความคิดเห็น เช่น

“ราคาก็แพง ราคาแบบปกติแต่ละเที่ยวก็แพงอยู่แล้ว ถึงที่ผ่านมามีราคาแบบเหมาก็จริง แต่มากำหนดใช้ภายใน 30 วัน พ้นปุ๊บ ตัดปั๊บ เริ่มซื้อนับใหม่ ถ้าไม่ปรับราคาให้ถูกลงก็ควรจะปรับปรุงให้ไม่หมดอายุมากกว่า ในเมื่อผู้โดยสารก็ซื้อแบบเหมาอยู่แล้ว ลองกลับไปพิจารณาเงื่อนไขใหม่หน่อยนะคะ คนอาจแห่ไปซื้อรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ หันไปคุ้นเคยกับการขึ้นรถเมล์กันเยอะขึ้นแน่ แล้วการบวกเพิ่มส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าก็ยิ่งทำให้รู้สึกเอาเปรียบขึ้นไปอีก ค่าเดินทางสวนทางกับแรงงานขั้นต่ำประเทศมาก แทนที่ประชาชนทุกคนจะได้ใช้บริการระบบขนส่ง กลับกลายเป็นบางส่วนแทบไม่มีโอกาสได้ใช้เลย”

“บ้าหรือเปล่า ไม่คิดว่าเหตุผลนี้จะออกมาจากผู้บริหารนะ ถ้าสถานการณ์กลับมาเป็นปกติ คนที่เขาใช้อยู่ตลอดอยู่แล้วก็ต้องเติมเที่ยว 30 วันอยู่ดี สถานการณ์เปลี่ยนบ้าอะไร ให้คนที่จะใช้เขาคิดคำนวณการใช้เองสิ มาคิดแทนได้ไง แล้วเล่นยกเลิก 30 วันแล้วไง ราคาเที่ยวปกติก็ไม่ได้ปรับลดนี่ ถ้าจะยกเลิกซื้อล่วงหน้า 30 วัน แน่จริงก็ปรับลดราคาเที่ยวปกติลงมาด้วยสิ ทุกวันนี้ที่คนเขาไม่ได้เติมเที่ยว 30 วันกัน เพราะตอนนี้เขาเวิร์กฟรอมโฮมไง ถ้าถึงวันที่ต้องกลับมาใช้ชีวิตปกติไปทำงานกันทุกวัน มันก็ต้องจำเป็นอยู่แล้วปะ”

“ระบบผูกขาด คนใช้งานไม่มีทางเลือกอื่น แต่กลับเปลี่ยนราคาซึ่งแพงมากเมื่อเทียบกับรายได้ประชาชน ขอให้กลับไปพิจารณาใหม่ว่าสมเหตุผลหรือไม่ ลูกค้าจะลดลงทันที”

“เป็นนโยบายที่เห็นแก่ตัวและเอาเปรียบผู้บริโภคที่สุด คุณไม่สามารถทวงหนี้จากรัฐบาลได้ จึงมาใช้วิธีสกปรกเอาเปรียบประชาชนแบบนี้เหรอคะ ประชาชนหาเช้ากินค่ำ ค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาทแต่ต้องเสียค่าเดินทางไปกลับวันละ 118 บาท ทำงานแทบไม่ต้องคิดถึงเงินเก็บ มีเงินให้เหลือพอใช้ไปวันๆ นี่ก็บุญแล้ว คุณอ้างถึงการไม่วางแผนของประชาชน คุณจะมาคิดแทนประชาชนทำไมคะ เราซื้อด้วยเงินของเรา ทำไมถึงมาคิดว่าเราจะไม่วางแผน อย่ามาซ้ำเติมประชาชนตาดำๆ ในสถานการณ์ที่มันแย่อยู่แล้วแบบนี้เลยค่ะ”

“แบบนี้เขาเรียกหาเหตุผลมาเอาเปรียบนะคะ​ เศรษฐกิจ​แบบนี้​ คนใช้บีทีเอสประจำ​ เพราะมีตั๋ว 30 วัน​ คนใช้เขารู้ว่าเขาจะใช้แบบไหน​ คำนวณได้​ อย่างนี้เขาเรียกซ้ำเติมกันมากกว่า”

“ผมใช้ BTS เพราะมีแบบ 30 วัน คำนวณแล้วมันถูกกว่า ถ้ายกเลิกแบบนี้ผมคงไปใช้ MRT แทน เพราะนั่งยาวทีเดียวถึงที่ทำงานเลย ไม่ต้องเปลี่ยนขบวนให้ยุ่งยากด้วย จาก 26-28 บาทต่อเที่ยว กลายเป็น 59 บาทต่อเที่ยว แต่ใช้ MRT จ่ายแค่ 42 บาท ถ้าไม่คิดโปรฯ มาทดแทน ระวังลูกค้าหายหมดนะครับ เพราะตัวเลือกอื่นมันก็มีอยู่นะครับ”

“ไม่ตอบโจทย์ตรงไหนคะ ปกติผู้โดยสารก็เลือกได้อยู่แล้วว่าจะเติมเที่ยวหรือเติมเงิน เติมเที่ยวก็มีให้เลือกหลายแบบตามความจำเป็นที่ต้องใช้อยู่แล้ว ทำไมต้องงดเติมเที่ยวล่ะ เที่ยวใช้ไม่หมดก็ตัดทิ้งไม่ทบไปเดือนอื่น คุณมีแต่ได้กับได้ ถ้าคนในประเทศไม่ช่วยเหลือกันเอาตัวรอดเพียงคนเดียวหรือพวกพ้องของตนเอง แบบนี้ไม่ต้องมาอยู่ประเทศเดียวกันหรอกค่ะ อย่าหวังแต่จะกอบโกยสิคะ ถ้าไม่มีผู้บริโภคอย่างเราคุณจะได้เงินจากไหน โปรดพิจารณาใหม่นะคะ #คนไทยเหมือนกัน”

“เข้าใจค่ะว่าแบกหนี้เยอะ รัฐไม่ยอมจ่าย แต่อย่าผลักภาระให้ประชาชนค่ะ ส่วนต่อขยายต้องเพิ่มอีก 15 บาท เท่ากับว่าต้องจ่ายจริง 44 บวก 15 เท่ากับ 59 ไป-กลับ 118 บาท ประทานโทษนะคะบ้านไม่ได้อยู่ติดบีทีเอสค่ะ กรุณาเหลือเงินให้ต่อรถต่อเรือต่อวินด้วยค่ะ”

“ขายแบบเดิมแหละดีแล้ว แล้วก็ประกาศไปเลยว่าถ้ามีการล็อกดาวน์อีกจะไม่มีการคืนเงินหรือขยายเวลาสำหรับคนที่ซื้อแบบเหมาเที่ยว ให้ผู้โดยสารแบกรับความเสี่ยงเอง ถ้าแบบไหนมันคุ้มกว่าเดี๋ยวผู้โดยสารเขาเลือกเอง ไม่ใช่ไม่มีตัวเลือกให้เขา”

“ค่าแรงขั้นต่ำคนในประเทศ 300 เป็นค่าเดินทางไปแล้ว 100 ทุเรศ”

“หากใครใช้คนละครึ่งก็พอบรรเทาไปได้บ้างครับ ในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม หวังว่าต้นปีหน้าถ้าทุกอย่างลงตัว โควิดไม่หนักก็ขอให้เอาตั๋ว 30 วันกลับมาเถอะครับ หรือจะทำแบบซื้อเหมาจำนวนเที่ยวแต่ไม่จำกัดวัน ต่อให้ราคาต่อเที่ยวจะแพงกว่าแบบ 30 วันหน่อยคนก็พร้อมจ่ายครับ”

“เหมือนผลักภาระมาให้ผู้โดยสาร แถมยังเอาผู้โดยสารมาอ้าง ผู้โดยสารเขาวางแผนการเดินทางอยู่แล้ว ทำแบบนี้จากที่ผู้โดยสารลดลง มันจะยิ่งลดลงไปอีก”

“หนูเป็นเด็กนักศึกษาปี 1 ธรรมดาๆ ที่ไปทำงานแบ่งเบาภาระครอบครัว ไปทำร้านกาแฟออกบูทที่สยามค่ะ และวางแผนจะทำงานหนึ่งเดือน แล้วต้องไปกลับด้วยรถไฟฟ้า เลยตัดสินใจซื้อบัตรแบบ 50 เที่ยว เพราะถูกกว่าเยอะมาก พอมาเกิดการล็อกดาวน์ของรัฐที่ประกาศตอนล็อกดาวน์กลางคืน และจะมีผลในอีกไม่กี่วัน หนูทำงานได้แค่ 9 วันค่ะ ซื้อบัตรรถไฟฟ้าเพิ่งใช้ได้ 2-3 วัน เหลืออีกประมาณ 40 กว่าเที่ยว หมดค่าบัตรไป 950 บาท หนูเที่ยวไปติดต่อว่าจะมีอะไรช่วยเหลือหรือคืนเงินตรงนี้ไหม เขาบอกรอประกาศทางเพจ และพนักงานที่ตอบบอกคิดว่าจะมีส่วนลดให้เที่ยวต่อไปที่เราใช้ คือไม่มีอะไรแน่นอนเลยค่ะ หมดความมั่นใจมากว่าจะได้ชดเชย จนตอนนี้หนูก็ไม่มั่นใจว่าจะได้เงินคืนหรือส่วนลดในส่วนนี้จริงๆ ไหม กับเหตุการณ์ฉุกเฉินแบบนี้ งานเราก็ไม่ได้ทำ ไม่มีรายได้ เสียค่าเที่ยวบัตรแพงๆ ไปแต่ไม่ได้ใช้ และไม่มีความรับผิดชอบต่อลูกค้าของทางรถไฟฟ้าบีทีเอส”

“กลุ่มลูกค้าของคุณมีทุกเพศทุกวัยนะคะ ตั้งแต่เด็กเล็ก นักศึกษา วัยทำงาน ผู้สูงอายุ ทุกคนไม่ได้เงินเดือนห้าหมื่นนะคะ นี่ประเทศไทยเงินเดือนขั้นต่ำคือหมื่นห้า บางจังหวัดหรือบางหน่วยงานได้ไม่ถึงด้วยซ้ำ ทำไมถึงเอาเปรียบประชาชนขนาดนี้คะ เป็นถึงขนส่งสาธารณะ ไม่ควรผลักภาระให้ผู้ใช้บริการค่ะ ควรจะเอื้อประโยชน์ด้วยซ้ำ และที่ทุกคนวางแผนการเดินทางตอนนี้ไม่ได้เพราะการล็อกดาวน์ประเทศค่ะ เมื่อสถานการณ์กลับมาดีขึ้น ทุกคนยังต้องเดินทางและออกไปใช้ชีวิตตามปกตินะคะ”

“เขามีแต่จะลดราคาระบบขนส่งมวลชนเพื่อให้คนมาใช้งาน นี่เล่นยกเลิกแล้วผลักภาระให้คนใช้บริการ คิดง่ายๆ ครับ คนทำงานสีลม สุขุมวิท อยู่ปลายๆ สายเผื่อประหยัดค่าที่พัก เดิมเหมาจ่าย 20 กว่าบาท กลายเป็น 44 บาท นี่ยังไม่รวมค่าส่วนต่อขยายนะครับ ถามว่าจะให้ย้ายไปใกล้ที่ทำงาน ค่าที่พักก็คูณ 2-3 เท่าตัวไป จะอ้างว่าพฤติกรรมคนใช้บริการเปลี่ยนเพราะโควิดมันก็ต้องแน่นอนแหละครับ เพราะคนยังกลับไปทำงานที่บริษัทไม่ได้ทั้งหมด คนก็เลยไม่เติมเที่ยวกัน ถ้าโควิดหายเดี๋ยวคนก็กลับไปเติมกันเองแหละครับ ตรรกะแค่นี้คิดกันไม่ได้เลยหรือยังไง?”


อนึ่ง สำหรับเที่ยวเดินทาง 30 วันก่อนหน้านี้ เป็นการเติมโปรโมชันลงในบัตรแรบบิท ทั้งแบบบุคคลทั่วไป และนักเรียน-นักศึกษา ใช้เดินทางได้ตามจำนวนเที่ยวที่เลือกตามโปรโมชัน โดยไม่จำกัดระยะทาง เฉพาะสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส 25 สถานีเดิม ยกเว้นสถานีส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสุขุมวิท (ตั้งแต่สถานีบางจาก ถึงสถานีเคหะ) และสีลม (ตั้งแต่สถานีโพธิ์นิมิตร ถึงสถานีบางหว้า) ต้องจ่ายเพิ่ม 10-15 บาท ราคาสำหรับบุคคลทั่วไป 15 เที่ยว 465 บาท เฉลี่ย 31 บาทต่อเที่ยว, 25 เที่ยว 725 บาท เฉลี่ย 29 บาทต่อเที่ยว, 40 เที่ยว 1,080 บาท เฉลี่ย 27 บาทต่อเที่ยว, 50 เที่ยว 1,300 บาท เฉลี่ย 26 บาทต่อเที่ยว ราคาสำหรับนักเรียน นักศึกษา 15 เที่ยว 360 บาท เฉลี่ย 24 บาทต่อเที่ยว, 25 เที่ยว 550 บาท เฉลี่ย 22 บาทต่อเที่ยว, 40 เที่ยว 800 บาท เฉลี่ย 20 บาทต่อเที่ยว และ 50 เที่ยว 950 บาท เฉลี่ย 19 บาทต่อเที่ยว

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะทำให้ผู้โดยสารต้องเสียค่าโดยสารตามอัตราปกติ โดยสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส 25 สถานีเดิม คิดค่าโดยสารไปสถานีที่ 1 ราคา 16 บาท, สถานีที่ 2 ราคา 23 บาท, สถานีที่ 3 ราคา 26 บาท, สถานีที่ 4 ราคา 30 บาท, สถานีที่ 5 ราคา 33 บาท, สถานีที่ 6 ราคา 37 บาท, สถานีที่ 7 ราคา 40 บาท, สถานีที่ 8 เป็นต้นไป ราคา 44 บาท แต่ถ้าเข้าสถานีส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสุขุมวิท ตั้งแต่สถานีบางจาก ถึงสถานีแบริ่ง และส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีลม ตั้งแต่สถานีโพธิ์นิมิตร ถึงสถานีบางหว้า จะคิดค่าโดยสารเพิ่มอีก 15 บาท เป็น 59 บาท (นักเรียน-นักศึกษาเพิ่มอีก 10 บาท เป็น 54 บาท) ส่วนรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ยังคงไม่เก็บค่าโดยสาร เนื่องจากอยู่ระหว่างการเตรียมขออนุมัติสัญญาสัมปทานกับคณะรัฐมนตรี (ครม.)


กำลังโหลดความคิดเห็น