OR เจรจาร่วมทุน M&A ธุรกิจอาหารเครื่องดื่มและอื่นๆ หลายโครงการ คาดทยอยเห็นการปิดดีล ส่วนยอดขายน้ำมันในไตรมาส 3 นี้พบว่าเดือน ก.ค.-ส.ค.ยอดขายหด 10% คาดว่าหลังจากนี้จะดีขึ้นหากรัฐเร่งระดมฉีดวัคซีนให้ประชาชน
นายพิจินต์ อภิวันทนาพร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารการเงิน บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อเข้าลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอาหารเครื่องดื่มและ Non-FOOD & BEVERAGE หลายโครงการทั้งในลักษณะการซื้อกิจการ (M&A) และการร่วมลงทุน (JV) คาดว่าจะทยอยปิดดีลได้ต่อเนื่องเพื่อเสริมรายได้ในส่วนของธุรกิจ Non-Oil ที่มีมาร์จิ้นกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษีและค่าเสื่อม (EBITDA) อยู่ระดับสูงราว 25% มากกว่าธุรกิจน้ำมันที่มีสัดส่วน EBITDA อยู่ที่ประมาณไม่เกิน 5%
ส่วนของธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในกลุ่ม ปตท.ได้มีการพูดคุยถึงแนวทางความร่วมมือในธุรกิจ EV อย่างต่อเนื่อง แต่ในส่วนของบริษัทยังมุ่งเน้นไปที่การลงทุนติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า (EV Charging Station) จะเน้นลงทุนเทคโนโลยีใหม่ เช่น หัวจ่ายแบบชาร์จเร็ว (Quick Charge) ที่ใช้เวลาไม่เกิน 20 นาที และมีแอปพลิเคชันผ่านมือถือเพื่อเช็กว่าในพื้นที่มีปั๊มชาร์จอีวีที่ไหนบ้างและจองชาร์จอีวีด้วย
ส่วนแนวโน้มผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งหลังปีนี้ พบว่าในช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค.ที่ผ่านมายอดขายน้ำมันได้ลดลง 10% จากผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ป้องกันโควิด-19 และธุรกิจ Non-Oil ลดลงไม่ถึง 10% ส่วนเดือน ก.ย.นี้หวังจะดีขึ้นจากช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากรัฐบาลเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ขณะที่ไตรมาส 4 คาดหวังว่าปริมาณการขายน้ำมันจะฟื้นตัวดีขึ้นหากรัฐสามารถเร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้มากขึ้นเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่
“ในอนาคตปั๊มน้ำมันจะเป็น one stop service มากขึ้น โดยมีการบริหารจัดการพื้นที่ในปั๊มน้ำมันเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคมากขึ้น รวมทั้งมองการเข้าไปร่วมลงทุนกับพันธมิตรร้านค้าเพื่อรับรู้รายได้และกำไรนอกเหนือจากการมีรายได้ค่าเช่าที่เพียงอย่างเดียว”
ส่วนกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจในครึ่งปีหลังของปีนี้ ในส่วนของธุรกิจน้ำมัน จะมุ่งเน้นขายดีเซลมากขึ้น เพิ่มจำนวนลูกค้า Fleet card มากขึ้น มีการออกโปรโมชันกระตุ้นการขายเพื่อดึงดูดลูกค้าเข้าสู่สถานีบริการน้ำมันพีทีที สเตชั่นมากขึ้น ส่วนธุรกิจ Non-Oil จะขยายสาขา เพิ่มสัดส่วนการขายผ่านช่องทางออนไลน์และดีลิเวอรีมากขึ้น พร้อมออกผลิตภัณฑ์และโปรโมชันใหม่ๆ ให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคมากขึ้น
ส่วนธุรกิจต่างประเทศ จะเน้นเพิ่มความสะดวกของลูกค้า เช่น เรื่องของ e-Payment และปรับรสชาติกาแฟอเมซอนเพื่อให้รสชาติตรงความต้องการของลูกค้าในแต่ละประเทศ รวมถึงมองหาพันธมิตรเข้ามาร่วมลงทุนและเติบโตไปพร้อมกัน
สำหรับแผนการลงทุนในปีนี้ บริษัทได้ปรับลดการขยายสถานีบริการน้ำมันในประเทศจากเดิมจำนวน 110 สาขา เหลือ 95 สาขา ส่วน EV Station ที่ร่วมกับบริษัทในกลุ่ม ปตท.ปีนี้คาดว่าจะมีการติดตั้ง EV Charging stations ได้ตามเป้า 100 สาขา ด้านธุรกิจ Non-Oil แบ่งเป็น ร้านคาเฟ่ อเมซอน ยังคงแผนเปิดสาขาใหม่ 420 สาขาเช่นเดียวกับร้าน Texas chicken ที่จะเปิดทั้งสิ้น 20 สาขา
ส่วนธุรกิจต่างประเทศ เดิมมีแผนขยายสถานีบริการน้ำมัน 52 สาขาในปีนี้ ได้ปรับลดลงเล็กน้อยเหลือ 45 สาขา รวมถึงสาขาร้านคาเฟ่ อเมซอน คาดว่าจะเปิดได้ 56 สาขา ปรับลดลงมาที่ 51 สาขา เนื่องจากได้รับผลกระทบของโควิดจากแต่ละประเทศ ส่วนการลงทุนในเมียนมาได้ชะลอการก่อสร้างคลังฯ ไปก่อนจนกว่าสถานการณ์ภายในเมียนมาจะคลี่คลาย
ด้านผลการดำเนินงาน 6 เดือนแรกของปีนี้ บริษัทมีกำไรสุทธิ 7,228 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,810 ล้านบาท หรือคิดเป็นกว่า 100% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมาจากทั้งรายได้ขายและ EBITDA ที่เพิ่มขึ้น โดยรายได้ขายและบริการอยู่ที่ 237,168 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยปัจจัยหลักมาจากกล่มธุรกิจน้ำมัน หลังจากเศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงของการฟื้นตัวทำให้ราคาขายเฉลี่ยผลิตภัณฑ์น้ำมันปรับตัวสูงขึ้น