ส.อ.ท.ผนึกกำลังร่วม บพข.-คณะวิศวะ จุฬาฯ ปรับอุตสาหกรรมไทยสู่โมเดล ศก. BCG นำร่อง 5 คลัสเตอร์อุตสาหกรรมหลัก หวังสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับจีดีพีในอีก 6 ปีข้างหน้าแตะ 4.4 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 24% ของจีดีพีตามเป้าหมายรัฐ
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยภายหลังการประกาศความร่วมมือกับหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อดำเนินโครงการการปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมไทยสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ว่า เป็นความร่วมมือที่ขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG Economy (Bio, Circular, Green) ที่เป็นวาระแห่งชาติให้เกิดเป็นรูปธรรม โดยจะนำร่องใน 5 คลัสเตอร์หลัก ได้แก่ ปิโตรเคมี วัสดุก่อสร้าง อาหาร ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้จะมีส่วนสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่เศรษฐกิจที่รัฐบาลวางเป้าหมายให้โมเดล BCG เพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เป็น 4.4 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 24% ของ GDP ในปี 2569-70
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า ส.อ.ท.มุ่งเน้นการขับเคลื่อน BCG โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมนำร่อง 5 คลัสเตอร์ที่เป็นกลุ่มที่มีการเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการทุกขนาด โดยเฉพาะขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) และเป็นอุตสาหกรรมที่เป็นจุดแข็งของไทยให้เกิดเป็นรูปธรรมและสัมฤทธิผล เพื่อสร้างทางเลือกแผนธุรกิจที่มีศักยภาพสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมและร่วมจัดทำคู่มือบทเรียนความสำเร็จของ CE Champion จาก 5 คลัสเตอร์เพื่อผลักดันให้อุตสาหกรรมอื่นๆ นำหลักการ BCG ไปปรับใช้ให้สอดคล้องกับเป้าหมายรัฐบาลและโลกที่กำลังพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้น้อยลง และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เกิดเป็นรูปธรรม
ศ.ดร.จักรพันธ์ สุทธิรัตน์ รองอธิการบดีด้านการวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2570 โดยความร่วมมือในโครงการนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะส่งเสริมและสนับสนุนในด้านวิชาการ ทั้งในเชิงองค์ความรู้เกี่ยวกับ Circular Economy และวิธีการวิจัยที่เป็นมาตรฐาน เพื่อใช้เป็นแนวทางการทำ Focus Group และจัดทำ Guidelines เพื่อให้ผู้ประกอบการในคลัสเตอร์อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องสามารนำแนวทางไปปรับใช้ และพัฒนาธุรกิจเพื่อให้สามารถแข่งขันได้
รศ.ดร.สิรี ชัยเสรี ผู้อำนวยการ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กล่าวว่า โครงการฯ จะเน้นการศึกษาวิจัย BCG Model ในทางวิชาการและสร้างการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนแนวทางการดำเนินธุรกิจ BCG เพื่อนำไปสู่การปรับใช้ในทางธุรกิจให้เกิดขึ้นจริง หลังจากที่ผลการศึกษาเสร็จสิ้น บพข.และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องมีความพร้อมที่จะสนับสนุนผู้ประกอบการในโครงการ ด้วยนโยบายการสนับสนุนทางการเงิน ภาษี การลงทุน กฎระเบียบ การพัฒนาทรัพยากรบุคคล โครงสร้างพื้นฐาน การวิจัยและพัฒนา และการตลาด เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถสร้างประโยชน์จากผลการวิจัยโครงการฯ ให้เกิดขึ้นจริงแก่ธุรกิจ