บี.กริม เพาเวอร์เดินหน้า M&A โรงไฟฟ้าทั้งในและต่างปรเทศ คาดครึ่งปีหลังปิดดีล 500-1,000 เมกะวัตต์ มั่นใจบรรลุเป้าปี 73 มีกำลังผลิตไฟฟ้าเพิ่มเป็น 1 หมื่นเมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุน 2.5-3 แสนล้านบาทดันรายได้ทะลุ 1 แสนล้านบาท
นายฮาราลด์ ลิงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM เปิดเผยว่า จากเป้าหมายการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าเป็น 1 หมื่นเมกะวัตต์ในปี 2573 จากสิ้นปี 2563 มีกำลังผลิตรวม 3,058 เมกะวัตต์ คาดจะใช้เงินลงทุนราว 2.5-3 แสนล้านบาท หนุนรายได้ในปี 2573 เพิ่มขึ้นแตะกว่า 1 แสนล้านบาท โดยบริษัทเห็นโอกาสการขยายการลงทุนโรงไฟฟ้าทั้งในไทย เอเชีย รวมไปถึงยุโรป และสหรัฐอเมริกา
นายนพเดช กรรณสูต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส-การเงินและบัญชี บมจ. บี.กริม เพาเวอร์ กล่าวว่า ในครึ่งหลังปี 2564 จะเห็นการเข้าร่วมทุนหรือซื้อกิจการ (M&A) โรงไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศราว 500-1,000 เมกะวัตต์ คาดว่าจะใช้เงินลงทุน 1 ล้านเหรียญสหรัฐ/เมกะวัตต์ โดยบริษัทจะรับรู้กำไรทันทีหลังปิดดีล M&A
ทั้งนี้ บริษัทฯ อยู่ระหว่างการเจรจา M&A โรงไฟฟ้า SPP ที่ใช้ก๊าซฯ เป็นเชื้อเพลิงในไทยราว 3-4 โครงการ คาดว่าจะบรรลุข้อตกลงราว 300-350 เมกะวัตต์ระยะแรก และมีโอกาสจะเพิ่มขึ้นอีก 200-300 เมกะวัตต์ในระยะถัดไป
ส่วนในต่างประเทศ ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจา M&A โรงไฟฟ้าก๊าซฯ ที่มาเลเซีย กำลังผลิต 200-300 เมกะวัตต์ เช่นเดียวกับที่เกาหลีใต้ที่เป็นโรงไฟฟ้าพลังลม ขนาดกำลังผลิต 100-150 เมกะวัตต์ในเฟสที่ 1 ด้านการลงทุนที่เวียดนาม บริษัทมองโอกาสการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังลมราว 100-150 เมกะวัตต์ในระยะสั้น และระยะกลาง บริษัทมีแผนลงทุนโครงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติเหลว LNG ขนาด 2,000-3,000 เมกะวัตต์ ซึ่งโครงการนี้คงต้องรอความชัดเจนแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ฉบับที่ 8 ของเวียดนาม พร้อมทั้งศึกษาเตรียมนำธุรกิจไฟฟ้าในเวียดนามเข้าระดมทุนในตลาดหุ้นด้วย
ก่อนหน้านี้ บี.กริม เพาเวอร์ร่วมลงนามสัญญาความร่วมมือกับ บริษัท ปิโตรเวียดนาม เพาเวอร์ เพื่อศึกษาและพัฒนาโรงไฟฟ้าขนาดกำลังการผลิตรวม 3,000 เมกะวัตต์ โดยใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เป็นเชื้อเพลิง รวมถึงโครงการนำเข้าและจำหน่าย LNG เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับโรงผลิตไฟฟ้าในประเทศเวียดนาม
นอกจากนี้ บริษัทคาดว่าครึ่งหลังปี 2564 บริษัทจะมีลูกค้าอุตสาหกรรมที่รับซื้อไฟฟ้าเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 15 เมกะวัตต์ จากครึ่งปีแรกมีลูกค้าอุตสาหกรรมที่รับซื้อไฟฟ้าเพิ่ม 31.5 เมกะวัตต์ โดยลูกค้าอุตสาหกรรมสร้างรายได้คิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 4 รายได้รวม โดยปริมาณไฟฟ้าที่ขายให้ภาคอุตสาหกรรมสูงกว่าก่อนเกิดวิกฤตการแพร่ระบาดโควิด-19