xs
xsm
sm
md
lg

BPP ลั่นครึ่งหลังปีนี้มีกำลังผลิตไฟฟ้าเพิ่มกว่า 700 MW

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



BPP ตั้งเป้าครึ่งหลังปี 64 มีกำลังผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นกว่า 700 เมกะวัตต์ พร้อมเร่งหาโอกาส M&A โรงไฟฟ้าเพิ่มเติม ตั้งเป้าใช้เงินลงทุนปีละ 300 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อให้บรรลุเป้ากำลังผลิตไฟฟ้ารวม  5,300 เมกะวัตต์ในปี 68 คาดครึ่งปีหลังนี้มี EBITDA ใกล้เคียงครึ่งปีแรกที่ 2,399 ล้านบาทแม้ว่าจะมีการปิดซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้าหลายโรง

นายกิรณ ลิมปพยอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) (BPP) เปิดเผยว่า ในครึ่งหลังปี 2564 บริษัทจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่เข้ามาเพิ่มตามสัดส่วนการถือหุ้นกว่า 700 เมกะวัตต์ (MW) มาจากการเข้าซื้อโรงไฟฟ้าก๊าซฯ CCGT “Temple I” ที่สหรัฐอเมริกา คิดเป็นกำลังผลิตตามที่ BPP ถือหุ้น 384 เมกะวัตต์ คาดว่าจะปิดดีลซื้อโรงไฟฟ้าในต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ ทำให้รับรู้รายได้เข้ามาทันที โครงการโรงไฟฟ้าซานซีลู่กวง (SLG) ประเทศจีน กำลังการผลิต 396 เมกะวัตต์ ปัจจุบันผ่านการตรวจรับจากการไฟฟ้าซานซีลู่กวงแล้วรอคำสั่งจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ไตรมาส 3 นี้ และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจ่ายไฟฟ้าเพิ่มอีก ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ประเทศญี่ปุ่น ในโครงการ KESENUMA ขนาดกำลังการผลิต 20 เมกะวัตต์ และโครงการ SHIRAKAWA ขนาดกำลังการผลิต 10 เมกะวัตต์ คาดว่าจะสามารถจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาส 4/2564

นอกจากนี้ ยังรับรู้โครงการโรงไฟฟ้าพลังลมที่เวียดนาม ประกอบด้วย โครงการโรงไฟฟ้าพลังลมเอลวินหมุยยิน ขนาดกำลังการผลิต 38 เมกะวัตต์ ที่อยู่ในขั้นตอนสุดท้ายในการเข้าซื้อกิจการ คาดแล้วเสร็จในไตรมาส 3/2564 จะส่งผลให้รับรู้เป็นรายได้ทันทีเพราะเป็นโครงการที่เดินเครื่องจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ แล้ว และโรงไฟฟ้าพลังลมหวินเจา เฟส 1 กำลังผลิต 30 เมกะวัตต์ คาด COD ไตรมาส 4 ปีนี้

ส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานลมหวินเจา เฟส 2-3 ขนาดกำลังการผลิตรวม 50 เมกะวัตต์ในเวียดนาม ในขณะนี้ได้ดำเนินการศึกษาขั้นต้นแล้วเสร็จ และอยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาเชิงพาณิชย์ และรอความชัดเจนของแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า( PDP) ของประเทศเวียดนามก่อนถึงจะตัดสินใจการลงทุนได้


ทั้งนี้ บริษัทยังแสวงหาโอกาสการลงทุนโรงไฟฟ้าสะอาดเพิ่มเติมในประเทศที่ BPP มีฐานธุรกิจอยู่แล้ว ซึ่งขณะนี้มีการเจรจาเข้าร่วมทุนหรือซื้อกิจการ (M&A) อยู่หลายโครงการที่ให้ผลตอบแทนในระดับสูงที่เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าแล้วและรับรู้เป็นรายได้ทันที เพื่อบรรลุเป้าหมายมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็น 5,300 เมกะวัตต์ในปี 2568

นายกิรณกล่าวว่า การที่จะบรรลุเป้าหมายการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าเป็น 5,300 เมกะวัตต์ ทำให้บริษัทจะใช้เงินลงทุนเฉลี่ยปีละ 200-300 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยปีนี้บริษัทได้มีการลงทุนไปแล้วประมาณ 300 ล้านเหรียญสหรัฐ จากการเข้าซื้อโรงไฟฟ้าก๊าซฯ CGGT Temple l และการซื้อกิจการโรงไฟฟ้า Nakoso Integrated Gasification Combined Cycle (IGCC) ณ จังหวัดฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น


ปัจจุบันมีกำลังการผลิตรวมอยู่ที่ 3,330 เมกะวัตต์ โดยในจำนวนนี้เป็นกำลังการผลิตไฟฟ้าที่ COD ไปแล้ว 3,224 เมกะวัตต์ และเป็นโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาราว 4 โครงการ กำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 106 เมกะวัตต์

ส่วนผลการดำเนินงานในครึ่งหลังปี 2564 บริษัทคาดว่าจะมีกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมและค่าใช้จ่ายตัดจ่าย (EBITDA) ใกล้เคียงครึ่งปีแรกที่มี EBITDA 2,399 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 2,160 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 30% แม้ว่าจะมีการปิดซ่อมบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าตามแผนหลายโรง และต้นทุนค่าเชื้อเพลิงถ่านหินในโรงไฟฟ้าที่จีนสูงขึ้น แต่บริษัทจะบริหารจัดการเพื่อลดค่าใช้จ่ายและต้นทุนค่าเชื้อเพลิงลง

“ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 BPP ยังคงดำเนินงานให้เป็นไปตามแผนกลยุทธ์ พร้อมบริหารทั้งทีมงานและธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าของเราทุกแห่งให้สามารถเดินหน้าได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังคงแสวงหาโอกาสขยายการเติบโตของกำลังผลิตไฟฟ้าในสัดส่วนที่สมดุลระหว่างพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไปและพลังงานหมุนเวียนในประเทศที่มีศักยภาพ โดยจะประเมินและพิจารณาอย่างรอบคอบที่สุด เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถสร้างผลตอบแทนได้อย่างเหมาะสมแก่ผู้มีส่วนได้เสียต่อไป” นายกิรณกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น