xs
xsm
sm
md
lg

รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนนัดประชุม 8-15 ก.ย.นี้ หารือแผนงานด้านเศรษฐกิจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนนัดประชุมผ่านทางไกลวันที่ 8-15 ก.ย.นี้หารือความคืบหน้าแผนงานด้านเศรษฐกิจ จ่อรับรองเอกสารสำคัญ 9 ฉบับ ไฟเขียวเพิ่มบัญชีสินค้าจำเป็น “อาหาร-เกษตร” ห้ามจำกัดส่งออกช่วงโควิด-19 เตรียมถกคู่ค้า 12 ประเทศเร่งเปิดเสรีเพิ่มเติมและขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจ พร้อมหารือเอกชนร่วมมือฟื้นเศรษฐกิจจากโควิด-19

นายสรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจาก นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้เป็นหัวหน้าผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) ครั้งที่ 53 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 8-15 ก.ย. 2564 ผ่านระบบการประชุมทางไกล เพื่อหารือความก้าวหน้าและความสำเร็จการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจของอาเซียนในช่วงตลอดปีที่ผ่านมา รวมทั้งจะร่วมรับรองเอกสารสำคัญ ก่อนเสนอต่อผู้นำในการประชุมสุดยอดอาเซียนในเดือน ต.ค. 2564 นี้

เอกสารสำคัญที่รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนจะร่วมรับรองและเห็นชอบในการประชุมครั้งนี้ ได้แก่ 1. กรอบการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2. แผนงานในการสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นดิจิทัลของอาเซียน 3. แผนงานในการดำเนินการตามความตกลงอีคอมเมิร์ซของอาเซียน 4. เครื่องมือประเมินประสิทธิภาพของมาตรการที่มิใช่ภาษีของประเทศสมาชิก 5. แผนงานภายใต้กรอบความตกลงด้านการค้าและการลงทุนระหว่างอาเซียน-สหรัฐฯ และการขยายการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ ปี 2564-2565 6. แผนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจอาเซียนบวกสาม (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้) ปี 2564-2565 7. แผนความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนอาเซียน-รัสเซีย 8. แผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการของความตกลงการค้าเสรีอาเซียน–ฮ่องกง 9. แผนงานด้านการค้าและการลงทุนอาเซียน-สหภาพยุโรป ปี 2563-2564 เป็นต้น

ทั้งนี้ ในส่วนของการส่งเสริมความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทานในช่วงโควิด-19 รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนจะให้ความเห็นชอบการขยายบัญชีรายการสินค้าจำเป็น (essential goods) ที่จะไม่ใช้ข้อจำกัดการส่งออกระหว่างกันให้ครอบคลุมสินค้าอาหารและสินค้าเกษตรบางรายการ

ขณะเดียวกัน อาเซียนจะหารือกับรัฐมนตรีการค้าของประเทศนอกภูมิภาคอีก 12 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ฮ่องกง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐฯ รัสเซีย สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร และสวิตเซอร์แลนด์ โดยมีประเด็นหารือที่สำคัญ เช่น แนวทางการเปิดเสรีสินค้าเพิ่มเติมและการเปิดเสรีและคุ้มครองการลงทุนภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน การเปิดเสรีสินค้าอ่อนไหวเพิ่มเติมตามที่ระบุในความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลีใต้ การหาข้อสรุปเกี่ยวกับขอบเขตการทบทวนความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน-อินเดีย ข้อเสนอญี่ปุ่นเรื่องการเติบโตด้านนวัตกรรมและความยั่งยืนเพื่อร่วมกันพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 การสมัครเข้าร่วมความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ของชิลี และการต้อนรับสหราชอาณาจักรที่ประชุมร่วมกันในฐานะประเทศคู่เจรจาของอาเซียนเป็นครั้งแรก

นายสรรเสริญกล่าวว่า รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนจะมีการหารือร่วมกับภาคเอกชนอาเซียน หรือสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ASEAN-BAC) อีกด้วย นับเป็นโอกาสดีที่อาเซียนจะได้หารือพัฒนาความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและส่งเสริมความเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานของภูมิภาคให้เข้มแข็งในการตอบสนองต่อการระบาดใหญ่ของโควิค-19 ตลอดจนแลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นที่ภาคเอกชนให้ความสำคัญและได้ดำเนินการในปี 2564 เช่น การสร้างสภาพแวดล้อมและการเสริมสร้างความสามารถของแรงงานในการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล รวมถึงแนวทางความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับภาคเอกชนเพื่อรับมือผลกระทบจากโควิด-19

“ประเด็นจากการประชุมในครั้งนี้จะช่วยอำนวยความสะดวกและลดอุปสรรคในการประกอบธุรกิจ รักษาความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทาน และส่งเสริมการขยายตัวทางการค้าและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในภูมิภาค โดยเฉพาะในภาวการณ์ระบาดใหญ่ของโควิด-19 รวมทั้งจะสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นดิจิทัลของอาเซียน ตลอดจนเป็นการส่งสัญญาณที่ดีของอาเซียนต่อประชาคมโลกในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น” นายสรรเสริญกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น