เจ้าหน้าที่อาวุโสเศรษฐกิจอาเซียนเดินหน้ากระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศพันธมิตรสำคัญ เผยในกรอบอาเซียนบวกสามเห็นพ้องแผนงานเพิ่มความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน และเศรษฐกิจให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ตั้งเป้ารับรองแผนงานในที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ก.ย.นี้ ส่วนกรอบอาเซียนบวกแปดตั้งเป้าเดินหน้าฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิด-19 เน้นการเคลื่อนย้ายสินค้าและบริการระหว่างกัน และการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล
นายดวงอาทิตย์ นิธิอุทัย รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจาก นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ให้เข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียนบวกสาม (จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น) ครั้งที่ 38 และการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียนบวกแปด (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา และรัสเซีย) หรือ East Asia Summit (EAS) ครั้งที่ 10 ผ่านระบบประชุมทางไกล เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2564 ที่ผ่านมา เพื่อเดินหน้าความร่วมมือและส่งเสริมการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และเตรียมการสำหรับการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจบวกสาม และ EAS ที่จะมีขึ้นในเดือน ก.ย. 2564 นี้
ที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 38 ได้หารือถึงการจัดทำแผนงานความร่วมมือด้านเศรษฐกิจอาเซียนบวกสาม ปี 2564-2565 ที่มีการจัดทำทุก 2 ปี ซึ่งเป็นแผนการดำเนินงานที่จะช่วยส่งเสริมความร่วมมือทางการค้า เศรษฐกิจ และการลงทุนระหว่างกันอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น โดยมีทั้งสิ้น 11 หัวข้อ เช่น การส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีระหว่างอาเซียนกับคู่เจรจา โดยเฉพาะ FTA อาเซียน-จีน อาเซียน-ญี่ปุ่น อาเซียน-เกาหลีใต้ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) การส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล โดยเฉพาะพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย การสร้างการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน การอํานวยความสะดวกทางการค้าต่อภาคเอกชน และติดตามแผนปฏิบัติการว่าด้วยการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้ ที่ประชุมตั้งเป้าที่จะรับรองแผนงานดังกล่าวในช่วงการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนบวกสามในช่วงเดือน ก.ย. 2564
สำหรับการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียนบวกแปด ครั้งที่ 10 ได้หารือถึงแนวทางการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แนวทางความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยเฉพาะการเสริมสร้างความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทาน เพื่อให้สินค้าและบริการสามารถเคลื่อนย้ายระหว่างกันได้อย่างสะดวก การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล โดยเฉพาะพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งไทยได้เน้นย้ำการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมในรูปแบบใหม่ (new normal) ได้แก่ การเร่งการเข้าสู่โลกดิจิทัลที่เทคโนโลยีจะมีบทบาทต่อชีวิตของประชากรและภาคธุรกิจมากขึ้น การส่งเสริมความยั่งยืนของห่วงโซ่อุปทานและการกระจายฐานการผลิตในภูมิภาค และการสร้างความตระหนักของทุกภาคส่วนที่ให้ความสำคัญต่อความมั่นคงทางสาธารณสุข อาหาร และพลังงาน
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเน้นย้ำความสำคัญของความร่วมมือด้านสาธารณสุขและสร้างความมั่นใจในการเข้าถึงวัคซีนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม เพราะความร่วมมือดังกล่าวจะเป็นส่วนสำคัญในการเสริมสร้างฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก EAS ภายหลังวิกฤตโควิด-19
ในปี 2563 การค้าระหว่างไทยกับกลุ่มประเทศอาเซียนบวกแปดมีมูลค่า 9.77 ล้านล้านบาท เป็นการส่งออกจากไทยมูลค่า 5.08 ล้านล้านบาท และไทยนำเข้ามูลค่า 4.68 ล้านล้านบาท และในช่วงเดือน ม.ค.-มิ.ย. 2564 มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับกลุ่มประเทศอาเซียนบวกแปดคิดเป็น 5.74 ล้านล้านบาท ขยายตัว 17.97% โดยไทยส่งออกเป็นมูลค่า 2.91 ล้านล้านบาท และไทยนำเข้ามูลค่า 2.82 ล้านล้านบาท ซึ่งตลาดส่งออกและแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น สหรัฐฯ มาเลเซีย และเวียดนาม สินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ เม็ดพลาสติก ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไก่แปรรูป ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ